svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักวิชาการแจงแผ่นดินไหวเชียงใหม่ เกิดจากรอยเลื่อนที่มองไม่เห็น

16 มกราคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการ มช. แจงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดจากรอยเลื่อนที่มองไม่เห็น เชื่ออาจสั่งสะเทือนได้ถึงขนาด 5 แต่ไม่ส่งต่อการพังทลายของอาคาร ให้จับตารอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่ลาว รอยเลื่อนพะเยา ที่เคยปล่อยพลังขนาด 6 สร้างความเสียหายมาแล้ว ด้านนักวิชาการอิสระ ชี้จับตา อ.จอมทอง อ.อมก๋อง อ.แม่วาง อาจเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ปภ.เตรียมให้ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวและซ้อมแผนรับมือ

รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว เปิดเผยว่า การที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดแผ่นดินไหวถี่ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเชียงใหม่มีสภาพทางธรณีวิทยาที่เป็นแอ่ง มีภูเขาล้อมรอบ และภายในแอ่งที่มีภูเขาล้อมรอบนี้มีรอยเลื่อน ที่ซ่อนอยู่มองไม่เห็นและไม่ปรากฏในแผนที่อยู่หลายรอย ซึ่งการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นนี้อาจทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนได้ถึงขนาด 5 ได้ ซึ่งความแรงดังกล่าวนี้จะไม่ส่งกระทบให้เกิดการพังทลายของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เพียงแต่สร้างการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้เท่านั้น

ทั้งนี้รอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวถี่ในช่วงนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนหลักๆ เช่นรอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่ลาว หรือรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งรอยเลื่อนหลักๆ นี้ยังคงมีพลังงานอยู่ซึ่งเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงรายมาแล้ว และเป็นรอยเลื่อนที่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ว่าอาจจะมีการปล่อยพลังงานออกมา

อย่างไรก็ตามประชาชนในพื้นที่ไม่ควรตระหนกกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เนื่องจากเป็นเพียงรอยเลื่อนที่มองไม่เห็น ไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนหลัก ถือเป็นปกติของการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ที่รอยเลื่อนมีการปล่อยพลังงานออกมา เชื่อว่าจะไม่สร้างความเสียหายให้กับอาคาร บ้านเรือน และคาดว่าการปล่อยพลังงานออกมาไม่น่าจะถึงขนาด 6

นักวิชาการแจงแผ่นดินไหวเชียงใหม่ เกิดจากรอยเลื่อนที่มองไม่เห็น


ด้านนายปิยะชีพ วัชโรบล นักวิชาการอิสระด้านภัยพิบัติ กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหววัดได้ขนาด 1 -4 ที่เชียงใหม่มาต่อเนื่องนั้น เป็นการปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน ซึ่งไม่ใช่รอยเลื่อนหลักที่มีอยู่เดิม เชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ระวังการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยคาดว่าในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.-16 มี.ค. นี้อาจจะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.5 ได้ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยให้เฝ้าระวังที่ อ.จอมทอง อ.แม่วาง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เป็นหลัก โดยให้สังเกตสภาพอากาศก่อนจะเกิดแผ่นดินไหว จะมีอากาศที่ร้อนจัด เมฆเป็นปุยฝอยคล้ายขนแกะ และท้องฟ้าเป็นสีรุ้ง สัตว์มีอาการตื่นตกใจ หากเกิดเหตุการณ์นี้พร้อมๆ กัน เชื่อว่าจะเกิดแผ่นดินไหวภายใน 6 -12 ชั่วโมง

ส่วนนายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการประสานกับสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุติยมวิทยา แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา เกิดขึ้นบริเวณรอยเลื่อนแม่วาง และรอยเลื่อนแม่ทา เป็นการเคลื่อนตัวของชั้นหินและเป็นการปล่อยพลังงานตามปกติ ไม่ได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

ทางสำนักงาน ปภ. เชียงใหม่ ได้มีการเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั่น ยังได้เตรียมพร้อมกำหนดอบรมให้ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวในพื้นที่อำเภอกลุ่มเป้าหมาย โดยเชิญ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เพื่อรับการอบรมเผยแพร่ความรู้การเตรียมตัวและปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว โดยกำหนดอบรมที่ อำเภอจอมทองวันที่ 19 มกราคม 2560 และ ที่อำเภอแม่วาง วันที่ 29 มกราคม 2560 หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ มีแผนที่จะทำการฝึกซ้อมแผนการบัญชาการ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย กู้ชีพ กู้ภัย การให้บริการทางการแพทย์ การอพยพ รวมถึงการดูแลหลังสถานการณ์ยุติ

logoline