svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

รื้อแอดมิชชั่นส์ใช้ระบบใหม่

26 สิงหาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากกระทรวงศึกษาธิการใช้ระบบแอดมิชชั่นส์เพื่อคัดเลือกเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 10 ปี ล่าสุดได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมปรับระบบคัดเลือกใหม่และอาจจะยกเลิกการใช้ระบบแอดมิชชั่นส์ ไปติดตามกับรายงานกัน

จากอดีตระบบการสอบคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยของไทย ใช้ระบบการสอบแบบเอนทรานซ์ ซึ่งเป็นระบบเดิมที่เคยใช้มานานกว่าเกือบ 50 ปี จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นระบบแอดมิชชั่นส์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับระบบการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะเป็นการปรับระบบรับตรงกลางร่วมกัน หรือที่เรียกว่า เคลียร์ริ่งเฮาส์ที่นอกจากจะเปิดรับสมัคร 2 รอบแล้ว ยังเป็นการนำข้อดีของทั้งระบบเอนทรานซ์เดิมและแอดมิชชั่นส์มาใช้ เพื่อแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบของนักเรียน และลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา เรามาตรวจสอบกันว่าระบบใหม่ที่จะนำมาใช้เหมือนหรือแตกต่างจากระบบเดิมอย่างไร
ในระบบเอนทรานซ์เดิม เด็กที่จบม.6 หรือเทียบเท่า สามารถเลือกคณะวิชาที่อยากเข้าเรียนได้ 4 อันดับ โดยจะสอบเพียงครั้งเดียว ขึ้นอยู่กับวิชาบังคับของคณะที่เราเลือกว่าคณะนั้นๆ ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง ไม่มีการแก้ตัว หลังจากสอบเสร็จก็รอวันประกาศผลว่าเอ็นท์ติดคณะที่ต้องการหรือไม่
ขณะที่ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันมี 2 รูปแบบคือ แอดมิชชั่นส์ ซึ่งประกอบไปด้วย ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ร้อยละ 30 คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย หรือ จีแพ็กซ์ ร้อยละ 20 และความถนัดทั่วไป หรือแกต และความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ แพต โดยสัดส่วนการใช้แกตและแพตนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคณะแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด
จุดเด่นของระบบนี้คือเด็กสามารถสอบได้หลายครั้ง และทดลองสอบได้ตั้งแต่ ม.5 ถ้าได้คะแนนไม่ดีสามารถสอบใหม่ได้ โดยนำคะแนนที่คิดว่าดีที่สุดไปเลือกมหาวิทยาลัยและคณะวิชาที่ต้องการในภายหลังได้ รูปแบบที่ 2 คือ การรับตรงผ่านระบบเคลียร์ริ่งเฮาส์
ส่วนระบบการคัดเลือกใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี2561นั้น กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยหรือทปอ. มีแนวคิดที่จะนำมาใช้แทนระบบแอดมิชชั่นส์ มีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพื่อให้เด็กมีเวลาอยู่ในชั้นเรียนมากขึ้น
แนวทางเบื้องต้นของระบบใหม่นี้จะเปิดรับนักศึกษาด้วยระบบรับตรงกลางร่วมกัน ซึ่งเด็กสามารถนำคะแนนไปยื่นเพื่อเลือกคณะวิชาที่ต้องการได้ 4 อันดับ จากนั้นคะแนนจะถูกส่งมาที่ส่วนกลางเพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ โดยระบบเคลียร์ริ่งเฮาส์จะทำ 2 ครั้ง ซึ่งสามารถรับเด็กได้ร้อยละ 90 ส่วนเด็กที่สอบไม่ติด สามารถไปสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่ยังมีที่นั่งว่างได้อีก ซึ่งถ้าระบบใหม่เป็นไปตามเป้า อนาคตอาจจะยกเลิกระบบแอดมิชชั่นส์ ก่อนเปิดรับสมัครในระบบใหม่ ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องประกาศเกณฑ์รับนักศึกษา กติกาต่างๆ จำนวนการรับแต่ละคณะ แต่ละสาขาล่วงหน้า เพื่อให้เด็กได้ประเมินตัวเองได้ถูกต้อง ว่าจะเลือกคณะวิชาและมหาวิทยาลัยใด อีกทั้งมหาวิทยาลัยจะไม่มีปัญหารับเกินจำนวนเหมือนที่ผ่านมา

logoline