svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จุฬาฯ ห่วง เปิดช่องไร้ตั๋วสอบบรรจุครู มีผลต่อเด็กเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย

23 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา "มุมมองเชิงวิชาการต่อการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูสอบบรรจุครูได้" จัดคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปรารภในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าอยากให้ฟื้นกรมการฝึกหัดครูขึ้นมาทำให้เบาใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับวิชาชีพครู แต่เมื่อมีมติ ก.ค.ศ.ที่เปิดให้สหวิชาชีพอื่นๆมาสอบแข่งขันเป็นครูผู้ช่วยได้ก็เป็นความขัดแย้งเชิงนโยบายอย่างพิลึก

ประเด็นคุณภาพการศึกษาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทั้งคะแนนทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ตกต่ำ หรือแม้แต่คะแนนการทดสอบนักเรียนนานาชาติ หรือ พิซา ที่ตามหลังประเทศอื่นๆ ต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยเข้าขั้นไอซียูทั้งประเทศ อยู่ในภาวะไฟลนก้นต้องพยายามทำทุกอย่างให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ซึ่งวิธีการของคณะครุฯ/ศึกษาศาสตร์ จึงเน้นที่กระบวนการสร้างการเรียนรู้ ให้เด็กได้เผชิญปัญหา แก้ไขโจทย์ต่างๆได้
"ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยเราวิเคราะห์โรคถูกแต่ฉีดยาผิด ทำให้เรากำลังก้าวเข้าสู่ความผิดพลาด การให้คนเก่งๆรู้เนื้อหามากๆมาสอนหนังสือ มันไม่มีเสน่ห์ เหมือนสากเบือ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่รู้ว่าต้องนำเด็กเข้าบทเรียนอย่างไร สอนอย่างไรให้เด็กสนใจ ซึ่งจุดต่างของวิชาชีพครูกับวิชาชีพอื่นๆคือ เรามีต้นทุนทางวิชาชีพ มีการวัดแววความเป็นครู เด็กที่เรียนมาด้วยความตั้งใจ มีแรงบันดาลใจที่จะเป็นครู อีกทั้งการเรียนครู มีปรัชญา ศาสตร์ องค์ความรู้เฉพาะ เช่นการออกแบบหลักสูตร การจัดการเด็กที่มีปัญหา การวัดประเมินผลที่สอดแทรกให้กับนิสิต นักศึกษาตลอดการเรียนตั้งแต่ปี 1-5 เช่นเดียวกับการสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพ 
อย่างไรก็ตาม เวลานี้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เหมือนถูกย่ำยีมาก ถูกมองข้ามความสำคัญ ขณะที่คุรุสภาที่เป็นองค์กรวิชาชีพครูกลับนิ่งเฉย ซึ่งน่าจะต้องพิจารณาบทบาทตัวเองด้วย ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาสู้คราวนี้ก็จะเป็นจุดด่างของวิชาชีพครู ที่ปล่อยให้วิชาชีพอื่นมาแย่งงาน"ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กระบวนการทำนโยบายนี้ทำโดยผู้มีอำนาจ แต่ขาดการมีส่วนร่วมและขาดความรู้ ซึ่งปัญหาของชาติที่ไม่ใช่แค่เรื่องการสอบครูผู้ช่วย แต่เป็นปัญหาเชิงระบบคือ ครูไทยมีภาระการงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบ นอกเหนือจากการสอนมากถึง 30-40% ขณะที่ทั่วโลกมีแค่ 20% การพัฒนาครูไม่ตรงจุด ที่ล่าสุดให้มีคูปองพัฒนาครู 10,000 บาทไปอบรมหลักสูตรต่างๆ แต่กลับให้เวลาในการพัฒนาหลักสูตรน้อย สุดท้ายก็ได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรเดิมๆ แถมที่ผ่านมาการเสนอผลงานเพื่อขอมีวิทยฐานะ ก็มีการจ้างคนทำผลงานวิชาการให้
