svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชาวบ้านป่าสักงาม ค้านตัดไม้สร้างรัฐสภา ยันรักษาป่าต้นน้ำ

22 กรกฎาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้ใหญ่บ้านป่าสักงาม ดีใจนายกรัฐมนตรีสั่งยกเลิกตัดต้นสักไปสร้างอาคารรัฐสภา ระบุพื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นป่าต้นน้ำที่ผลิตน้ำหล่อเลี้ยงคนเชียงใหม่-ลำพูน ระบุออป.เข้ามาสำรวจโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ แต่เรื่องแดงหลังมีชาวบ้านพบมีการใช้สัญลักษณ์สีแดงบนต้นไม้กว่า 2,000 ต้น ชี้ทำใจลำบากที่จะเปิดทางให้ตัดต้นไม้สักที่มีอายุกว่า 30 ปี หลังจากปี 52 เคยตัดไปแล้ว 4,000 ต้น เหตุไม่มีใครสนใจเสียงคัดค้าน ขณะที่วันพรุ่งนี้รองอธิบดีกรมป่าไม้ลงพื้นที่สำรวจป่าสัก-หารือกับชาวบ้านสรุปทางออกของปัญหา



นายมณเฑียร บุญช้างเผือก ผู้ใหญ่บ้านม.1 ป่าสักงาม ต.ลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กรณีทางออป.ได้ทำการสำรวจพื้นที่ป่าในภาคเหนือ เพื่อตัดไม้ไปทำการก่อสร้างอาคารรัฐสภานั้น ขณะนี้เป็นที่น่ายินดีที่นายกรัฐมนตรีเข้าใจถึงแนวทางการอนุรักษ์ป่าต้นไม้ และได้สั่งยุติการตัดไม้ในครั้งนี้ ในฐานะที่เป็นผู้นำชุมชนที่อยู่กับป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยากให้ทำความเข้าใจว่าผืนป่าแห่งนี้นับว่าเป็นป่าที่เป็นหัวใจของชาวบ้านป่าสักงามเเป็นป่าซับน้ำแหล่งต้นน้ำให้กับลุ่มน้ำห้วยคัง พื้นที่กว่า 37,00 ไร่ และยังเป็นแหล่งสร้างอาชีพแหล่งอาหารให้กับชาวบ้านในพื้นที่ อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา เป็นแหล่งผลิตน้ำให้กับเขื่อนแม่กวงอุดมธาราที่หล่อเลี้ยงให้คนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนอีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านที่นี่รักผืนป่า เนื่องมาจากที่ผ่านมาป่าแห่งนี้เคยเป็นป่าที่ถูกทำลายจากการตัดไม้ทำลายป่าของชาวบ้านทำจนเป็นอาชีพมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 บาท แต่ชาวบ้านกลับไม่มีความสุข ต้องนำเงินที่หามาได้ไปซื้ออาหารจากพื้นที่อื่นและไม่ได้อยู่กับครอบครัว เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ไม่มีแหล่งน้ำใช้ และความหลากหลายทางธรรมชาติสูญหายไป นับว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ได้ลุกขึ้นมาฟื้นสภาพป่า จึงไม่อยากให้ทางทางองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ตัดต้นไม้ที่จะเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของชาวบ้านออกไป

ที่ผ่านมาชางบ้านป่าสักงามได้ร่วมกันดูแลผืนป่าโดยเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกของคนในชุมชนให้รักและหวงแหนป่า โดยไม่ได้คิดว่าเป็นผืนป่าของใครไม่มองว่าเป็นผืนป่าของคนอื่นเพื่อที่จะให้เป็นแนวคิดร่วมด้วยช่วยกันดูแล ซึ่งก็ได้ปลูกป่า สร้างฝาย ทำแนวกันไฟ เรื่อยมาจนป่าอุดมสมบูรณ์

สำหรับผืนป่าของบ้านป่าสักงามมีต้นไม่สักนับแสนต้น โดยต้นไม้สักที่ได้ขนาดตามความต้องการของออป.ที่คัดเลือกไว้ประมาณ 2,000 ต้น โดยที่บ้านป่าสักงามมีมากกว่า 20,000 ต้น ซึ่งแต่ละต้นนั้นมีอายุมากกว่า 30 ปี เส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 1 เมตร ความสูงกว่า 20 เมตร ที่บางต้นนั้นโตขึ้นเองตามธรรมชาติ อีกทั้งทางออป. ปลูกขึ้นมา

