svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ภาพสื่อรุนแรง กระตุ้นการฆ่าตัวตาย

26 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมสุขภาพจิต แสดงความกังวล สื่อเสนอภาพความรุนแรง อาจกระตุ้นการฆ่าตัวตาย หากพบผู้เข้าข่ายที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้ โดยเฉพาะ ในโลกออนไลน์ ให้รีบเข้าช่วยเหลือและยับยั้งการก่อเหตุให้เร็วที่สุด

ภาพ Facebooklive ชายวัย 21 ปี ผูกคอลูกสาววัย 11 เดือน โยนลงตึกร้างเสียชีวิต ก่อนจะฆ่าตัวตายตาม ภายในอพาร์ตเมนต์ในซอยพหลโยธิน 48 เพราะเกิดปัญหาชีวิตที่หาทางออกไม่ได้ ถูกนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อซ้ำ หลากหลายช่องทาง ทั้งโทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ต้องออกแถลงการด่วน ว่า การเสนอภาพข่าวการฆาตกรรม เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ขัดจริยธรรมการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนและกรมสุขภาพจิต มองว่า สื่อไม่ควรนำเสนอ เพราะเป็นการซ้ำเติม ส่งผลกระทบโดยตรงกับครอบครัวผู้ก่อเหตุ และขยายวงกว้างกับสังคม
ยิ่งระยะหลัง เทคโนโลยีการสื่อสาร เข้ามาบทบาทสำคัญกับชีวิตประจำวันมากขึ้นการฆ่าตัวตายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เฉลี่ยถึงเดือนละ 2 ราย พฤติกรรมลักษณะนี้ นักจิตวิทยา มองว่า เป็นสัญญาณ ว่า ผู้ก่อเหตุ ยังลังเล ต้องการความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด หรือ คนในสังคม ระหว่างนี้เอง เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนสามารถช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤตทางจิตใจนี้ได้ ด้วยการเรียกสติ ให้กำลังใจ และ ยับยั้งความคิด ให้เร็วที่สุด
สถิติกรมสุขภาพจิต ปี 2558 มีคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย มากกว่า 350 รายต่อเดือน ปี2559 ลดลงต่ำเหลือประมาณ 300 รายต่อเดือน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศถือว่า สถิติในไทยยังน้อยมาก โดยปัจจัย ที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ เกิดจาก ปัญหาทางจิต กลุ่มสูญเสียความสัมพันธ์ทางครอบครัวและสังคม กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ การดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้ง การเลียนแบบสื่อ

logoline