svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ไทยทำได้! ผลิต"กระดูกต้นแขนเทียม"เองครั้งแรก รักษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูก ราคาถูกกว่านำเข้า

24 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไทยทำได้! ผลิต"กระดูกต้นแขนเทียม"เองครั้งแรก ใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูกปฐมภูมิ คุณภาพทัดเทียมต่างประเทศ ราคาถูกกว่านำเข้า

รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออรืโธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)และบริษัทคอสโม เมดิเทค จำกัด พัฒนานวัตกรรมกระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน(Proximal Humerus Endoprosthesis) ผลิตได้เองเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ คือโรคมะเร็งกระดูกที่จุดเริ่มของมะเร็งอยู่ที่กระดูก สามารถรักษาให้หายได้หากมารับการรักษาเร็ว ประเทศไทยมีอุบัติการณ์การเกิดโรคประมาณ 8.7 ต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เกิดในวัยเด็กประถมฯปลาย มักเกิดที่บริเวณรอบเข่า สะโพกและหัวไหล่ การรักษาใช้เคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปี ร้อยละ 60 หากมะเร็งยังไม่ลุกลาม ในกรณีที่ก้อนไม่ใหญ่มากการผ่าตัดจะทำโดยการตัดกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออก มักรวมข้อต่อบริเวณนั้นด้วยและใส่กระดุกและข้อต่อโลหะทดแทน เดิมประเทศไทยจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายสูง 3-4 แสนบาท และผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เนื่องจากไม่สามารถเบิกจากกองทุนรักษาพยาบาลภาครัฐได้
"การที่รพ.เลิดสินร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆออกแบบและผลิตกระดูกและข้อโลหะส่วนต้นแขน สำหรับคนไทย นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยสามารถทำได้ โดยต้นแขนเทียมที่ผลิตขึ้นสามารถเลือกความยาวของโลหะให้สัมพันธ์กับความยาวของมะเร็งที่ทำลายกระดูกและมีคุณภาพเทียบเท่าของต่างประเทศ แต่ในราคาที่ถูกกว่า เพื่อให้คนไทยที่เป็นมะเร็งกระดูกมีโอกาสได้ใช้ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย"นพ.ประพนธ์กล่าว
นพ.ปิยะ เกียรติเสวี นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน กล่าวว่า ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปฐมภูมิ หากก้อนมะเร็งไม่ใหญ่จะต้องมีการตัดกระดูกที่เป็นมะเร็งออกไปและใส่กระดูกทดแทน ซึ่งจะได้จากกระดูกที่บริจาคหรือกระดูกและข้อโลหะ โดยกระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบนที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง ใช้โลหะผสมชนิดโคบอลท์- โครเมียม และไทเทเนียมเกรดสูง ซึ่งเป็นโลหะมาตรฐานที่สามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้ มีสิ่งเจือปนในโลหะน้อยมาก มีคุณภาพทัดเทียมกับของต่างประทศ แต่ราคาถูกกว่านำเข้า และมีการออกแบบให้แตกต่างโดยเพิ่มรูด้านล่างของกระดูกด้วย เพื่อเพิ่มการยึดติดทำให้ไม่หลุด
"หัวไหล่จะไม่มีกระดูกมารองรับให้อยู่ได้อย่างข้อสะโพก จึงอยู่ได้เพราะกล้ามเนื้อล้วนๆ แต่คนไข้ที่เป็นมะเร็งกระดูกบริเวณหัวไหล่ นอกจากต้องตัดกระดูกที่เป็นออกแล้วยังต้องตัดกล้ามเนื้อออกด้วย เมื่อใส่กระดูกโลหะทดแทนเข้าไปจึงต้องมีรู้เพื่อยึดกระดูกนี้ไว้ ซึ่งรูจะอยู่บริเวณไหนของกระดูกขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิต แต่ผมเชื่อว่าหากเพิ่มรูด้านล่างเข้าไปอีก 1 รูจะเพิ่มโอกาสที่กระดูกจะหลุดได้ยากขึ้น ทำให้ยึดได้แน่นขึ้น"นพ.ปิยะกล่าวนพ.ปิยะ กล่าวอีกว่า โครงการนี้เริ่มจากอนุสาขาเนื้องอกกระดูกและระบบเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธฯ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน ร่วมออกแบบกระดูกและข้อโลหะต้นแขนแบบแยกชิ้นปรับความยาวได้ร่วมกับสวทช. โดยวิเคราะห์ความเข้ากันได้ทางกายภาพ รูปร่างกระดูต้นแขนเทียมที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดกับข้อมูลกายวิภาคคนไทยว่ามีความเหมาะสมเพียงใด และนำข้อมูลมาใช้เป็นพื้นฐานในการออกแบบกระดูกต้นแขนเทียมสำหรับผู้ป่วย จากนั้นร่วมกับบริษัทฯทำการผลิตกระดูกและข้อโลหะต้นแขนนี้ขึ้น ได้รับการรับรองตลอดจนผ่านการทดสอบคุณสมบัติความเป็นพิษของวัสดุต่อเซลล์เพาะเลี้ยงมาแล้ว และนำไปฆ่าเชื้อโดยใช้รังสีแกมมา ซึ่งเป็นวิธีการฆ่าเชื้อแบบมาตรฐานสำหรับโลหะวัสดุทางการแพทย์ ก่อนนำมาใช้รักษาผู้ป่วย
"ได้มีการผ่าตัดใส่กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบนที่ผลิตได้เองในประเทศไทยทดแทนกระดูกในผู้ป่วยมะเร็งกระดูกบริเวณต้นแขนและหัวไหล่ให้แก่ผู้ป่วยแล้ว 10 คน ภายหลังผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่รพ.เลิดสิน 6 คน รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ 3 คน และรพ.จุฬาลงกรณ์ 1 คน หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถใช้งานแขนข้างที่ผ่าตัดได้เหมือนกับข้อและกระดูกจากต่างประเทศ 2 ปีที่ผ่านมาไม่พบภาวะแทรกซ้อน ไม่มีปัญหาหลุด หลวมและติดเชื้อเกิดขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังในระยะยาวต่อไป และผู้ป่วยที่ผ่าตัดแล้วเมื่อโตขึ้นมาไม่ต้องผ่าตัดใหม่ เพราะข้อเขียนจะสั้นยาวจ่ากเดิมไม่มากเพียง 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น ต่างจากขาที่เมื่อโตขึ้นอาจต้องผ่าตัดใหม่"นพ.ปิยะกล่าว
ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า นวัตกรรมนี้อยู่ระหว่างที่บริษัท คอสโมฯยื่นขอใบรับรองสิทธิบัตรจากสวทช. ก่อนนำไปดำเนินการเรื่องการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมก่อนนำออกใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ เมื่อได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมจะพยายามผลักดันให้มีการทำในเชิงพาณิชย์ โดยที่ภาคเอกชนจะสามารถอยู่รอดได้ เพื่อจะได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้จึงยังอยู่ในขั้นของการประสบความสำเร็จในการผลิตยังไม่ได้มีการกำหนดราคาในเชิงพาณิชย์ แต่ราคาที่ผลิตได้เองจะถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศแน่นอน

logoline