svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ "ครอบครัวแพรวา" ลดเงินชดใช้ญาติเหยื่อจาก 26 ล้าน เหลือ 19 ล้านเศษ

19 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ "ครอบครัวสาวซิ่งซีวิคชนรถตู้ดับ9ศพ" จ่ายชดใช้ญาติเหยื่อแค่ 19 ล้านเศษ ชี้ ลดหย่อนตามพฤติการณ์รถตู้ใช้ความเร็วสูงด้วย "ญาติ" เล็งหารือฎีกา

ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 19 เม.ย.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ 2266-2278/2559 ที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรวม 28 ราย จากอุบัติเหตุเยาวชนหญิงตระกูลดัง ขับรถยนต์ซีวิคเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารพลิกคว่เดือน ธ.ค.53 ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง เยาวชนหญิง ผู้ขับรถยนต์ซีวิค , พ.อ.รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ,นางนิลุบล อรุณวงศ์ บิดาและมารดาของเยาวชน , นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค , นายสันฐิติ วรพันธ์ , น.ส.วิชชุตา วรขจิต และบริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย 1-7 เรื่องกระทำละเมิดขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิคชนรถตู้จนมีผู้เสียชีวิต 9 รายและบาดเจ็บ 4 รายให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 113,077,510.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
โดยคดีนี้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 25 ต.ค.54 ต่อมาโจทก์ทั้ง 28 รายได้ถอนฟ้องนายนายสันฐิติ จำเลยที่ 5 , น.ส.วิชชุดา จำเลยที่ 6 และ บมจ.นวกิจประกันภัย จำเลยที่ 7 โดยส่วนของ บมจ.นวกิจประกันภัย จำเลยที่ 7 ที่เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุนั้นก็ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 6,136,870 บาท
ขณะที่ศาลแพ่ง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พ.ย.58 เห็นว่าการกระทำของเยาวชนหญิงนั้นเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมถึงทรัพย์สินเสียหายจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยบิดาและมารดา จำเลยที่ 2-3 ไม่ได้นำสืบถึงความระมัดระวังในการดูแลจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายด้วย โดยให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ประกอบด้วย ค่าไร้อุปการะ และค่ารักษาพยาบาลรวมถึงค่าอื่นๆให้กับโจทก์ร่วม รวม 28 คน ซึ่งเป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแต่ละคน ตั้งแต่ 4,000 - 1,800,000 บาท รวมเป็นเงิน 26,881,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ธ.ค.53 ซึ่งเป็นวันที่กระทำการละเมิด และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 เจ้าของรถ
ต่อมาโจทก์ที่ 5 กับที่ 11 และจำเลย 1-3 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์จากคำเบิกความและพยานหลักฐานแล้ว เห็นได้ว่าพฤติการณ์กระทำละเมิดไม่ได้เกิดจากเยาชนหญิง จำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งพฤติการณ์การขับรถของ นาง นฤมล ปิตาทานัง ผู้ขับรถตู้ ก็ฟังได้ว่าได้ขับด้วยความเร็ว แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้หมายความว่า นางนฤมลขับตัดหน้าหรือขับเสียหลักชนรถยนต์จำเลยที่ 1 เพราะหากจำเลยที่ 1 ไม่ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อแซงคนขับรถตู้โดยสารก็จะไม่เกิดการเฉี่ยวชนกัน จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมากกว่านางนฤมล
โดยการพิจารณาค่าขาดไร้อุปการะตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์แต่ละรายก็เป็นอัตราที่เหมาะสมแล้วแต่เมื่อฟังได้ว่านางนฤมล มีส่วนประมาทอยู่บ้าง ย่อมถือมีส่วนทำผิดความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยแต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรง ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้จึงต้องพิจารณาลดหย่อนตามพฤติการณ์ จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1-3 รับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วนศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เยาวชนหญิงและบิดา มารดา จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชำระเงิน แก่โจทก์ที่ 1- 5 , 9-19 , 21- 22 , 25 -28 รวมเป็นเงิน 19,826,925 บาท โดยมีจำนวนเงินตั้งแต่ 80,000-1,440,000 บาทและให้นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1-3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ด้านนางทองพูล พานทอง มารดาของนางนฤมล คนขับรถตู้ ซึ่งเป็น 1 ในโจทก์ร่วม กล่าวว่า ศาลอุทธรณ์ มองว่าลูกสาวตน ก็มีส่วนขับรถเร็วด้วย ซึ่งเงินค่าเสียหายเดิมนั้นศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยจ่ายชดใช้ตนประมาณ 150,000 บาท แต่ชั้นอุทธรณ์ ศาลพิพากษาแก้ค่าเสียหายเหลือ 120,000 บาท โดยผู้เสียหายรายอื่นก็ลดลงด้วย
ส่วนเรื่องจะยื่นฎีกาอีกหรือไม่นั้นต้องขอประชุมร่วมกับผู้เสียหายคนอื่นก่อนว่าจะมีความเห็นอย่างไรสำหรับคดีนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนคดีอาญา ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเยาวชน และครอบครัว 1 ยื่นฟ้องเยาวชนหญิงต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทจนเป็นเหตุในผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแก่ความตาย และทรัพย์สินเสียหายนั้น
คดีได้ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เนื่องจากศาลไม่รับฎีกาของเยาวชนหญิง จึงทำให้ผลคดีสิ้นสุดตามคำพิพากษาที่ให้จำคุกเยาวชนหญิง เป็นเวลา 3 ปี โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 4 ปี และบำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี พร้อมทั้งห้ามเยาวชนหญิง ขับรถจนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปี

logoline