svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศธ.เชื่อเคลียริ่งเฮ้าส์ 2 รอบ แก้เด็กวิ่งรอกสอบ-เสียค่าใช้จ่ายมาก

26 สิงหาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเปิดรับ เด็กเข้าเรียนผ่าน ระบบเคลียริงเฮาส์ของ สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) กว่า 4 แสนคน แต่เข้าเรียนผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือ แอดมิชชั่นส์ เพียง 1 แสนคน ดังนั้นจึงมีการหารือ เพื่อปรับปรุงระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้กติกาว่า เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ไม่เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งระบบการสอบรับตรงร่วมกัน จะช่วยแก้ปัญหา.0การสอบในอนาคต จะจัดในช่วงเวลาเดียวกัน หลังจากเด็กเรียนจบชั้นม.6 แล้ว มีสนามสอบกระจายทั่วประเทศ จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ( สทศ.)

อีกทั้งมหาวิทยาลัยจะต้องเปิดเผยข้อมูล และองค์ประกอบที่ใช้ในการรับเด็กเข้าเรียน และจำนวนที่เปิดรับ ทั้งระบบโควตา และระบบอื่น ๆ ด้วย ซึ่งวิธีนี้ อาจจะคล้ายกับระบบเอนทรานซ์เดิม แตกต่างกันตรงที่เด็กจะรู้คะแนนล่วงหน้า และเลือกสมัครเรียนในคณะ/สาขา ที่คะแนนสามารถเข้าเรียนได้ และเด็กก็จะถูกคัดเลือกโดยมหาวิทยาลัยอีกรอบหนึ่ง จากนั้นมหาวิทยาลัยจะส่งชื่อเข้าระบบเคลียริงเฮาส์ เพื่อแจ้งผลการคัดเลือกไปยังเด็ก และคนที่สามารถสอบติดหลายที่ก็จะต้องเลือกว่าจะเข้าเรียนที่ไหน ส่วนที่นั่งที่เหลือในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็จะเปิดรับสมัครเด็ก เพื่อเข้าสู่ระบบเคลียริงเฮาส์รอบ 2 เท่ากับว่า เด็กจะมีโอกาส 2 ครั้ง และสามารถเลือกสมัครเข้าเรียนได้ถึง 8 อันดับ

"ระบบเข้าเรียนต่อครั้งนี้ เด็กแทบจะไม่ต้องวิ่งรอกเลย เพราะการสมัครและยื่นคะแนน ก็จะดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ มีสนามสอบทั่วประเทศ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ที่เด็กต้องเสีย ยังไม่ได้หารือ แต่เท่าที่ดูคิดว่า เด็กจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 2 ส่วนคือ ค่าสมัครสอบในแต่ละวิชา กับค่าเคลียริ่งเฮาส์" รศ.นพ.กำจรกล่าว

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับข้อความแสดงความคิดเห็นจำนวนมากมาย ซึ่งขอให้คณะทำงานแอดมิชชั่นฟอรั่ม ซึ่งมี ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม เป็นประธานคณะทำงาน สรุปรายงานการประชุมต่อคณะทำงานแอดมิชชั่นฟอรั่ม ซึ่งจะประชุมเดือนหน้า และคาดว่าน่าจะมีการประชุมเรื่องนี้กันในการประชุม ทปอ.ครั้งต่อไป เพราะขณะนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลายมาก

โดยส่วนตัวเห็นว่า ควรต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาประชุมร่วมกันทั้ง นักเรียน ผู้ปกครอง มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก เพราะอาจสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับมหาวิทยาลัยที่มีขนาดแตกต่างกัน ขณะเดียวกันการใช้ข้อสอบกลางร่วมกันทั้งวิชาสามัญ 9 วิชา และ GAT/PAT เป็นข้อเสนอของ ทปอ.และ ทปอ.ก็เห็นด้วย แต่ที่เป็นห่วงคือการที่ไม่มีคะแนนจากโรงเรียน ทั้ง คะแนนโอเน็ตและคะแนนจีแพ็กซ์ เด็กก็จะมุ่งสอบและกวดวิชา 9 วิชาและ GAT/PAT มากขึ้น และจะทำให้ปัญหาการทิ้งห้องเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามแก้ไขมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามเมื่อแอดมิชชั่นฟอรั่มสรุปการประชุมกับ ศธ.แล้ว และ ทปอ.จะขอเข้าพบ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อหารือและสะท้อนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีกครั้ง
นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.)นครราชสีมา ในฐานะประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า ทปสท.เห็นด้วยกับระบบดังกล่าว และคิดว่า จะเป็นประโยชน์มากกว่าระบบคัดเลือกแบบเดิม ซึ่งทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงจำนวนมาก เด็กต้องเตรียมตัว เพื่อสอบรับตรงตั้งแต่ม.5 ทำให้เป็นภาระ ทำให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ และเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
ทั้งนี้ ในส่วนมรภ.เอง หากรับเด็กผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์ คงไม่กระทบมากนัก เพราะปัจจุบัน ก็รับเด็ก ที่หลังจากมหาวิทยาลัยรัฐอยู่แล้ว อีกทั้งมรภ. เองก็คงต้องปรับตัว เพิ่มคุณภาพ และเน้นจัดการเรียนการสอนในสาขาที่ถนัดและมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น เพื่อให้เด็กเลือกสมัครเข้าเรียน

logoline