svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สศช.เผย ต่างด้าวเป็นเจ้าของแผงตลาดสด 20.9%

31 สิงหาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สศช. เปิดผลสำรวจพบต่างด้าวแห่แย่งอาชีพค้าขายคนไทย ทำผิดกฎหมายโดยจดทะเบียนเป็นกรรมกรแต่กลับเข้ามาค้าขาย ล่าสุดเริ่มขยับเป็นเจ้าของร้านเองมากขึ้น พบคนพม่าเป็นเจ้าของแผงค้าขาย 44.5%

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายปรเมธี วิมลศิริ เปิดผลสำรวจภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2 ปี 59 ว่า สศช.ได้ร่วมกับบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด ดำเนินโครงการสำรวจการประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย โดยรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 4 พ.ค.-22 มิ.ย.59 ในพื้นที่กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, เชียงใหม่, นครราชสีมา, หนองคาย, ชลบุรี และสงขลา พบว่า แรงงานต่างด้าวมีการค้าขายในทุกระดับ โดยในระดับศูนย์สรรพสินค้า มีต่างด้าวเป็นเจ้าของร้าน 6.9% ของจำนวนผู้ค้าทั้งหมด, เป็นเจ้าของแผงในตลาดนัด 1.8%, เป็นเจ้าของแผงในตลาดสด 20.9% และเป็นเจ้าของร้านในตลาดชุมชน 9.7% ซึ่งต่างด้าวที่เป็นเจ้าของร้าน หรือแผงค้ามีสัญชาติเมียนมาร์ 44.5%, กัมพูชา 21.4%, ลาว 19.8%, เวียดนาม 4.4%, จีน 1.6%, ชนกลุ่มน้อย 5.5% และอื่นๆ 2.7%

สศช.เผย ต่างด้าวเป็นเจ้าของแผงตลาดสด 20.9%


หากเปรียบเทียบเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่เป็นต่างด้าว พบว่า เป็นเจ้าของ 42.9% เป็นลูกจ้าง 45.8% และค้าขายให้กับครอบครัว หรือญาติ 11.3% สะท้อนว่า แม้จะจ้างแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนเป็นกรรมกร แต่ในทางปฏิบัติ นายจ้างกลับต้องการแรงงานมาทำงานหลากหลาย รวมถึงช่วยขายของหน้าร้าน และมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นเจ้าของเอง นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ค้าต่างด้าวที่เป็นเจ้าของ ที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายโดยตรงมีสัดส่วน 41.3% อาจเป็นเพราะมีเพื่อน ญาติ หรือเครือข่าย ทำให้มีช่องทางค้าขาย ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้ค้าต่างด้าว เป็นเจ้าของร้านหลังเข้ามาทำงานในไทยแล้ว 2-3 ปี แม้จะมีการจับกุม แต่กว่าครึ่งหนึ่งกลับมาค้าขายใหม่
ส่วนการสำรวจด้านรายได้พบว่า ผู้ค้าต่างด้าว 47.4% มีเงินเก็บและไม่มีหนี้สิน และกว่า 80% ส่งเงินกลับประเทศ โดยส่งกลับครั้งละ 1,001-5,000 บาท คิดเป็น 52%, ส่งเงินกลับครั้งละ 5,001-10,000 บาท คิดเป็น 35.1%
ผลสำรวจยังพบว่า การเข้าสู่อาชีพค้าขายของคนต่างด้าวมีหลายรูปแบบ ทั้งเข้าเมืองโดยมีนายหน้า หรือนายจ้างรับรองถูกต้องตามกฎหมาย แต่เปลี่ยนมาค้าขายรายย่อย หรือตั้งใจเข้ามาแบบผิดกฎหมาย เช่น ถือวีซ่านักท่องเที่ยว แต่มีวัตถุประสงค์อื่น, ถูกนายหน้าหลอก และลักลอบเข้าเมืองทางรอยต่อชายแดน และบางส่วนเคยเป็นแรงงานเถื่อนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองและเข้าสู่การค้าขายรายย่อย ส่วนรูปแบบการเป็นผู้ขาย ได้แก่ ลักลอบขายเอง, มีคนรับสมอ้างเป็นนายจ้าง และมีนายทุน โดยนายทุนจะเตรียมรถเข็น และสินค้า และตกลงแบ่งผลประโยชน์กัน ทั้งรับจ้างรายวัน แบ่งตามสัดส่วนกำไร และเหมาไปขายโดยกำไรเป็นของพ่อค้าต่างด้าวทั้งหมด

สศช.เผย ต่างด้าวเป็นเจ้าของแผงตลาดสด 20.9%


สำหรับการคงสภาพอาชีพค้าขายไว้ของต่างด้าว ประกอบด้วย 1.การจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ 2.การให้คนไทยรับหน้าเป็นนายจ้าง 3.การวนเวียนไปกลับประเทศไทยกับประเทศต้นทาง เช่น ถูกส่งกลับแล้วกลับมาใหม่ หรือกลับไปต่อวีซ่านักท่องเที่ยว และ 4.การมีเครือข่ายแจ้งเตือนล่วงหน้าทำให้ไม่ถูกจับกุม และเมื่อกลุ่มคนต่างด้าวถูกจับแล้วจะมีกระบวนการที่ทำให้สามารถกลับมาค้าขายใหม่
ส่วนผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยของไทยคือ การแย่งอาชีพคนไทย โดยมักขายสินค้าประเภทเดียวกัน ได้แก่ ผักสด/ผลไม้, อาหารสำเร็จรูป, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และไข่/เนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าทำให้รายได้จากการขายสินค้าของคนไทยลดลง มีการขายตัดราคาโดยใช้ของคุณภาพต่ำ, รวมทั้งมีการตั้งกลุ่มอิทธิพล ผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย มาตรฐานด้านความสะอาดและสุขอนามัยที่แตกต่างจากคนไทย, เงินรั่วไหลออกนอกประเทศ, ปัญหาอาชญากรรมและการทะเลาะ วิวาท, การแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น

สศช.เผย ต่างด้าวเป็นเจ้าของแผงตลาดสด 20.9%


สศช.จึงเสนอว่า ไทยต้องพัฒนาแรงงานในภาพรวม, มีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เช่น การปรับปรุงฐานข้อมูล นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อป้องกันการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หรือประกอบอาชีพที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อระดับประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องกฎหมายการทำงานในไทยให้แรงงานต่างด้าวรับรู้ถึงอาชีพที่สามารถทำได้ก่อนเข้ามาทำงาน หรือก่อนถูกส่งเข้าตลาดแรงงานไทย

logoline