svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กทม.ทุ่มงบกว่า 4.8 หมื่นล้าน เก็บสายไฟลงใต้ดิน

30 มิถุนายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล - 29 มิ.ย. 59 - "กทม."ลงนามเอ็มโอยู"กฟน."เปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศลงใต้ดิน ทุ่มเงินกว่า 4.8 หมื่นล้าน ตั้งเป้าแล้วเสร็จใน 5 ปี หวังเปลี่ยนโฉมใหม่กรุงเทพฯ


นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมแบบอากาศเป็นระบบสายใต้ดิน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ โดยมีนายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และพล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ที่ปรึกษา (สบ.10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการการไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานในพิธีลงนาม ร่วมพิธีเปิดและลงนามความร่วมมือ
นายภัทรุตม์ กล่าวว่า ความสำคัญของกทม.คือสร้างเมืองให้มั่นคงในการบริการพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบระบายน้ำ เส้นทางการสัญจร ซึ่งโครงการฯ นี้เกี่ยวเนื่องกับกทม.โดยตรง การร่วมลงนามในการทำงานครั้งนี้นับเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอีกด้วย

กทม.ทุ่มงบกว่า 4.8 หมื่นล้าน เก็บสายไฟลงใต้ดิน


ด้านนายกฤษฎา กล่าวว่า การดำเนินโครงการกฟน. จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยการประสานกับกทม.เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้พื้นที่ดำเนินโครงการ ประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขปัญหาสายสื่อสารที่มีหน่วยงาน อาทิ สำนักงาน กสทช. และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อให้การทำงานสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลได้สั่งการให้เร่งดำเนินการนำสายไฟฟ้าลงดินให้แล้วเสร็จจากเดิมมีระยะเวลา 10 ปี ให้ลดระยะเวลาเป็น 5 ปี โดยระหว่าง 5 ปีนี้สายไฟฟ้าที่ยังไม่ฝังลงดินให้จัดสายไฟฟ้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อยต่อไป

ขณะที่นายสมชาย กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินที่ผ่านมา กฟน.ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการขอเข้าพื้นที่ของ กทม.และขอใช้ผิวการจราจรร่วมทั้งการขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกเพื่อลดผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ได้มีการทำงานร่วมกัน ทำให้การเข้าพื้นที่เกิดความล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการข้อเข้าพื้นที่แต่ละจุด และกฟน.ไม่ได้มีการวางแผนเป็นภาพร่วม

กทม.ทุ่มงบกว่า 4.8 หมื่นล้าน เก็บสายไฟลงใต้ดิน


ดังนั้นหลังจากที่ข้อตกลงร่วมกันแล้วจะทำให้การทำงานสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น กฟน.สามารถเสนอแผนการทำงานและการขอเข้าพื้นที่แก่กทม.เป็นภาพร่วมขนาดใหญ่ว่าทแต่ละโครงการจะใช้พื้นที่ใดบ้าง โดยภายหลังจากได้รับอนุญาตแล้วก็จะทำแต่ละจุดไปพร้อมๆ กันซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเสนอแผนใหม่ ด้านความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) จากที่ผ่านมาสามารถปิดผิวการจราจรบางส่วนเพื่อก่อสร้างในช่วงเวลา 22.00น.-05.00 น.เท่านั้น โดยจากการหารือทางตำรวจจราจรจะมีการพิจารณาเวลาการเข้าทำงานให้กฟน.เพิ่มเติม แต่จะต้องพิจารณาจากกายภาพถนน ปริมาณการจราจรเป็นหลัก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

กทม.ทุ่มงบกว่า 4.8 หมื่นล้าน เก็บสายไฟลงใต้ดิน


นายสมชาย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มีนโยบายให้กฟน.ปรับปรุงสายไฟฟ้าบนดินที่ยังไม่มีแผนนำลงดิน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยตั้งแต่ต้นในปี 2559 ที่ผ่านมากฟน.ได้เริ่มทยอยจัดระเบียบไปแล้วโดยระยะแรกจะทำในถนนงามวงศ์วาน ถนนสาทร ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนศรีนครินทร์ ทั้งนี้ การปรับปรุงจัดระเบียบสายไฟบนดินนั้นกฟน.จะพิจารณาจากเส้นทางที่นอกเหนือจากโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงานกฟน.วางแผนไว้ว่าการจัดระเบียบสายไฟฟ้าบนดินทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จะต้องเสร็จภายใน 5 ปี โดยการเข้าไปจัดระเบียบสายไฟหรือสายสื่อสารต่างๆ ซึ่งกฟน.จะกำหนดโค๊ดสีว่าสายใดเป็นของใครและใช้สีอะไรเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมามีการลักลอบนำมาพาดเกี่ยวทำให้ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายและเป็นอันตรายกฟน.จะต้องรีบแจ้งให้เอาออกและดำเนินการขออนุญาติให้ถูกต้อง

"อย่างไรก็ตามโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ที่กฟน.กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ จิตรลดา ปทุมวัน และพญาไท จะเพิ่มเติมที่นนทรี พระราม 3 รัชดาภิเษก-พระราม 9 ซึ่งรวมเส้นทาง 127.3 กม. โดยใช้เงินในการดำเนินการรวมทั้งสิ้น 48,717 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 10 ปี ระหว่างปีอ2559-2568"นายสมชาย กล่าว

logoline