svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"มีชัย"ยัน! ไม่ให้ กกต.จังหวัดอยู่ประจำที่ถาวร แจง ป้องกันถูกครอบงำ

04 พฤศจิกายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"มีชัย"ยัน ไม่ให้กกต.จ.อยู่ประจำที่ถาวร แจงป้องกันถูกครอบงำ ชี้ ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา แต่ไม่มีสิทธิ์ตัดสินถูกผิด ย้ำ รธน.ใหม่ให้ศาลตัดสินชี้ขาด เหมาะสมกว่ายกมือโหวตถอดถอน

เมื่อเวลา 13.30 น.ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน 2 อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า เรื่องการถอดถอนเริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 และเขียนไว้รองรับอยู่ในกฎหมายป.ป.ช. ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากการถอดถอนในตอนนี้จะเป็นผลเฉพาะตามที่กฎหมายป.ป.ช.กำหนดไว้ว่า เมื่อถูกถอดถอนแล้วจะถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ส่วนตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นไม่มีเรื่องของการถอดถอนอีกแล้ว ดังนั้น ผลแห่งการถอดถอนจะไม่มีผลกระทบต่อการกระทำหรือไม่กระทำอะไรในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง ผลแห่งการถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งนั้นจะมีต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นคนที่ถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งจะไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง และในช่วงระยะเวลาที่ถูกตัดสิทธิ์จะเป็นรัฐมนตรีหรืออะไรไม่ได้เลย
สำหรับความผิดทางจริยธรรมหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของใครในการตรวจสอบและตัดสินนั้น นายมีชัยกล่าวว่า เรื่องจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกหลังจากตัวร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องไปดูว่ามาตรฐานทางจริยธรรมเขียนไว้อย่างไร ซึ่งอาจจะเขียนครอบคลุมถึงการถูกถอดถอนด้วยก็ได้ ส่วนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิมจะกระทบกับคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยหรือไม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่า เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งจะกระทบ จะมีผล จะถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องคุณสมบัติของกรรมการบริหารพรรคนั้น เราไม่ได้พูดถึงเรื่องการถูกถอดถอน เพราะเราจะใช้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างเดียวกับการลงสมัครส.ส. เพราะฉะนั้นถ้าเขาอยู่ระหว่างการถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง เขาก็เป็นกรรมการบริหารพรรคไม่ได้
"การถอดถอนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นกระทำความผิด การที่จะชี้ว่าใครทำผิดหรือไม่โดยมาใช้โหวตลงคะแนนเสียงนั้น มันไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล เพราะเวลาลงคะแนนเสียงบางทีก็ไม่ได้คิดถึงพยานหลักฐาน ทำให้อาจจะขาดความเป็นธรรม ดังนั้น ทางที่ดีคือพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าทำผิดจริงหรือไม่ตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าทำผิดจริงก็ลงโทษและตัดสิทธิ์ไปเลย เพราะการถอดถอนก็เหมือนการลงมติไม่ไว้วางใจ ต่อให้คุณพูดหรือเอาพยานหลักฐานมาแสดงอย่างไร เวลายกมือก็นับที่จำนวนมือ ไม่ได้พูดถึงเรื่องความผิดหรือไม่ผิด ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมืองเสียมากกว่า เมื่อเราเปลี่ยนระบบว่า ถ้าคุณทำความผิดจริง คุณก็ไม่ควรจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก จึงต้องใช้กระบวนการที่ชัดเจนแน่นอน มีโอกาสต่อสู้ มีการนำสืบพยาน หลักฐานจนศาลตัดสินเป็นที่สุดว่าผิดก็ไปเลย ไม่ต้องมาโหวต ซึ่งก็ตรงไปตรงมา"นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยว่า กรธ.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งในส่วนของกกต.นั้น ทางกรธ.มีความคิดว่า ในเรื่องของกกต.จังหวัดจะเปลี่ยนไม่ให้เป็นแบบถาวร คือให้มีได้ แต่ไม่ให้ไปประจำอยู่ที่นั่น จะให้ไปเฉพาะเวลามีการเลือกตั้งก่อนหรือหลังนิดหน่อย เพื่อที่กกต.จังหวัดจะได้ไม่ไปถูกครอบงำ แต่ตรงนี้ยังไม่ได้คุยจริงจังกับกกต.ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราจะนำเจ้าหน้าที่ของกกต.มานั่งฟังด้วย เพื่อที่จะได้รู้เหตุ รู้ผล และคอยทักท้วงว่าสิ่งที่เราคิดมาใหม่นั้นทำได้หรือไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้จะได้เปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งเท่าที่ผ่านมาอันไหนที่เราเปลี่ยนแล้วถาม ทางเขาก็บอกว่าทำได้ แต่ยังไม่รู้ว่าสำหรับตัวกกต.เองนั้นจะว่าอย่างไร เมื่อถึงเวลาอาจจะต้องพูดคุยกันอีกที ขณะที่เรื่องอำนาจกกต.จังหวัดนั้น เราจะให้เป็นหูเป็นตามากกว่าการเป็นคนตัดสินใจ ถ้าจะตัดสินว่าถูกหรือผิดนั้น จะต้องมาหา กกต.

logoline