svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดแผนรับมือน้ำเหนือ ลงลุ่มเจ้าพระยา

27 สิงหาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กรมทรัพยากรน้ำ" เสนอแผนรับมือน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา ก.ย-ต.ค.นี้ รวม 7 พื้นที่เสี่ยง พบ"พิจิตร" จุดแรกน้ำเหนือระบายลงมา แนะผันเข้าบึงสีไฟ

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล บอกว่า ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่1พ.ค.จนถึงส.ค.นี้พบว่าทั่วประเทศมีน้ำท่วมรวม 47 จังหวัด ส่วนใหญ่กลับเข้าภาวะปกติแล้วยกเว้น 4 จังหวัดคือเชียงราย นครพนม ร้อยเอ็ดและสตูลขณะที่ช่วงเดือนก.ย-ต.ค.นี้ พื้นที่ต่ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วมล้นตลิ่ง
โดยปัจจัยจากปริมาณน้ำเหนือที่ระบายลงมาจากฝนที่ตกท้ายเขื่อน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยรวม 7 พื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และกทม.ที่ต้องรับมือเพื่อเตรียมบริหารจัดการน้ำนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับกรม และระดับท้องถิ่นรับไปดำเนินการ
นายสุพจน์ บอกว่า ช่วงต้นเดือนก.ย.นี้พื้นที่แรกที่น้ำเหนือจะระบายลงมาคือพื้นที่อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งข้อเสนอคือให้ผันน้ำเข้าสู่บึงสีไฟ ที่ได้เตรียมขุดลอกไว้แล้ว ส่วนพื้นที่ที่ 2 จังหวัดนครสวรรค์ การขุดลอกทางชักน้ำจากแม่น้ำน่านไปบึงบอระเพ็ด ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ พื้นที่ที่ 3 ลุ่มน้ำสะแกกรัง อุทัยธานี มีความจุลำน้ำ 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต้องเร่งกำจัดวัชพืช และระบายน้ำส่วนเกินผ่านคลองมะขามเฒ่าอู่ทองและประตูระบายน้ำพลเทพ และผันน้ำเข้าสู่ทุ่งมหาราช ที่รับได้ 643 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนช่วงต.ค.นี้พื้นที่เฝ้าระวังอยู่ที่เจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสิงห์บุรี จะต้องเร่งตรวจสอบคลองชัยนาท-ป่าสักให้พร้อมใช้งานเช่นเดียวกับอ่างทองและสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยาต้องตรวจสอบอาคารควบคุมน้ำของโครงการรังสิตเหนือและรังสิตใต้ให้อยู่สภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานเพื่อป้องกันท่วมเขตชุมชน

logoline