"มติที่ออกมาจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกเรียนระดับอุดมศึกษาของเด็ก ว่าถ้าต้องการเป็นครูยังต้องเรียนคณะครุฯ/ศึกษาฯที่ใช้เวลาเรียน 5 ปีหรือเรียคณะอื่นๆใช้เวลาแค่ 4 ปีก็เป็นครูได้เช่น เพียงแค่ไปเข้ารับการอบรมตามที่คุรุสภากำหนดและไปขอใบอนุญาตฯในภาพหลัง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาผิดจุด และสร้างปัญหาที่ใหญ่ ซึ่งอาจจะกระทบกับเด็กทั้งประเทศ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้เปลี่ยนรมว.ศึกษาธิการมา 3 คนแต่ละคนก็มีนโยบายตนเอง ทำให้ขาดความต่อเนื่อง ถ้ารัฐบาลต้องการนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็อยากเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องการศึกษา อย่างไรก็ตาม การออกมาพูดครั้งนี้ไม่ได้ปิดกั้นวิชาชีพอื่นๆ แต่พูดกันด้วยเหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ และเพื่อปกป้องวิชาชีพครู ขณะเดียวกันก็จะร่วมกันดูแลวิชาชีพครูให้เข้มแข็ง"ดร.อมรวิชช์ ระบุ
  ขณะที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การรับคนไม่จบตรงสาขาครูเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แต่สิ่งที่เป็นจุดร่วมที่ทั่วโลกทำเหมือนกัน คือ มีการฝึกอบรมให้คนกลุ่มนี้ก่อนไปสอนนักเรียน ขณะที่สิ่งที่ ศธ.ทำครั้งนี้คือ ถ้าสอบบรรจุได้ก็ให้ไปสอนก่อน แล้วไปอบรมตามเงื่อนไขของคุรุสภาจนได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู คำถามคือ เราจะส่งคนที่ไม่รู้วิธีการสอนเข้าห้องเรียนเลยจะมั่นใจได้หรือไม่ ทำไมเอาเด็กไปเสี่ยง แม้อาจมีใจอยากจะสอน แต่ยังไม่รู้วิธีการ ยิ่งหากไปบรรจุในโรงเรียนซึ่งก็มีความหลากหลายทั้งขนาดและบริบท เช่น ห้องเรียนคละชั้น เด็กพิเศษ เด็กอ่อน จะมีวิธีรับมืออย่างไร และอยากถามว่าความต้องการของผู้ที่ไม่ได้เรียนครูแต่อยากเป็นครูมีมาก จนต้องเปิดช่องให้เข้ามาเป็นครู
"ชาวครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ไม่ได้ใจแคบ หรือกลัวว่าจะมาแย่งงาน และผมมั่นใจว่านิสิตครูสอบแข่งขันได้แน่นอน แต่อยากย้ำว่าการผลิตบัณฑิตครู เราคิดบนพื้นฐานของตรียมคนเพื่อออกไปสู่ห้องเรียนใช้เวลาในการเรียนรู้วิชาการ 4ปี ฝึกประสบการณ์สอนจริง 1 ปีและมีการติดตามประเมินผล เพราะฉะนั้น ความสำคัญของใบอนุญาตฯไม่ใช่แค่ตราประทับ แต่เป็นการการันตีประสบการณ์ที่ฝึกฝนมาในภาคสนาม"ผศ.อรรถพล กล่าวดร.ภาวิณี โสธายะเพ็ชร อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การศึกษาของประเทศไทยจะเน้นทำตามกระแสที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่มองว่าตนเองมีความพร้อมหรือไม่ จนบางครั้งเกิดปัญหาหมักหมม ที่สำคัญประเทศไทยเปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อย ขณะที่ประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกอย่างฟินแลนด์ แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลกี่ครั้งแต่นโยบายการศึกษาเดินหน้าต่อเนื่อง ให้เกียรติในวิชาชีพครู ขณะที่ไทยทุกอย่างดูฉาบฉวย รวมถึงการเปิดให้ผู้ไม่จบคณะครุฯ/ศึกษาฯ มาสอบครูได้ก็ควรมีการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้สอบบรรจุได้ก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้ไปลุยสอนเด็ก โดยไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านการสอนเลย

logoline