svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ตอบชาวโลก : ไทยไม่ละเลยคดี "อุ้มหาย ซ้อมทรมาน" สาบสูญ 82 ราย

26 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถกปัดฝุ่นคดีอุ้มหาย ซ้อมทรมาน รื้อสำนวนคดี "ทนายสมชาย" คดีถูกบังคับสาปสูญ ด้านกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ เผยผู้เสียหายร้องถูกทำทรมาน 37 ราย ตำรวจ-ทหารโดนร้องเพียบ


26 มิ.ย. 60 ที่กระทรวงยุติธรรม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญว่า เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งถูกตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 131/2560 เมื่อ 23 พ.ค.60 เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกกลั่นกรองเรื่องราวร้องทุกข์ และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีถูกกระทำทรมาน และถูกบังคับให้หายสาบสูญ ให้เป็นไปตามกฎหมายอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ โดยคณะกรรมการจะประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่บังคับใช้กฎหมาย และมีกรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ส่วนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ จะจัดตั้งอนุกรรมการ 3 ชุด ประกอบด้วย อนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง, อนุกรรมการป้องกันให้ความรู้ และอนุกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
"เพื่อดำเนินการพิจารณาตรวจสอบ วินิจฉัย ติดตาม เชิญบุคคลมาให้ข้อมูล ก่อนเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาแก้ปัญหา หากข้อเท็จจริงชี้ชัดว่า ถูกทำให้สูญหายจริงจะมีการดำเนินคดีกับผู้ที่บังคับให้บุคคลหายสาบสูญ และเยียวยาญาติผู้เสียหาย" รมว.ยุติธรรม กล่าว

นายสุวพันธุ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสหประชาชาติได้รายงานตัวเลขคนไทยที่หายสาบสูญทั้งหมด 82 ราย ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาตรวจสอบเรื่องที่ประชาชนร้องทุกข์เข้ามาในทุกพื้นที่ โดยจะนำข้อมูลที่ได้รับร้องเรียนทั้งหมดมาบูรณาการให้เหลือเพียงบัญชีเดียว เพื่อง่ายต่อการทำงาน และจะตรวจสอบย้อนหลังทุกคดี รวมถึงคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งจะพิจารณาถึงสถานะปัจจุบันของคดีและข้อเท็จจริงว่า เป็นอย่างไร สำหรับร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. ... ขณะนี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว แต่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ก่อนเสนอกลับให้ ครม. พิจารณาอีกครั้ง
ด้านน.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพ กล่าวว่า ระยะเวลาที่จะระบุว่า ใครเป็นบุคคลหายสาบสูญนั้นยังไม่ได้กำหนด แต่คดีดังกล่าวไม่มีหมดอายุความ หากพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก็สามารถนำขึ้นมาตรวจสอบใหม่ได้ ที่ผ่านมาในส่วนของกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ ได้รับการร้องเรียนกรณีถูกกระทำทรมานจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร 37 ราย พิจารณาเรื่องยุติแล้ว 12 ราย สำหรับการเยียวยาผู้เสียหายจะแบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1. กรณีที่ตกเป็นเหยื่อจะได้รับเงินเยียวยา ตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 2. กรณีผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ์จะได้รับเงินจากกองทุนยุติธรรม และ3. ได้รับการเยียวยาจาก ศอ.บต. โดยรัฐบาลพยายามบูรณาการเพื่อให้ผู้เสียหายได้การเยียวยาจากหน่วยงานเดียว

logoline