svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ย้อนคดี สินบนฉาว! "จุฑามาศ-ลูกสาว"

29 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คดีสินบนเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เป็นเรื่องอื้อฉาวมานาน และในวันนี้ศาลได้ลงโทษจำคุก 'จุฑามาศ' และลูกสาวด้วยโทษหนักจำคุกคนละหลายสิบปี... ย้อนรอยดูคดีนี้กัน


           อ่วม !!! เมื่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง  พิพากษาให้จำคุก นาง จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วัย 70 ปี กับลูกสาว จิตติโสภา วัย 43 ปี ที่ตกเป็นจำเลยร่วมคดีสินบนข้ามชาติ และศาลสั่งให้ริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินด้วย 
           โดยศาลพิพากษาว่า นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ ( ฮั้วประมูล) ม.12 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การรัฐฯ ม. 6, 11และ น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 บุตรสาว มีความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การรัฐฯ ม.6, 11 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยให้จำคุกนางจุฑามาศ อดีต ผู้ว่า ททท.จำเลยที่ 1 ตามพ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การฯ ตาม มาตรา6 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด รวม 11 กระทงๆ ละ 6 ปี เป็นจำคุกทั้งสิ้น 66 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกสูงสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) เป็นเวลา 50 ปี และจำคุก น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 บุตรสาว 11 กระทงๆ ละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี โดยศาลมีคำสั่งให้ริบเงินกระทำผิดจำนวน 1,822,494 เหรียญสหรัฐ และดอกผลที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย  รวมเป็นเงิน 62,724,776 บาท
        คดีนี้สืบเนื่องจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และส่งสำนวนให้อัยการซึ่งนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ซึ่งดำรงตำแหน่งในปี 2558 ได้มีคำสั่งเด็ดขาดให้ฟ้อง จากนั้นอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 2 ได้ยื่นฟ้อง นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่า ททท. และ จิตติโสภา บุตรสาว  ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 25 ส.ค.58  ในข้อหา เป็นพนักงาน เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อการกระทำอย่างใดในหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่,เป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต,เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้อแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิตามสัญญาแก่หน่วยของรัฐ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตาม พ.รบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502มาตรา6 , 11และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542มาตรา12 จากกรณีรับเงินตอบแทน สามี-ภรรยาชาวสหรัฐอเมริกา นักธุรกิจภาพยนตร์ เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี2002 - 2007(หรือปี พ.ศ.2545 2550) มูลค่ากว่า60ล้านบาท
          คดีนี้โด่งดังและอื้อฉาวข้ามฝั่งถึงดินแดนลุงแซม (อเมริกัน) เพราะประเทศสหรัฐฯ เอง ก็ถือว่าการกระทำของนายเจอรัลด์  กรีน วัย 78 ปี และนางแพทริเซีย กรีน วัย 55 ปี สองสามีภรรยา เป็นความผิดและ ถูกยื่นฟ้องดำเนินคดีที่ศาลแขวงลอสแองเจลิส สหรัฐฯ กระทั่งปี 2553 สามีภรรยาคู่นี้ ถูกศาลตัดสินให้จำคุกคนละ 6 เดือน ต่อด้วยโทษให้กักบริเวณอยู่แต่ภายในบ้านพักอีก 6 เดือน พร้อมทั้งปรับเป็นเงิน 250,000 ดอลลาร์ ขณะนั้นคิดเป็นเงินไทยราวๆ 8,250,000 บาท ฐานติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติ 
           ซึ่งคณะลูกขุน เห็นว่า สามีภรรยาคู่นี้ ได้จ่ายสินบน 1.8 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 60 ล้านบาท เพื่อให้ได้สิทธิบริหารจัดการเทศกาลภาพยนตร์จนสามารถทำรายรับได้ 13.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 429 ล้านบาท โดยมีการจัดตั้งบริษัทบังหน้า เพื่อจ่ายเงินให้นางจุฑามาศ และโอนเงินผ่านบัญชีบุตรสาวอดีตผู้ว่า ททท.กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ที่เปิดไว้ในต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ อังกฤษ ซึ่งครอบครัวกรีนนี้ ถือเป็นบุคคลในอุตสาหกรรมบันเทิงคู่แรกที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดตามบทบัญญัติกฎหมายต่อต้านการทุจริตหรือ Foreign Corrupt Practices Act ที่มีมาตราห้ามการจ่ายเงินในลักษณะทุจริตแก่เจ้าหน้าที่ต่างประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ
           หลังจาก ครอบครัวกรีน ถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินความผิด ก็มีข่าวว่าได้มีการตั้งข้อกล่าวหา นางจุฑามาศ กับบุตรสาว ในสหรัฐฯด้วยเช่นกัน ฐานสมรู้ร่วมคิด แต่ยังไม่ทันที่ทางการสหรัฐฯ จะประสานขอตัวแม่ลูกไปดำเนินคดีที่สหรัฐฯ จังหวะไล่เลี่ยกัน ป.ป.ช.ไทย ก็พยายามใช้เวลา 3 ปี แกะรอย รวบรวมหลักฐาน ด้วยการประสานข้อมูลกระทรวงยุติธรรมสหรัฐและเอฟบีไอ รวมทั้งข้อมูลทางคดีที่ถูกตัดสินโดยศาลลอสแองเจลีส มาประกอบการไต่สวนข้อเท็จจริง กระทั่ง ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด" แม่-ลูก ศิริวรรณ" เมื่อปี 2557 และเมื่อข้อกล่าวหาของ นางจุฑามาศ อดีตผู้ว่าการ ททท. และลูกสาว ได้เข้าสู่กระบวนยุติธรรมศาลไทยเมื่อเดือน ส.ค.58 คดีได้ถูกประทับรับฟ้องไว้ เป็นคดีหมายเลขดำ อท.14/2558 แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ก่อนจะโอนมาพิจารณาในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ตั้งขึ้นใหม่ซึ่งมีอำนาจพิพากษาคดี
         โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง เริ่มกระบวนการไต่สวนพยาน ตั้งแต่เดือน พ.ค.59 ใช้เวลาสืบพยานเช้า บ่าย และหลังจากมีการตรวจพยานหลักฐาน ก็เริ่มกระบวนการไต่สวนคดี โดย
          ศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงไต่สวนพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยเสร็จเมื่อเดือน ธ.ค.59ที่ผ่านมา รวมระยะเวลาพิจารณาคดีเสร็จสิ้นใน1ปี นับจากวันที่อัยการยื่นฟ้องคดีเมื่อปี2558 ซึ่งฝ่ายนางจุฑามาศ อดีตผู้ว่า ททท. และบุตรสาว นำพยานบุคคล เข้าไต่สวนต่อศาล กว่า10ปากและตัวนางจุฑามาศ และบุตรสาวก็เข้าไต่สวนฐานะจำเลยด้วย และยังมีชาวต่างชาติ3รายซึ่งเป็นทนายความ สามี-ภรรยา นักธุรกิจภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันในชั้นศาลอุทธรณ์ในต่างประเทศ และผู้ร่วมงานกับสามี-ภรรยาชาวอเมริกันร่วมเป็นพยานไต่สวนด้วย ซึ่งระหว่างพิจารณาคดี แม่-ลูก ก็ได้รับการปล่อยชั่วคราว วงเงินประกันตัวคนละ 1 ล้านบาท โดยตลอดการไต่สวน นางจุฑามาศ และน.ส.จิตติโสภา ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
          นายนิกร ทัสสโร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลางซึ่งรับผิดชอบดูแลสำนวนคดีสินบนข้ามชาตินี้มาตั้งแต่ต้น กล่าวย้ำว่า การไต่สวนของศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายนำมาเสนอกันโดยศาลใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งศาลให้โอกาสฝ่ายจำเลยอย่างเต็มที่ที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน
          สำหรับนางจุฑามาศ  จบการศึกษาปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการคลัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อระดับ ปริญญาโท ด้านการเงิน ที่ NEWYORK UNIVERSITY ประเทศสหรัฐอเมริกา
          จุฑามาศ เริ่มทำงาน จากการเข้ารับราชการ ที่สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ในปี 2517 
          ต่อมาในปี 2521 เป็นหัวหน้างานงบประมาณ การท่องเที่ยวแห่งประะเทศไทย 
          จากนั้นก็ก้าวหน้าเติบโตตามลำดับ
          ในปี 2528 เป็นผู้อำนวยการกองงบประมาณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 
          ปี  2534   เป็นผู้อำนวยการฝ่ายประสานแผนการท่องเที่ยว  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
          และในปี 2537 ก้าวขึ้นเป็น รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฝ่ายบริหาร
          และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในสายงาน คือเป็น ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมื่อ 10 กันยายน ปี2545 และอยู่จนครบวาระ 4 ปี โดยหมดวาระเมื่อ 12 กันยายน ปี 2549
          สำหรับ ทางการเมืองนั้น   ในปี 2550 จุฑามาศ  เข้าสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน และเคยเป็นถึง รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน และลาออกจากพรรคเพื่อแผ่นดินเมื่อ 20 ธ.ค.2550
ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์

logoline