svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศาลตัดสิน "ชาวแพรกษา " ชนะคดีผู้ว่าฯ -อบต.ละเลยหน้าที่ ปล่อยเอกชนเช่าที่ ทำบ่อขยะ เกิดไฟไหม้ซ้ำซ้อน

30 พฤศจิกายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

30 พ.ย.59 - ศาลปกครองกลางคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษา " ชาวบ้านแพรกษา สมุทรปราการ 163 คน " ชนะคดี ฟ้อง " ผู้ว่าฯ อบต.แพรกษา " ละเลยหน้าที่ ปล่อยเอกชนเช่าที่ทำบ่อขยะส่งกลิ่นเหม็นเกิดไฟไหม้ซ้ำซ้อนสร้างมลพิษ ศาลสั่ง " ผู้ว่าฯ อบต.แพรกษา " คุมเข้มทำแผนขจัดมลพิษ ห้ามส่งกลิ่นเหม็นอีก

ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 30 พ.ย.59นายสัจจา เขม้นงาน ตุลาการเจ้าของสำนวน และองค์คณะ มีคำพิพากษา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 กำกับดูแล ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ที่ 5 ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ควบคุมดูแล ไม่ให้มีการกระทำใดๆ ที่จะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นของมูลฝอยที่เป็นเหตุรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงบ่อขยะพิพาท และให้ผู้ถูกฟ้องที่ 5 ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ที่ 6 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ม.60 โดยให้ยกฟ้องอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องที่ 4 , สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 7 , อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 8 , กรมควบคุมมลพิษ ที่ 9 , กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ 10 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่ 11 ส่วนคำสั่งศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้สิ้นผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
โดยคดีนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯ และชาวบ้านซึ่งพักอาศัยและประกอบอาชีพ บริเวณชุมชนแพรกษา ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ได้รับความเดือดร้อน รวม 163 คน ยื่นฟ้อง นายกเทศมนตรีตำบลแพรกษา , เทศบาลตำบลแพรกษา , ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ , อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา , องค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา , สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ , อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ , กรมควบคุมมลพิษ , กรมโรงงานอุตสาหกรรม , คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-11 ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ในหมายเลขดำ ส. 11 และ ส. 16/2557 เรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
กรณีประชาชน ผู้มีภูมิลำเนา พักอาศัยและประกอบอาชีพอยู่ในบริเวณชุมชนแพรกษา ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องที่ 5 ปล่อยให้เจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ บริเวณซอย 8 นิคมอุตสาหกรรมบางปู หมู่ที่ 4 ตำบลแพรกษา ตักหน้าดินไปขาย ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นบ่อลึก แล้วปล่อยให้เป็น ที่รกร้าง
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2539 คลองธรรมชาติซึ่งอยู่ข้างๆ คันกั้นคลองข้างบ่อดิน ได้พังถล่มลงมาในบ่อดินทำให้น้ำทะลักเข้ามากลายเป็นบ่อน้ำและมีผู้ลักลอบนำเศษขยะสิ่งของต่างๆ มาทิ้ง หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีผู้มาเช่าบ่อดังกล่าว กับเจ้าของที่ดิน เพื่อประกอบกิจการรับกำจัดสิ่งปฏิกูลมูลฝอยและกิจการสะสมวัสดุเหลือใช้ โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องที่ 5 ได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เลขที่ 95/2554 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2554 และใบอนุญาตเลขที่ 96/2555 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2554 กระทั่งปี พ.ศ.2555 ผู้เช่านั้นได้ขอยกเลิกการประกอบกิจการตามใบอนุญาตทั้งสองฉบับ แต่หลังจากนั้นยังคงมีการลักลอบนำขยะมูลฝอยมาทิ้งบริเวณบ่อขยะอีก ต่อมาได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557และเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นอีกสองครั้งในวันที่ 8 เมษายน 2557 และวันที่ 12 พฤษภาคม 2557 ก่อให้เกิดมลพิษ ทางอากาศและมลพิษทางน้ำส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ฟ้อง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง
ผู้ฟ้อง 163 คน จึงนำคดีมาฟ้องขอให้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตพื้นที่ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 กำกับดูแลการดำเนินการของ เจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ครอบคลุมพื้นที่เขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการกับ ฟื้นฟูพื้นที่บ่อขยะแพรกษาและพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบให้กลับคืนสู่สภาพปกติ พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ทั้งนี้ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม รับคำฟ้องไว้พิจารณา และมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยให้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องที่ 5 สั่งห้ามบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่พิพาทและจัดเวรยามเฝ้าระวังพื้นที่บ่อขยะที่พิพาทตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเพลิงไหม้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
กระทั่งศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้มีคำพิพากษาคดีในวันนี้ ว่า การที่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องที่ 5 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้แก่ผู้เช่า จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ที่สิ้นอายุวันที่ 31 ธันวาคม 2554 เพื่อประกอบกิจการสะสมวัสดุสิ่งของที่ชำรุดใช้แล้วหรือเหลือใช้ และฉบับลงวันที่ 6 ตุลาคม 2554 สิ้นอายุวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เพื่อประกอบกิจการประเภทรับทำการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยโดยทำเป็นธุรกิจหรือโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ
