svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศาลไฟเขียว "เครือข่ายรถ จยย." ฟ้อง ผบช.น ห้ามขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์ข้ามแยก

22 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลปกครองสูงสุดสั่งศาลปกครองกลางรับพิจารณา "เครือข่ายรถจักรยานยนต์" ฟ้อง ผบช.น ออกข้อบังคับพนักงานจราจรฯ ปี 59ไม่ชอบ ห้ามมอเตอร์ไซด์ ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์ข้ามแยก ชี้แม้ข้อบังคับสิ้นผล แต่เหตุฟ้องคดีศาลยังพิจารณาเพิกถอนย้อนหลัง - กำหนดเงื่อนไขได้

ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 22 ก.พ.60 ศาลปกครองสูงสุด โดยนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน และองค์คณะ มีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้น รับพิจารณาข้อกล่าวหาที่ นาย อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมตัวแทนเครือข่ายพันธมิตรชาวจักรยานยนต์ รวม80คนยื่นฟ้องว่า ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร(ชั่วคราว) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ.2559 ลงวันที่ 28 มี.ค.59 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ฟ้อง ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.),กรุงเทพมหานคร และกรมทางหลวงเป็นผู้ถูกฟ้องที่1-3เมื่อวันที่ 25 เม.ย.59เพื่อขอให้ศาล พิพากษาเพิกถอน ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ( ชั่วคราว ) ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็ญ เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และในอุโมงค์ลอดช่องทางร่วมทางแยก รวม45แห่ง โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำหน่ายประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวออกจากสารบบความ และมีคำสั่งไม่รับพิจารณาประเด็นที่ฟ้องว่า กทม. และ กรมทางหลวง ผู้ถูกฟ้องที่ 2 และ3 ละเลยไม่จัดทำช่องทางเดินรถจักรยานยนต์ไว้เฉพาะสำหรับสะพานข้ามทางร่วมทางแยก และอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก ซึ่งผู้ฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง กำหนดหรือจัดสรร ช่องเดินรถสำหรับรถจักรยานยนต์บนสะพาน หรืออุโมงค์ในเขต กทม. ที่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ หรือ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าตามสมควรตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) เนื่องจากเห็นว่าในส่วนของข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรฯ ลงวันที่ 28 มี.ค.59 นั้นได้กำหนดเงื่อนไขการสิ้นสุดผลใช้บังคับไว้เป็นเวลา 90 วัน คือจะสิ้นสภาพในวันที่ 27 มิ.ย.59
ดังนั้นเหตุแห่งการฟ้องคดีประเด็นนี้จึงหมดสิ้นไปแล้ว ส่วนข้อกล่าวหาที่ 2 ว่าผู้ถูกฟ้องที่ 2-3 ละเลยไม่จัดทำช่องทางเดินรถจักรยานยนต์ไว้เฉพาะสำหรับสะพานข้ามทางและอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก ศาลปกครองชั้นต้นก็เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องทั้งสองเป็นไปในลักษณะการวางโครงสร้างจราจร การขนส่ง ระบบงานทางโดยรวม ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักวิศวกรรมจราจร นโยบาย งบประมาณ ความจำเป็น ความเหมาะสม รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นดุลพินิจของฝ่ายปกครองที่จะดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็นในแต่ละกรณี
ศาลไม่อาจก้าวล่วงใช้อำนาจแทนฝ่ายปกครองกำหนดนโยบาย และปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ โดยการจะจัดให้มีช่องเดินรถจักรยานยนต์บนสะพานข้ามทางและอุโมงค์ลอดทางแยกหรือไม่ เป็นอำนาจของของ ผบช.น. ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจราจรที่จะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นคำขอของผู้ฟ้องในประเด็นนี้ ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ โดยผู้ฟ้องทั้ง 80 คนจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีในส่วนนี้ เนื่องจากความเดือดร้อนเสียหายที่แท้จริงเกิดจากการที่ ผบช.น.ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ออกข้อบังคับฯซึ่งไม่ได้มีผลโดยตรงมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องที่ 2-3 ต่อมาผู้ฟ้องทั้ง 80 คนได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับ คำสั่งเป็นให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณา ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาที่ว่า ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรฯไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้ศาลเพิกถอนนั้น แม้ข้อบังคับดังกล่าวจะพ้นระยะเวลาใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับการเพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลัง หรือจะกำหนดให้มีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ดังนั้นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ จึงยังไม่หมดสิ้นไป ส่วนข้อกล่าวหาที่ 2 ที่ว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 2-3 ก่อสร้างสะพานข้ามทางหรืออุโมงค์ลอดทางโดยไม่ได้แบ่งหรือจัดสรรช่องทางเดินสำหรับรถจักรยานยนต์ สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็น ซึ่งข้อให้ศาลสั่ง ผู้ถูกฟ้องกำหนดช่องทางเดินรถนั้น ศาลเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นนี้มาแล้ว ถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้อง 2-3 และสิทธิการฟ้องคดีของผู้ฟ้องว่าไม่มีสิทธิฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง นั้นศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย ดังนั้นศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งแก้เป็นว่า ให้ศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นรับดำเนินกระบวนพิจารณาในข้อกล่าวหา เรื่องข้อบังคับของเจ้าพนักงานจราจรฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต่อไป ส่วนอื่นให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ทั้งนี้ นายสมชาย งามวงศ์ชน โฆษกศาลปกครอง กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ว่าในการบังคับใช้ ข้อกำหนดของเจ้าพนักงานฯ นั้นจะสิ้นสุดระยะเวลาบังคับใช้ แต่ศาลก็สามารถรับคดีไว้พิจารณาถึงการใช้ดุลพินิจและอำนาจทางปกครองในการออกข้อกำหนดไว้เพื่อเป็นแนวทางในอนาคตสำหรับการปฏิบัติราชการทางปกครองของเจ้าพนักงานได้ว่ามีความเหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด หรือต้องแก้ไขในส่วนใดหรือไม่

logoline