svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แอมเนสตี้ ยุติงาน! "รายงานทรมานผู้ต้องหาในไทย"

28 กันยายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

28 ก.ย. 59 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยุติงาน "รายงานทรมานผู้ต้องหาในไทย" จนท.อ้างผู้บรรยายไม่มีใบอนุญาตทำงาน

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จัดงานเตรียมเปิดเผยรายงาน "บังคับให้มันพูดให้ได้ภายในพรุ่งนี้" ว่าด้วยการทรมานผู้ต้องหาในประเทศไทย 74 กรณี ในช่วงปี 57 - 58 ที่ได้จากการวบรวมเอกสารของศาล ประวัติการรักษาพยาบาล และบทสัมภาษณ์ของเหยื่อ ผู้สื่อข่าวรายงานว่างานดังกล่าวไม่สามารถจัดได้เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่จากสันติบาล และจากฝ่ายการดำเนินงานขององค์กรต่างประเทศในประเทศไทย กระทรวงแรงงาน ระบุว่าตัวแทนจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลไม่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย หากขึ้นพูดบนเวทีอาจถูกจับตามกฎหมายได้ แต่ไม่ได้ยุติงานแต่อย่างใด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แถลงยุติการจัดงานดังกล่าว  
โดยนายยูวาล กินบาร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ในฐานะที่ตนเป็นคนสหราชอาณาจักร ไม่ได้รู้สึกถูกคุกคามอะไรจากเหตุการณ์นี้ แต่ขณะเดียวยังมีเอ็นจีโอของไทยที่ต้องเผชิญกับการคุกคามต่างๆ อย่างการถูกข่มขู่ หรือการถูกฟ้องร้องในคดีอาญา ซึ่งที่ตนมาพูดในวันนี้ไม่ได้ชี้ความผิดอะไร หากมีความยินดีที่จะร่วมงานกับรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาการทรมานผู้ต้องหาต่อไป 
เมื่อถามว่าก่อนจัดงานได้คาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุการร์แบบนี้ขึ้นหรือไม่ นายยูวาล กล่าวว่า ส่วนตัวมีความรู้สึกว่า รัฐบาลปัจจุบันอาจไม่ค่อยยินดีชอบฟังคำวิจารณ์ โดยในรายงานชิ้นนี้ได้ระบุถึงคนที่ถูก ทุบตี รัดคอ เทน้ำอย่างต่อเนื่องที่ใบหน้า (การทรมานทำให้เหมือนจมน้ำ) หรือแม้กระทั่งผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติด ถูกบังคับให้ปัสสาวะในที่สาธารณะ ให้เกิดความอับอาย หรือบังคับให้จ่ายสินบน นี่คือสาระที่เราอยากกล่าวถึง ซึ่งที่ผ่านมาทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำงานอยู่ทั่วโลก ได้พบเจอกับรัฐบาลที่ยินดีรับฟัง และไม่ชอบฟังเรื่องนี้ โดยเมื่อก่อนตนคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่พร้อมจะพูดคุย แต่น่าเสียดายที่สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม ด้วยหน้าที่ที่ต้องเปิดเผยรายงานชิ้นนี้ การจะบอกว่าไม่คาดการณ์ว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็คงไม่ใช่ เพราะหนทางไม่ได้ราบเรียบเสมอไป 
เมื่อถามว่า การทรมานในประเทศไทย มีการทำอย่างเป็นระบบหรือไม่ นายยูวาล กล่าวว่า ประเทศไทยมีเรื่องกลไกความคุ้มครองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ตนได้ศึกษามาพบว่า ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดสำหรับการทรมานคือวันแรกของการจับกุม ซึ่งกฎหมายคุ้มครอง อาจถูกละเลยปฏิบัติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ทำให้กลไกความคุ้มครองต่างๆไม่มีผลในสัปดาห์แรกของการถูกควบคุมตัว ส่งผลให้ผู้ถูกคุมตัวเสี่ยงต่อการถูกทรมาร ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าเรื่องของการทรมานที่เกิดขึ้นในการควบคุมตัวของทหาร เป็นเรื่องที่ดำเนินการเป็นระบบ    
นายยูวาล กล่าวอีกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีข่าวดีเลย สิ่งที่รัฐบาลไทยได้ทำแล้วคือการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ของสหประชาชาติ รวมถึงในกระบวนการการทบทวนสิทธิมนุษชนของสหประชาชาชติ (UPR) ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ จะให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ซึ่งจะมีเรื่องการจัดตั้งกลไกระดับชาติ ในการป้องกันการทรมาน และถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปัญหานี้ในประเทศไทย 
"อีกเรื่องคือร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีกลไกการต่อต้านการทรมาน และไม่ส่งชาวต่างชาติไปยังประเทศที่เป็นภัยต่อเขา รวมถึงให้ศาลไม่ยอมรับหลักฐานที่ได้จากการทรมาน ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่า เรื่องที่ยังไม่เข้มแข็ง คือกระบวนการสืบสวนสอบสวน ซึ่งส่วนนี้จะต้องเป็นกลไกที่อิสระ เพื่อป้องกันการทรมาน เพราะถ้าให้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ อาจทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐ ทำให้รางพ.ร.บ.ฉบับนี้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และสามารถใช้ได้จริง" นายยูวาล กล่าว

logoline