svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก จี้กรมอุทยานตรวจสอบการอนุมัติใบอนุญาตผู้ประกอบการสวนเสือให้วัดเสือกาญจนบุรี

03 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังเป็นข่าวทั่วโลก นักวิชาการชี้ เสือควรมีสวัสดิภาพชีวิตที่ดีตามธรรมชาติของมันเององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection Thailand) ได้ส่งหนังสือถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการตรวจสอบ การอนุมัติใบอนุญาตประกอบการสวนเสือ หลังทั่วโลกตีข่าว ทางกรมอุทยานฯ อนุมัติให้ผู้ประกอบการสวนเสือเดิม ที่เปลี่ยนชื่อกิจการใหม่ ภายใต้ชื่อผู้ขออนุญาตเดิมที่เคยถูกยกเลิก สามารถประกอบกิจการสวนเสืออีกครั้ง ชี้ทั่วโลกกังขาข้อปฏิบัติทางด้านกฎหมายในไทย หวังกรมอุทยานฯ ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเพื่อชื่อเสียงของประเทศ

นางสุภาภรณ์ ลาสต์ ผู้อำนวยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้เห็นข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศไม่น้อยกว่า 20 สำนักข่าวทั่วโลก ได้ลงข่าวเกี่ยวกับการอนุมัติใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการสวนเสือที่เคยมีปัญหาและถูกยกเลิกใบอนุญาตไปแล้ว ได้รับอนุมัติให้กลับมาประกอบกิจการอีกครั้ง ภายใต้ชื่อบริษัทใหม่ทำให้ตนมีความรู้สึกไม่สบายใจ ต่อมาตนได้รับจดหมายจากองค์กรสัตว์หลายแห่ง รวมถึงผู้บริหารใหญ่จาก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก สำนักงานใหญ่ในประเทศอังกฤษ ได้ติดต่อตนเข้ามาเพื่อถามถึงสาเหตุ เพราะต่างมีข้อกังวลและห่วงใย ทั้งในแง่ของข้อกฎหมายของประเทศไทยและสวัสดิภาพของเสือในอนาคต ล่าสุดองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกประจำประเทศไทย จึงได้มีหนังสือถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอให้ยับยั้งและเพิกถอนใบอนุญาตเบื้องต้นองค์กรพิทักษ์สัตว์โลก จึงส่งหนังสือยื่นถึงกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชไปแล้ว เนื้อหาในจดหมายเป็นข้อสังเกตและข้อมูลต่างๆ ที่ทางองค์กรฯ อยากให้ทางกรมอุทยานฯ ได้พิจารณาอีกครั้ง ทั้งในแง่ของกฎหมายและสวัสดิภาพของสัตว์ ได้พิจารณาเรื่องการให้ใบอนุญาตกับสวนสัตว์ดังกล่าว
ด้าน ดร.ยาน สมิดท์-เบอร์แบช ที่ปรึกษาอาวุโสด้านสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า การทำฟาร์มเสือไม่ได้ช่วยในการอนุรักษ์สายพันธุ์ พวกเขาเพียงสร้างความทุกข์ทรมานถึงขีดสุดให้แก่สัตว์ป่า ในขณะที่พวกมันต้องมีชีวิตอยู่ในสภาวะที่หวาดกลัว โดยสถานที่เหล่านี้จะต้องยุติการดำเนินการเพราะพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับวงจรการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายอย่างชัดเจน
ในปี2559องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้เสือเพื่อความบันเทิงในประเทศไทย และพบว่ามีจำนวนเสือเพิ่มขึ้นถึง 33% ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆภายในระยะเวลาเพียงห้าปี สิ่งที่น่ากังวลที่สุดเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์จากการสำรวจในสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้รวมถึง ลูกเสือจะถูกแยกจากแม่ของมันอย่างทารุณเมื่อมีอายุได้เพียงสองถึงสามสัปดาห์เท่านั้น
"ลูกเสือจะถูกใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว พวกมันจะถูกมองและถูกลูบสัมผัสนับร้อยๆ ครั้งตลอดทั้งวัน ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเครียดและการบาดเจ็บได้ เสือจะถูกทำโทษเมื่อก้าวร้าวหรือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
โดยมีเจ้าหน้าที่จากสวนเสือแห่งหนึ่งได้เล่าให้กับนักวิจัยของเราฟังว่าเมื่อเสือ "ทำผิด" จะถูกทำโทษโดยการอดอาหาร ที่สำคัญเสือจำนวนมากถูกขังอยู่ในกรงคอนกรีตขนาดเล็ก หรือเพิงพักระบบปิดที่เข้าถึงน้ำสะอาดได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเราพบว่า50% ของเสือที่เราทำการสำรวจนั้นถูกขังอยู่ในกรงที่เล็กกว่า 20 ตารางเมตร/ตัว ซึ่งแตกต่างกันอย่างมากกับพื้นที่ 16-32 กิโลเมตรในป่า ที่พวกมันสามารถเดินไปมาได้ตลอดทั้งคืน และ 12% ของเสือที่เราทำการสำรวจแสดงให้เห็นถึงปัญหาทางด้านพฤติกรรม เช่น การเดินงุ่นง่านไปมาหรือการไล่กัดหางตัวเอง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อสัตว์รู้สึกว่ามันไม่สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้

logoline