"ผืนป่าที่นี้ทางออป. มีการทำสัมปทานป่าตั้งแต่ปี 2521 แล้วและได้ทำการตัดไปแล้วส่วนหนึ่งในปี 2552 ไปประมาณ 4,000 ต้น และตอนนี้ได้หมดสัญญาเช่ากับกรมป่าไม้แล้ว ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอนหากจะมีการต่อสัญญาเช่าพื้นที่ป่าของ ออป. โดยที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยอยู่แล้วก็ได้มีการขัดแย้งเรื่อยมา โดยมองว่าหากมีการต่อสัญญาอีก ป่าก็จะถูกตัดหายไปอีก จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยที่ผ่านทางทางออป.เข้ามาสำรวจไม่เคยมีการประสานงานกับทางชาวบ้านแต่อย่างใด พวกเราจะรู้ได้ก็มาจากชาวบ้านเข้าไปหาของป่าและมาแจ้งว่ามีการมาทำสัญลักษณ์สีแดงไว้ที่ต้นไม้ " นายมณเฑียร

ทั้งนี้ ต้องกราบขอบคุณท่านพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้มีคำสั่งยกเลิกการใช้ไม้จากพื้นที่ป่าสักงาม อย่างไรก็ตามหากได้รับการคืนผืนป่าชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่าจะอนุรักษ์ผืนป่าอย่างเต็มที่ โดยจะทำให้เป็นป่าชุมชนและป่าต้นน้ำ และป่าเศรษฐกิจ พร้อมทั้งจัดเวรยามให้ชาวบ้านคอยดูแลป้องกันและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวคณะกรรมการโครงการพัฒนาพื้นป่าแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และชุดปฏิบัติภารกิจบ้านป่าสักงาม ป.พัน7 เทศบาลตำบลลวงเหนือทำงานกันเป็นเครือข่าย ที่ช่วยกันดูแลรักษาป่าร่วมกัน

นายนิวัฒน์ อุ้มนาง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านม.1 บ้านป่าสักงาม ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ที่ทางออป.เลือกผืนป่าบ้านป่าสักงามในการตัดไม้สักเพื่อนำไปสร้างรัฐสภานั้น ชาวบ้านในพื้นที่ได้ขอให้พื้นที่ป่าจำนวน 1,972 ไร่ ไม่ให้ทำการตัด เนื่องจากผืนป่าแห่งนี้เป็นผืนป่าซับน้ำและเป็นต้นน้ำที่อยู่คู่กับชาวบ้านนานกว่า 100 ปี และเพิ่งจะได้รับการฟื้นฟูมาได้ประมาณ 30 ปี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหมู่บ้านป่าสักงามเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่โครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯท รงมีพระราชดำรัสให้จัดตั้งให้เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าชุมชนขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระชาดำริตั้งแต่ปี 2535 และถูกประกาศกันออกจากพื้นที่ป่าทำให้ชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือนได้มีการอนุรักษ์ผืนป่าตั้งแต่นั่นมา และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเขตุป่า

ก่อนหน้าที่จะดำเนินการตามพระราชดำรัสนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ได้หารายได้จากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า แต่เมื่อเข้าโครงการพระราชทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความหวงแหนและรักป่าเป็นอย่างมาก โดยมองว่าหากผืนป่าไม้สักที่บ้านป่าสักงามแห่งนี้ถูกตัดไปจริงเป็นเรื่องที่น่าใจหาย จะทำให้ชาวบ้านที่นี่ไม่มีแหล่งน้ำใช้รวมถึงไม่มีน้ำเข้าเขื่อนแม่กวง จะส่งผลกระทบให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนอีกด้วย

นายวินชัย ปันใจ ชาวบ้านม.1ป่าสักงาม ต.ลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้ช่วยกันดูแลป่าโดยการจัดเวรยามออกลาดตระเวนป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า ซึ่งชาวบ้านที่นี่รักผืนป่าแห่งนี้มาก เนื่องจากที่ผ่านมาเคยได้รับบทเรียนจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้ไม่มีแหล่งน้ำไม่มีแหล่งอาหารและที่สำคัญไม่มีความสุข

"ไม่อยากจะให้กลับมาเป็นแบบเดิมอีกแล้ว หลังจากที่ได้รับบาทเรียนนี้และดำเนินตามแนวพระราชดำรัส ทำให้ชาวบ้านได้กลับมาร่วมกันดูแลรักษาผืนป่าอีกครั้งโดยตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีการตัดไม้ทำลายป่าเลยทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้มีแหล่งอาหารแหล่งน้ำ ดำเนินชีวิตอยู่กับป่าโดยไม่ต้องออกไปทำทาหากินในเมืองได้แบบมีความสุข" นายวินชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ค) นายประลอง ดำรงค์ชัย รองอธิบดีกรมป่าไม้ จะลงพื้นที่บ้านป่าสักงาม อ.ดอยสะเก็ด เพื่อเข้าสำรวจพื้นที่ป่าทั้งหม ดพร้อมทั้งชี้แจงสรุปแนวทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องและชาวบ้านในพื้นที่ โดยทางผู้ใหญ่บ้านป่าสักงามได้เตรียมเสนอให้เป็นพื้นที่ป่าชุมชนด้วย

logoline