svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วอนรมต.ทบทวน "จบอะไรก็เป็นครูได้" ก่อนเด็กไทยจะเป็นหนูทดลองยา

27 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นครปฐม-เครือข่ายนิสิตครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เสียสิทธิ์อันชอบธรรมที่ตนเองพึงได้ วอนรมต.ทบทวน "จบอะไรก็เป็นครูได้" ก่อนเด็กไทยจะเป็นหนูทดลองยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 27 มีนาคม ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม นายชญนันท์ รักษาศรี หัวหน้านิสิต คณะกรรมการนิสิตปริญญาบัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอนุวัฒน์ อินต๊ะ ประธานสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ นิสิตหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายอัสนี สมิทธิชัยนนท์ หัวหน้านักศึกษา คณะกรรมการนักศึกษาประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ รวมตัวประกาศจุดยืน เพื่อขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย

วอนรมต.ทบทวน
"จบอะไรก็เป็นครูได้"
ก่อนเด็กไทยจะเป็นหนูทดลองยา


อันสืบเนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 มีมติปรับหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2560 กรณีทั่วไป โดยมีการประกาศรับสมัครสอบแข่งขันในวันที่ 21 - 29 มีนาคม 2560 และรับสมัครวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2560 ซึ่งในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสามารถเข้ามาสมัครสอบได้ หากผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยแต่จะต้องเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกรอบระยะเวลาที่คุรุสภากำหนดต่อไปจากมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ดังกล่าวนั้น กลุ่มเครือข่ายนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เนื่องจากจะส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อวงการการศึกษาไทย

คือ 1.ผลกระทบต่อผู้เรียน ตามที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 2564) มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนไทย พัฒนาคนให้มีความเป็นคนที่สมบูรณ์มีวินัย ใฝ่รู้มีความรู้ มีทักษะมีความคิดสร้างสรรค์มีทัศนคติที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม มีคุณธรรมและจริยธรรม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานหลักในภาคการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพคนของประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว ภายใต้วิสัยทัศน์ "มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ คู่คุณธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขในสังคม" โดยธรรมชาติของผู้เรียนนั้น ย่อมมีความแตกต่างระหว่างบุคคล ผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีทั้งความรู้ ในด้านวิชาการและขณะเดียวกันต้องมีความรู้ทางด้านจิตวิทยาการศึกษา วิธีสอน การวัดและประเมินผล นวัตกรรมทางการศึกษา การพัฒนาหลักสูตร ตลอดจนจริยธรรมครู เพื่อให้การจัดการเรียนรู้มีประสิทธิผลต่อผู้เรียนทุกคน รวมถึงผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตนอย่างเต็มที่ ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล กระบวนการจัดการเรียนรู้จึงมีความสำคัญและมีผลต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก

วอนรมต.ทบทวน
"จบอะไรก็เป็นครูได้"
ก่อนเด็กไทยจะเป็นหนูทดลองยา



หากผู้เรียนได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากผู้สอนที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ แน่นอนว่าบุคคลเหล่านั้นย่อมจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และทำความเข้าใจในศาสตร์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ตลอดจนไม่มีประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติการวิชาชีพครู การปฏิบัติงานจึงจะเป็นเพียงการเริ่มต้นทดลองสอน โดยใช้ผู้เรียนเป็นหนูทดลอง ซึ่งในความเป็นจริงผู้เรียนไม่ได้ทดลองเรียน และการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชาล้วนมีผลต่อการค้นพบความถนัดตลอดจนการตัดสินใจในอนาคตของผู้เรียนทั้งสิ้น การเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์สอบบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยจึงเป็นความเสี่ยงต่ออนาคตของผู้เรียน และล้อเล่นกับความคาดหวังของผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนกับครูที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งหากจะดำเนินการตามมติดังกล่าว ทางกลุ่มเครือข่ายนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์มีความเห็นว่า ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ จำเป็นต้องผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูหรือผ่านการอบรมเพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการประกอบวิชาชีพครูก่อนปฏิบัติงานจริง

2. ผลกระทบต่อโรงเรียน ตามกระบวนการจัดการศึกษาต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่การเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สอบบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยโดยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิตครูให้มีคุณภาพและตรงตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนดนั้น จะทำให้ทางโรงเรียนมีภาระเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากงานสอนแล้ว ครูยังมีงานอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้การจัดการศึกษามีประสิทธิผล ทั้งงานวิชาการ งานกิจการนักเรียน ฯลฯ ซึ่งผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ จะยังขาดประสบการณ์ในการทำงานดังกล่าว โรงเรียนจึงต้องใช้เวลาและงบประมาณในการพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนรู้ และที่สำคัญคือต้องเสียโอกาสในการได้บุคลากรที่มีความพร้อมในการทำงานอีกด้วย และอาจจะส่งผลกระทบต่อเพื่อนครูที่สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ในการทำงาน โดยจะต้องแบกรับภาระงานที่มากกว่าที่ควรจะเป็น อันจะส่งผลให้ครูต้องทิ้งงานสอน เพื่อปฏิบัติงานส่งเสริมการศึกษาที่อัตราคนมีความพร้อมในการทำงานไม่เหมาะสมกับปริมาณของงาน

