svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"สุทธิชัย หยุ่น" ชี้ "คนทำสื่อฯ" เข้าสู่ยุคล่มสลาย เน้นขายข่าวดราม่า ด้อยคุณภาพ

17 กันยายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โรงแรมดิเอมเมอรัล รัชดา / 17 ก.ย. 59 - "สุทธิชัย หยุ่น" ชี้ "คนทำสื่อฯ" เข้าสู่สู่ยุคภาวะล่มสลาย เน้นขายข่าวดราม่า ด้อยคุณภาพ พร้อมแนะทางรอดต้องกล้าจะแตกต่างอย่างมีคุณภาพ-ใช้สื่อโซเชียลมีเดียสร้างพื้นที่-ต่อยอดรายงานข่าวเชิงลึก-ที่มีคุณภาพ ชำแหละสถานการณ์ทีวีดีจิตอลคุณภาพหาร 24 แข่งกันดราม่า - ขโมยคลิป ปชช.มาถ่ายทอด เพื่อเอาตัวรอด ไร้คุณภาพ


ที่โรงแรมดิเอมเมอรัล นายสุทธิชัย หยุ่น ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารและกองบรรณาธิการ บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "คนสื่อในอนาคต ทางรอดสื่อไทย ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้" ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่า สถานการณ์ของสื่อมวลชนในปัจจุบัน มีสิ่งที่ต้องเป็นห่วง และอยู่ในบรรยากาศของความไม่ปกติ โดยภายใต้สถานการณ์ที่บุคคลทั่วไปสามารถเป็นนักข่าวได้ หรือเป็นหมาเฝ้าบ้าน หมาเฝ้าซอยได้ ทำให้สื่อมวลชนต้องมาตระหนักและปรับตัวเพื่ออยู่รอดให้ได้ ทั้งนี้ในสัญญาณเตือนภัยของวงการสื่อมวลชนจากประสบการณ์ส่วนตัวมองว่ามีการส่งสัญญาณมาแล้วเมื่อ พ.ศ.2553 หรือ 6 ปีที่ผ่านมา และเกิดในลักษณะของซุปเปอร์พายุที่มีอำนาจทำลายล้างทุกอย่างที่ขวางทาง และไม่สนว่าจะเป็นองค์กรหรือบุคคลที่ยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงหรือไม่ โดยในช่วงที่เกิดซุปเปอร์พายุดังกล่าวไม่มีคนในวงการสื่อมวลชนเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบ พร้อมกับมองว่าตนกังวลและกลัวเกินเหตุ แต่หลังจากที่มีการปรากฏตัวของกล้องถ่ายรูปแบบดิจิตอล, ทวิตเตอร์, กูเกิ้ล, เฟซบุ๊ค, วิกิพีเดีย และการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน ชื่อว่า ไอโฟน ที่รวมโทรศัพท์มือถือ เข้ากับคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่นักข่าวไม่สามารถจะอยู่เฉยได้ต่อไป"ความจริงหากเทคโนโลยีไปได้กว้างขวาง คนสามารถบริโภคข่าวสารได้ทุกสถานที่ อาชีพของความเป็นสื่อฯ ต้องเจริญก้าวหน้า เพราะคนต้องรู้เรื่องราว ต้องการข่าวสารมากขึ้นและต้องการรู้ข้อมูลในเชิงลึก ดังนั้นอาชีพสื่อไม่มีวันล่มสลายแน่นอน แต่ไม่ใช่คนทำสื่อฯ เพราะคนทำสื่อฯ อยู่ในภาวะล่มสลาย เพราะพฤติกรรมของบุคคล พฤติกรรมของสังคมและเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนไปทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ต้องตระหนักคือจะปรับตัวอย่างไรเพื่อตามให้ทันกับความต้องการ พฤติกรรมและช่วงวัยของผู้เสพข่าวหรือผู้บริโภคข่าวสาร รวมถึงทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยอย่างรวดเร็ว โดยส่วนสำคัญที่สามารถเอาตัวรอดได้ คือ ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทั้งในมุมมองของประเด็นข่าว ข้อมูลข่าวที่แตกต่างจากข่าวรูทีน หรือข่าวแถลงปกติ รวมถึงการสร้างสรรค์ข่าวที่มีคุณภาพ ในแง่ของข่าวเชิงสืบสวน สอบสวน หรือ สารคดีเชิงข่าว" นายสุทธิชัย กล่าว

