svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ตรวจขนมเปี๊ยะ 12 ยี่ห้อ มี 3 ยี่ห้อเข้าข่ายผิดกฎหมาย

19 มกราคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสุ่มตรวจขนมเปี๊ยะ 12 ยี่ห้อ พบร้อยละ 90 มีสารกันบูดแต่ไม่เกินมาตราฐาน ขณะที่มี 3 ยี่ห้อแจ้งบนฉลากว่าไม่ใส่สารกันบูดแต่กลับตรวจพบ เข้าข่ายผิดกฎหมาย

วันนี้ (19 ม.ค.) มูลนิธิผู้บริโภคแถลงผลตรวจสารปนเปื้อนในขนมเปี๊ยะ 12 ยี่ห้อ โดยนักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ บอกว่า ใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ของเมืองจีนหรือตรุษจีน ขนมเปี๊ยะเป็น 1 ในของฝากที่นิยมซื้อให้กัน นิตยสารฉลาดซื้อก็เลยทำการสุ่มตรวจขนมเปี๊ยเพื่อหาสารกันบูดทั้งหมด 13 ยี่ห้อ คืออื้อ เล่ง เฮง, ครูสมทรง, แต่เล้าจิ้นเส็ง, ขนมบ้านอัยการ, แต้ เซ่ง เฮง, ขนมเปี๊ยะปรุงพิเศษ ท่าดินแดง, วิคตอรี่ เบเกอรี่, ร้านสิงห์เพชร, ร้านหมู, ขนมเปี๊ยะบางกระบือ, กาโตว์ เฮาส์, ขนมเปี๊ยะเหลือง เอสแอนด์พี และบ้านสุดที่รัก (Baan Suntiras)

ผลปรากฎว่า ร้อยละ 90 หรือ 12 ตัวอย่างพบสารกันบูด มีเพียงยี่ห้อเดียวที่ไม่พบการปนเปื้อนคือขนมเปี๊ยะเหลือง เอสแอนด์พี
ซึ่งจากการสุ่มทดสอบครั้งนี้พบว่า ปริมาณของวัตถุกันเสียในขนมเปี๊ยะ อยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ระหว่าง 12 - 58 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือเฉลี่ยที่ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ คือ สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคบอกว่าตั้งแต่ทดสอบอาหารมา ครั้งนี้น่าพอใจที่สุด เพราะว่าสารกันบูดที่พบนั้น อยู่ในปริมาณที่ไม่เกินมาตราฐานที่ อย.กำหนด แต่ก็ยังพบปัญหาอยู่บางยี่ห้อ คือ ขนมเปี๊ยะครูสมทรง ขนมเปี๊ยะร้านหมู และขนมเปี๊ยะบางกระบือ มีการแจ้งบนฉลากว่าไม่ใส่สารกันบูด แต่เมื่อตรวจแล้วกลับพบสารกันบูด ซึ่งถือว่าเข้าข่ายมีความผิดพ.ร.บ. อาหาร มาตรา 25 (2) ว่าด้วยอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท

นักวิชาการด้านอาหาร ย้ำว่าถึงแม้ว่าสารกันบูดจะอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แต่ถ้าสะสมมากๆ ร่างกายจะมีพิษเรื้อรัง แนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสำเร็จรูป อาหารกล่องที่มีการแช่แข็งเป็นเวลานานๆ เพราะมีสารกันบูดแน่นอน และควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย

logoline