วอนรมต.ทบทวน
"จบอะไรก็เป็นครูได้"
ก่อนเด็กไทยจะเป็นหนูทดลองยา



3. ผลกระทบต่อนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ การเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สามารถสอบบรรจุได้นั้นจึงเป็นการลิดลอนสิทธิ์ของนิสิต นักศึกษา เนื่องจากนิสิต นักศึกษาจากคณะอื่น ๆ สำเร็จการศึกษาในชั้นปีที่ 4 สามารถสอบบรรจุได้และถ้าหากผ่านเกณฑ์การคัดเลือกก็สามารถเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ ก่อนมีใบประกอบวิชาชีพ แต่นิสิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ ไม่มีสิทธิ์ในการสอบทั้ง ๆ ที่เรียนจบชั้นปีที่ 4 เช่นเดียวกับคณะอื่น ๆ เพราะหลักสูตรกำหนดให้เรียน 5 ปี จึงเท่ากับว่านิสิต นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เสียสิทธิ์อันชอบธรรมที่ตนเองพึงได้ และเมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร 5 ปี นิสิต นักศึกษา ต้องไปสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย จึงเท่ากับเป็นการชะลอโอกาสในการทำงานของนิสิต นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ แต่ยื่นโอกาสให้กับนิสิต นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากคณะอื่น ๆ ถึงแม้ว่าผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกก็สามารถเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ จะต้องเข้าอบรมตามเงื่อนไขของคุรุสภาก็ตาม แต่ในระหว่างที่อบรมกับคุรุสภา ผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกก็สามารถเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพเหล่านี้ก็สามารถได้เงินเดือนและมีอาชีพรองรับ ในขณะที่นิสิต นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ยังต้องใช้เวลาในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่มีเงินเดือน และยังไม่มีอาชีพรองรับ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงเรียนและจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อผลิตสื่อการเรียนการสอน ซึ่งหากจะดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เป็นหลักสูตร 4 ปี ทางกลุ่มเครือข่ายนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ มีความเห็นว่า หลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยนี้ ควรมีผลบังคับใช้เมื่อนิสิต นักศึกษาคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 4 ปีรุ่นแรกสำเร็จการศึกษา

วอนรมต.ทบทวน
"จบอะไรก็เป็นครูได้"
ก่อนเด็กไทยจะเป็นหนูทดลองยา



4. ผลกระทบต่อคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ แต่เดิมหลักสูตรคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เป็นหลักสูตร 4 ปี เช่นเดียวกับคณะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่วิชาชีพ ต่อมาได้มีแนวคิดว่า "ครู" เป็นวิชาชีพที่สำคัญต้องยกมาตรฐานวิชาชีพให้สูงขึ้น จึงปรับให้มีการเรียนครู 5 ปี เพื่อได้ใช้เวลาในการบ่มเพาะความเป็นครู การที่ผู้ไม่สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูสามารถสอบบรรจุแต่งตั้งเป็นครูผู้ช่วยได้ จึงเท่ากับเป็นการทำลาย "วิชาชีพครู" ฉะนั้นแล้ว การที่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 มีผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ประกาศคุณสมบัติผู้สมัครสอบว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะอื่น ๆ สามารถสมัครสอบและบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้โดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู จึงสวนทางกับเจตนารมณ์ในการส่งเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง และเป็นการทำลายวิชาชีพครู หมดสถานะความเป็นวิชาชีพชั้นสูงหรือความเป็นศาสตร์เฉพาะทาง และที่สำคัญในอนาคตคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์ อาจจะต้องปิดตัวในบางสาขาวิชา เพราะผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ก็สามารถสอบบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยได้

และ 5. ผลกระทบต่อประเทศชาติ การศึกษาเป็นดัชนีที่ชี้วัดทิศทางในการพัฒนาประเทศชาติ เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ ประเทศชาติไม่ได้ต้องการเพียงแค่คนเก่ง แต่ประเทศชาติต้องการบุคคลที่รู้จักใช้ความดีพัฒนาตนและใช้ความสามารถอันเป็นความแตกต่างระหว่างบุคคลพัฒนาชาติในทุก ๆ ด้านอย่างพร้อมเพรียงกัน อีกทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ - ศึกษาศาสตร์มาสอบบรรจุเข้ารับราชการครูยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ให้ได้ทำงานที่ไม่เหมาะสมกับความถนัดและความสามารถของตนเอง อันจะส่งผลระยะยาวต่อกระบวนการการศึกษา และเป็นการลดการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพในสาขาวิชาต่าง ๆ

นายชญนันท์ รักษาศรี หัวหน้านิสิต คณะกรรมการนิสิตปริญญาบัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการประกาศหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยจึงเปรียบเสมือนการให้ใบเซียมซีเสี่ยงทายอนาคตของประเทศชาติที่ยังไร้ความแน่นอน ในนามของกลุ่มเครือข่ายนิสิต นักศึกษา คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ จึงขอให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยอีกครั้ง และพร้อมเดินหน้าเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ทราบถึงผลกระทบดังกล่าว และหรือหาวิธีเยียวยาแก่นักศึกษาคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ที่ต้องเรียน 5ปี เพื่อต้องการจบออกมาเป็นครูอย่างแท้จริง ตามกติกาที่เคยตั้งไว้ เมื่อ13 ปีก่อน

logoline