svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ประยุทธ์"ลั่น! ปรองดองไม่เกี้ยเซียะ นิรโทษกรรมนักการเมือง กร้าวอย่ามาจับ"ทหารเซ็นสัญญา "ไม่ปฏิวัติ"

14 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

14 ก.พ. -- "นายกฯ"ลั่นปรองดองไม่เกี้ยเซียะนิรโทษกรรมนักการเมือง ยืนตามกฎหมาย ยึดถือหิริโอตตัปปะ ไม่โกหก-ปากใจตรงกัน กร้าวอย่ามาจับทหารเซ็นสัญญาไม่ปฏิวัติ ชี้รัฐบาลแก้ปัญหาได้ก็ไม่เข้ามาเสี่ยง วอนสื่ออย่าเป็นปากเสียงให้คนไม่หวังดีต่อประเทศ

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยเฉพาะการเตรียมการสร้างความปรองดองว่า อย่าไปกังวลกันมาก ผลงานทั้งหมดต้องออกมาสู่รัฐบาล ครม. และคสช. อยู่แล้ว เพราะป.ย.ป.ก็คือครม. เพียงแต่มีการรับฟังความคิดเห็นจากข้างนอกมาด้วย ซึ่งมีประเด็นจากหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่จะต้องมาเพิ่มเติมในคณะกรรมการทั้ง 4 คณะ ดังนั้นจะมีข้อสรุปมามาก ทั้งนี้คงต้องลงในรายละเอียด สิ่งที่พูดมาทั้งหมดจะทำอย่างไร ในส่วนของรัฐบาลได้ทำอยู่แล้วหลายประเด็น ซึ่งก็มีหลายปัญหาที่ซ้ำซ้อน ทั้งความขัดแย้ง กฎหมายที่ไม่ทันสมัย ต้องแก้กันทั้งชุด เช่น ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย แค่เรื่องเดียวก็ต้องออกกฎหมาย 90 ฉบับ ยังมีเรื่องที่ดิน เศรษฐกิจ การยกระดับอาชีพและรายได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดูแลทุกภาคส่วน อย่าไปรู้ลอยๆ ไม่เช่นนั้นก็จะถามลอยๆกันทั้งวัน ตนก็ตอบได้ทั้งวัน ท่านต้องรู้ให้ลึก และดูปัญหาอยู่ตรงไหน ถ้าคิดแบบนี้ก็จะตอบได้มาก แต่ถ้าถามลอยๆตนก็ตอบลอยๆ เพราะไม่ลงรายละเอียดมาก ซึ่งมันไม่ได้ มันต้องไปด้วยกัน ช่วยตนในการปฏิรูปเดินยุทธศาสตร์ชาติ เพราะสิ่งเหล่านี้มีกระทบต่อทุกคน
   "วันหน้ารัฐบาลไหนจะเข้ามาผมก็ยังไม่รู้ ใครจะเป็นรัฐบาล นักการเมืองคนไหนจะเข้ามาไม่มีใครรู้ ผมอยากให้ใช้โอกาสนี้ในการรับฟังว่าข้อสรุปของแต่ละคณะเขาว่าอย่างไร โดยเฉพาะคณะปรองดอง ซึ่งไม่ใช่มีแค่นักการเมือง สื่อหลายสื่อมัวแต่นั่งมองเอาแต่ประเด็นความขัดแย้ง เรื่องการเมือง นิรโทษกรรม ผมยังไม่เคยพูดเรื่องนี้สักคำ อย่าไปหวาดระแวงตรงนั้น ผมถามว่าถ้าตกลงเกี้ยเซี้ยอย่างที่ว่า มันทำได้ไหม สื่อยอมเหรอ ใครยอม ไม่รู้แต่ขอให้ได้วิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย ผมก็รู้ ผมยืนยันไปแล้ว ไม่มีการพูดเรื่องนิรโทษกรรม กฎหมาย ขณะที่ฝ่ายการเมืองบอกถ้าไม่พูดเรื่องนิรโทษกรรมก็ปรองดองไม่ได้ ท่านคิดว่าจะช่วยใคร จะอยู่ข้างใคร ถ้าจะอยู่ข้างที่เขาพูดแบบนั้นผมก็จนใจ จนด้วยเกล้า ประเทศไทยก็อยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่ามันจะไม่มีประเทศอยู่ ในการทำงานผมมีเหตุผลทุกประการอยู่แล้ว ข้อสำคัญผมมีหิริโอตตัปปะ ศีลธรรม สังคมต้องมีคำนี้ ไม่ใช่เพียงแต่นับถือศาสนาพุทธ เข้าวัดทำบุญ ไหว้พระ แต่ไม่ปฏิบัติ มันต้องมีทั้งสองอย่าง ปฏิบัติทั้งกาย วาจา และใจ ซึ่งใจถือว่าสำคัญเพราะไม่มีใครรู้ว่าคิดอะไร แต่ปากกับใจผมตรงกัน ไม่เคยโกหก ถือโอกาสศึกษาธรรมมะไปด้วยแล้วกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
     นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า วันนี้ตนเป็นหลายอย่าง หากเป็นครูก็หาว่าเป็นอาจารย์ที่พูดมาก ขี้บ่น วันนี้ก็ไปพระอีกแล้ว ขอให้ลองคิดว่าทำไมตนพูดได้หลายเรื่อง เพราะเข้าใจปัญหาว่ามีอะไรบ้าง ประชาธิปไตยถ้าไร้กรอบ ไร้วินัย ถามว่าใช่ประชาธิปไตยหรือไม่ เมืองนอกเขามีหรือไม่ ประเทศมหาอำนาจ เดินขบวน โดยกฎหมายไม่อนุญาตเขาจับหรือไม่ ของเราพอจับสามสี่ห้าร้อยไม่ไปตามว่า ทั้ง ๆ ที่เป็นประชาธิปไตย ตนไม่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ จับคนสองคนด่ากันทุกวัน ต้องคิดเพราะข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ถามว่าคนสองคนที่ว่านี้ทำให้คนอื่นแห่ตามกันออกมาหรือเปล่า ถ้าไม่ปลุกระดมคนอื่นตนก็ปล่อย อยากจะพูดอะไรก็พูด แต่นี่ยุคนอื่นด้วย มันทำให้เกิดความไม่มั่นคง สิ่งที่พูดมาทั้งหมดเกิดประโยชน์กับใครบ้าง ขอให้คิดตรงนี้
                         "ฉะนั้นอย่าไปเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนที่ไม่ได้หวังดีกับชาติบ้านเมืองได้ไหม ผมขอสื่อแค่นี้ ถ้าทำได้คงไม่ต้องไปคิดกฎหมายอะไรออกมา และสื่อคุมกันได้หรือไม่ ก็ไปหาวิธีการมา เสนอมา จะคุมกันเอง แต่คุมไม่ได้ พอมีปัญหาขึ้นมารัฐบาลรับผิดชอบอีก วันหน้าก็ไล่รัฐบาลอีก ทหารก็ออกมาควบคุมอำนาจอีก มันก็วนอยู่แค่นี้แหละประเทศไทย ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่มีปัญหาขึ้นมาแล้วทำให้ประชาชนเดือดร้อน กลุ่มเกษตร ยาง ข้าว เดินทีละกลุ่ม แล้วแต่จังหวะ ถ้ามีคนมารวมกลุ่มเหล่านี้ขนาดก็กว้างใหญ่ขึ้น และมีคนเห็นชอบคล้อยตามอีก ก็เดินขบวนกันเกลื่อน ผมถามว่ารัฐบาลแก้ปัญหาได้ไหม ก็แก้ไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้กลายเป็นแหกกฎหมายทุกฉบับ ผมถามว่าปล่อยได้ไหม ถ้ารัฐบาลทำไม่ได้แล้วใครจะทำ ถ้ารัฐบาลทำได้ก็จบ ไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี รัฐสภา ครม. ไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ทำได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็จบแค่นั้น กลับมาสู่ทหารอีก ฉะนั้นไม่ต้องมาจับทหารไปทำสัญญาอะไรกับใคร ท่านทำสัญญากับตัวเองและประชาชนให้ได้ก็แล้วกัน ว่าจะไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหายอีก ผมไม่ได้หมายความว่าจะมีหรือไม่มี ท่านพูดถึงทหารมาหลายครั้งผมยังไม่ได้ตอบโต้ วันนี้ผมยืนยันว่าไม่มีใครอยากทำ เสี่ยงอันตรายทุกอย่าง ถ้าไม่สำเร็จก็เดือดร้อนกันหมด ต้องนึกถึงว่าเขาทำกันเพื่ออะไร ผมไม่ได้พูดถึงครั้งอื่น แต่พูดถึงครั้งนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
   พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกิดอะไรขึ้นก็คิดกันเอง มีอาวุธสงคราม รัฐบาลทำอะไรกันไม่ได้ งบประมาณจ่ายไม่ได้ คิดตรงนั้นหรือเปล่า สับสนอลหม่านไปหมด บ้านเมืองไร้ขื่อแป ยิงกันไปมา เขาเรียกว่าอนาธิปไตย ขณะที่อยากเป็นประชาธิปไตย โดยอ้างประชาชน แบบนั้นมันอนาธิปไตยหรือเปล่า แยกให้ออก จะอยู่อย่างไรกันต่อไป นั่นแหละประเด็นของตน การปรองดองไม่ใช่เรื่องนิรโทษกรรม แต่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ต้องดูว่าสาเหตุมาจากไหน ต้องแก้ปรองดองตรงนั้น ไม่ใช่มาแก้ที่ปลายเหตุ ทุกคนมองปลายเหตุหมด ต้องดูว่าปลายเหตุที่ทำให้ทหารปฏิวัติ เกิดจากอะไร ดูตรงโน้น แก้ตรงโน้นเขาจึงเรียกว่าการปฏิรูป เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ เป็นการปรองดองทุกมิติ ปรองดองที่ต้นเหตุคือกระบวนการประชาธิปไตยที่มีปัญหา ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาที่ไม่มีหลักคิด
          นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนท้ายว่า ตนได้อ่านหนังสือที่มีคนให้ใส่ถุงไว้บนโต๊ะทำงาน ว่างก็เปิดอ่าน ซึ่งก็เหมือนสิ่งที่เราคิด ก็เลยนำมาแจกให้ครม.ไปดู หนังสือหลักคิดในการปฏิรูปประเทศไทย ของดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต อายุ 80 กว่า เขียนเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2553 ตนอ่านทุกวัน รวมถึงของหมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส งานของนายคณิต ณ นคร รวมถึงนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และอีกหลายคณะ ซึ่งสรุปออกมาคนละ 6-7 หัวข้อ
     "ปัญหาบ้านเราคือการปรองดอง มันยากสำหรับประเทศเรา เพราะปรองดองในขณะที่เรามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มรูปแบบเขาบอกว่ามันค่อนข้างยาก แต่ผมจะทำให้ได้ แต่ผมก็ละเว้นกฎหมายไม่ได้ หรือทุกคนอยากให้ปรองดองโดยการละเว้นกฎหมาย ถ้าทำอย่างนั้นกฎหมายจะเสียหายหลายฉบับ คนอื่นก็จะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมได้อ่านหนังสือนี้แล้วเรียบเรียงออกมา ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมคิด และผมก็เติมไปนิดหน่อย เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น สรุปได้มา 13 ข้อ ถือเป็นการที่คณะทำงานทั้ง 4 คณะ จะนำไปใช้เป็นแนวคิด จะถูกหรือผิดไปคิดเอาเอง และสร้างความรับรู้กับประชาชนด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

logoline