ซึ่งการดำเนินกิจการดังกล่าวนั้น เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องมีการควบคุมโดย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องที่ 5 และองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องที่ 6 ตามข้อ 5.13 (5) ของข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2549 และถือเป็นเหตุรำคาญ ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งการที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องที่ 5 ออกใบอนุญาตให้ผู้เช่าประกอบกิจการ บริเวณบ่อดินเก่าที่เกิดจากการประกอบกิจการขุดหน้าดินขายของ เจ้าของที่ดินมีพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ และขณะที่ออกใบอนุญาตเมื่อปี พ.ศ. 2554 บ่อดินดังกล่าวได้กลายเป็นบ่อน้ำมีเศษขยะลอยอยู่จนมีสภาพเป็นบ่อขยะแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องที่ 6 ไปตรวจสอบสถานที่ก่อนออกใบอนุญาต แล้วปรากฏว่าเป็นที่โล่ง จึงออกใบอนุญาตให้ผู้เช่านั้น ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า เจ้าของที่ดินได้ดำเนินกิจการตักหน้าดินไปขาย ต่อมาคันกั้นคลองข้างบ่อได้พังถล่ม ลงมาทำให้บ่อดินแห่งนี้กลายเป็นบ่อน้ำ เมื่อมีการลักลอบนำเศษขยะมาทิ้งทำให้กลายเป็นบ่อขยะ ดังนั้น ในวันที่ 17 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องที่ 5 ออกใบอนุญาตให้จึงไม่ได้เป็นที่โล่งแต่มีสภาพเป็นบ่อขยะแล้ว นอกจากนี้ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องที่ 5 จะออกใบอนุญาตทั้งสองฉบับให้ ก็มีประชาชนร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นจากบ่อขยะ ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 6 ยอมรับว่าได้สั่งให้เจ้าของที่ดินระงับเหตุรำคาญโดยดูแลไม่ให้มีการนำขยะมาทิ้งและติดป้ายประกาศห้ามทิ้งขยะ
จึงแสดงให้เห็นว่า ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องที่ 5 จะออกใบอนุญาตทั้งสองฉบับในบริเวณที่พิพาท ก็มีสภาพเป็นบ่อขยะและมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน พื้นที่พิพาทจึงมีสภาพไม่เหมาะสมในการดำเนินกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 5 ต้องนำข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่ มาประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจในการออกใบอนุญาตด้วย ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องดีที่ 5 ออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในการประกอบกิจการเพื่อป้องกันเหตุรำคาญ อีกทั้งไม่ได้นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ที่ขอรับใบอนุญาตและเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงมาประกอบ จึงเป็นการอนุญาตโดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง ซึ่งนอกจากถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจออกใบอนุญาตโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแล้ว ยังถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 5 ไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 290 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ด้วย
นอกจากนี้ ศาลเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ยังคงได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็นของขยะมูลฝอย จากสถานที่กำจัดมูลฝอยของผู้ร้องสอดอยู่ตลอดมา ผู้ถูกฟ้องที่ 5 จึงต้องใช้อำนาจตามกฎหมายแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญดังกล่าวอย่างจริงจังโดยกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีก ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 5-6 ยอมรับข้อเท็จจริงว่าหลังจากได้มีคำสั่งยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการของผู้ร้องสอดแล้ว ยังคงมีการลักลอบนำขยะมาทิ้งในบ่อขยะแพรกษา จึงแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้มี การดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็นของขยะในบ่อขยะพิพาทอย่างถาวรและเป็นรูปธรรมกลับปล่อยปละละเลยให้มีผู้ลักลอบนำขยะมูลฝอยมาทิ้งในบริเวณบ่อขยะแพรกษาอีกจนกระทั่งเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะดังกล่าว 2 ครั้งในเวลาใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 5 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ยังไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตพื้นที่ซึ่งเป็นเขตควบคุมมลพิษ เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ แต่อย่างใด ดังนั้นจึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ดังนั้น ศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 , นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ที่ 5 และองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ที่ 6 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
จึงมีคำบังคับให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ผู้ถูกฟ้องที่ 5 ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ควบคุมดูแล ไม่ให้มีการกระทำใดๆ ที่จะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นของมูลฝอยที่เป็นเหตุรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงบ่อขยะพิพาท และให้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา ที่ 6 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ม.60
รวมทั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 กำกับดูแลให้ผู้ถูกฟ้องที่ 5 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโดยเคร่งครัด
ส่วนผู้ถูกฟ้องอื่น พิพากษาให้ยกฟ้อง ส่วนคำสั่งศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้สิ้นผลนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี คดีนี้คู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันนี้ ( 30 พ.ย.59) ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา

logoline