svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"มาร์ค" พร้อมถกปรองดอง "บิ๊กป้อม" เชื่อสัตยาบันแก้ขัดแย้งไม่ได้

19 มกราคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

19 ม.ค.60 -- "มาร์ค" พร้อมถกปรองดองกับ "บิ๊กป้อม" แนะปรองดองต้องมองอนาคต เชื่อ ลงสัตยาบันแก้ขัดแย้งไม่ได้

                            เมื่อวันที่ 19 ม.ค.60 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเตรียมหารือกับทุกพรรคการเมืองและฝ่ายต่างๆ เพื่อขอความคิดเกี่ยวกับแนวทางปรองดอง ว่า คงไม่ได้เป็นการเรียกคุยพร้อมกัน หากเป็นการรับฟังข้อเสนอแนะ ซึ่งตนยินดีให้ความเห็น ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดอง โดยจากนั้น กรรมการต้องพิจารณาเพื่อประมวลความเห็นแต่ละฝ่าย เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ไปได้ แต่อย่าปักใจว่า ต้องจบลงด้วยวิธีการรูปแบบไหนอย่างไร เช่น ที่พูดว่าจะมีการลงนามร่วมกัน ก็ขออย่ายึดติดตรงนั้น ซึ่งตนอยากให้การปรองดองเป็นเรื่องคิดถึงอนาคตมากกว่า คือต้องเรียนรู้จากอดีตเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในอนาคต เพราะความแตกต่างหรือความขัดแย้งไม่มีทางหมดไป ในสังคมที่มีความหลากหลาย แต่ต้องทำให้ความต่างทางความคิดหรือความขัดแย้งไม่นำไปสู่การใช้วิธีนอกกฎหมายหรือความรุนแรง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องตามให้ทัน และต้องสรุปบทเรียนให้ถูก อย่ามองว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือระหว่างพรรคการเมือง เพราะรากฐานความขัดแย้งรอบล่าสุดเกิดจากกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ได้เกิดจากพรรคการเมืองทะเลาะกัน ถ้าสรุปผิดคิดว่าพรรคการเมืองทะเลาะกัน เอามาคุยกันเพื่อให้เลิกราต่อกันแล้ว จะไม่มีความขัดแย้งในอนาคต ก็จะหลงทาง  นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องอดีตก็ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ยกเว้นคดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนที่มาชุมนุมแล้วทำผิดกฎหมายพิเศษ ควรจะนิรโทษกรรมไปเลย ส่วนกรณีอื่นๆ ให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ซึ่งหากทำเช่นนี้ ก็จะได้ข้อยุติเกี่ยวกับข้อเท็จจริง ซึ่งจะได้ข้อสรุปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และเป็นการยืนยันว่า การทำผิดกฎหมายหรือใช้ความรุนแรงต้องมีความรับผิดชอบ จากนั้นจะมีช่องทางอภัยโทษอย่างไร ก็มีหลักเกณฑ์อยู่แล้ว หากรัฐบาลทำด้วยเหตุผลแบบนี้ ก็มีทางที่จะประสบความสำเร็จ                                             ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ระบุว่า หลักจากพูดคุยแล้วจะให้มีการลงนามเพื่อเป็นข้อตกลงก่อนการเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่า ลำพังมีเอกสาร และคนร่วมลงนามจะเป็นหลักประกันได้ยาก เพราะคนที่ไปลงนาม จะยืนยันได้อย่างไรว่าประชาชนที่เกี่ยวข้องจะเห็นเหมือนกับตนเอง แม้แต่พรรคการเมือง ซึ่งในขณะนี้ บอกว่า ต้องปฏิรูปให้เป็นเรื่องของสมาชิก แต่การจะให้หัวหน้าพรรคและผู้บริหารไปลงนามโดยต้องผูกมัดสมาชิกก็จะเป็นไปได้ยาก แต่ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาขัดขวาง แต่ต้องไม่ยึดรูปแบบดังกล่าว เพราะจะทำให้ไม่สำเร็จ จึงอยากให้พูดถึงประเด็นที่อาจเกิดความขัดแย้งในอนาคตอย่างเปิดใจ แล้วสร้างบรรทัดฐานร่วมกันว่า การทำงานทางการเมืองจะทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยความขัดแย้งแบบเดิม ขอยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะเข้าใจว่าเรื่องความปรองดองยังเป็นข้อกังวลใจของประชาชนและจะอยู่ในสถานการณ์พิเศษต่อไปเรื่อยๆ คงไม่ได้ จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีการคุยกัน แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จ แต่ตนยินดีที่จะทำในสิ่งที่ไม่ผิดหลักการ                            "จะเอาเรื่องปรองดองไปผูกว่า ต้องทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยบอกว่าพรรคการเมืองอยากมีการเลือกตั้งก็ต้องมาจากการลงกันคงไม่ได้ เพราะต้องอยู่กับความถูกต้อง ผมคนนึง ถ้าบอกว่า ไม่ตกลงเลือกตั้งไม่ได้ แล้วจะให้ตกลงในสิ่งที่ไม่สมควร ผมก็ตกลงด้วยไม่ได้ จึงต้องว่าด้วยเหตุผล เอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ส่วนที่นายกฯ ห่วงใยว่า อะไรจะเป็นหลักประกันว่าเลือกตั้งจะไม่กลับมาตีกัน ผมอยากให้ย้อนกลับไปดู เพราะไม่ได้ตีกันจากผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นปี 2550 หรือปี 2554 แต่มีเงื่อนไขอื่นที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ถ้าตีโจทย์ว่า ขัดแย้งจากการเลือกตั้ง ก็จะไม่ตรงกันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะแม้แต่ คสช. บางฝ่ายก็บอกว่า เป็นคู่ขัดแย้ง ทั้งที่ คสช.ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงอยากให้ทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก่อน มิเช่นนั้นจะหลงทาง" นายอภิสิทธิ์กล่าว                                                    นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ควรรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง จึงจะนำไปสู่การปรองดองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะมีแนวทางการศึกษาเดิมที่สรุปและเสนอมาแล้ว โดยยึดแนวทางที่นายกฯเคยพูดว่าจำเป็นที่จะต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ส่วนข้อเสนอปรองดองของคณะกรรมาธิการ สปท. ด้านการเมือง ที่มีแนวทางแก้ไขกฎหมายเพื่อยุติคดีทางการเมืองนั้น ตนได้คุยกับนายกษิต ภิรมย์ ซึ่งเป็น สปท. อยู่ด้วย ทราบว่ามี สปท. หลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ พร้อมย้อนถามว่าจะเป็นนิรโทษกรรม4.0หรือ ซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่ จึงอยากให้มองไปข้างหน้า อย่ากังวลกับเรื่องในอดีตแล้วคิดว่าจะทำให้บางคนพอใจ เพราะไม่ได้แก้ปัญหาสังคม แต่อาจจะสร้างปัญหาในอนาคต โดยต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม อย่าไปให้น้ำหนักข้อเสนอที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่ม 

logoline