"สุทธิชัย หยุ่น" ชี้ "คนทำสื่อฯ" เข้าสู่ยุคล่มสลาย เน้นขายข่าวดราม่า ด้อยคุณภาพ


นายสุทธิชัย กล่าวด้วยว่าสถานการณ์ความอยู่รอดของสื่อสารมวลชนที่จะอยู่รอดได้ในปัจจุบัน ถูกมองว่าต้องขึ้นอยู่กับเรตติ้ง การสร้างรายได้จากค่าโฆษณา แต่ตนมองว่าหากสื่อมวลชนมีการรวมตัวสร้างสรรค์คุณภาพข่าว และตระหนักในหน้าที่ของคนทำข่าวที่ต้องสร้างความจริงให้ประจักษ์ รวมถึงสร้างผลงานที่ทำให้เกิดการปฏิรูปสังคม และประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส คนทำสื่อฯ จะสามารถอยู่รอดได้ เพราะเชื่อว่าประชาชนพร้อมจะยอมจ่ายเงินเพื่อแลกกับข้อมูล ข่าวสารที่มีคุณภาพ และเพื่อสนับสนุนให้คนทำสื่อที่มีคุณภาพสามารถอยู่รอดในภาวะปัจจุบันได้"สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง หนังสือพิมพ์ลำบาก วิทยุเหนื่อย นิตยสารตัน ขณะที่เว็ปไซต์ สื่อออนไลน์มีผู้อ่านมากขึ้น แต่สิ่งที่จะพลิกเป็นโอกาสได้ คือ เราสามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อผู้ที่ติดตามเราอย่างมีคุณภาพได้หรือไม่ หรือจำนวนความถี่ได้กี่ครั้งในรอบสัปดาห์ ซึ่งความง่าย ความสะดวกของเทคโนโลยี ทำให้ความเป็นนักข่าวหายไประหว่างทาง ดังนั้นสิ่งที่จะอยู่รอดได้คือการสร้างคอนเท้นต์ สร้างข่าวที่มีเรื่องราว มีแง่มุม มีเบื้องหลังผ่านโซเชียลมีเดีย ที่มีบุคลิกเฉพาะตัวให้มีค่ามากที่สุด โดยโซเชียลมีเดียเหมือนจตุรัสกลางเมือง เป็นจุดสุดยอดที่นักข่าวพึงสร้างคนฟัง คนดู หากคุณเป็นนักข่าวแล้วเข้าไปอยู่ในจตุรัสกลางเมือง ต้องมีการนำเสนอที่ต่างจากชาวบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่เที่ยว พบปะ หรือกินข้าวกับเพื่อนเท่านั้น ในสถานการณ์ล่มสลายของภาวะสื่อฯ เราต้องโทษตัวเองเพราะเราไม่ปรับตัว" นายสุทธิชัย กล่าวนายสุทธิชัย กล่าวถึงสถานการณ์ของทีวีดิจิตอลในประเทศไทยด้วยว่าคุณภาพที่เกิดขึ้น คือ หาร24 ซึ่งหมายถึงคุณภาพลดลง เนื้อหาข่าวสารลอกเลียนกัน แข่งความเน่า แข่งดราม่า เปิดและปิดรายการด้วยคลิปวีดีโอซึ่งขโมยจากโซเชียลมีเดียที่ประชาชนเป็นผู้ถ่าย คนซึ่งที่สื่อฯ มองว่าไม่ใช่มืออาชีพ แต่กลับอาศัยคนที่ถูกมองว่าไม่ใช่มืออาชีพเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ซึ่งคิดบ้างหรือไม่ว่าเมื่อทำให้คุณภาพลดลงแล้วจะทำให้อยู่รอดได้จริง ที่ผ่านมาเจ้าของธุรกิจสื่อฯ บรรณาธิการของสื่อ ไม่เชื่อกับการสร้างคน มองว่ามีเงินแล้วสามารถซื้อได้ทุกอย่าง โดยไม่คิดถึงความยั่งยืน เพราะเมื่อซื้อได้ ก็สามารถขายต่อได้เช่นกัน ตนมองว่าประเด็นคุณภาพที่ลดลงเป็นเรื่องน่าเศร้าของวงการ เพราะเมื่อย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งแม้จะทำได้ตามสิทธิ และเสรีภาพ แต่เชื่อว่าคุณภาพจะลดลง เพราะขาดแรงกดดันที่ทำให้พัฒนาฝีมือมากขึ้น.

logoline