svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จี้ทบทวน! ขยายรันเวย์สนามบินภูเก็ตลงทะเล

29 มิถุนายน 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการด้านทะเลชี้ผลกระทบถมทะเล 1 กิโลเมตรขยายรันเวย์สนามบินภูเก็ต เสี่ยงหายนะรุนแรง เสนอยกเลิกแนวคิด หากยังเดินหน้าต่อ เตรียมทำหนังสือคัดค้าน ในนามสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเล


กรณีที่นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมว.คมนาคม แนวคิดที่จะผลักดันการขยายรันเวย์สนามบินภูเก็ตลงทะเลอีก 1กิโลเมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในกลุ่มนักวิชาการด้านทะเล และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้น โดยดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านผ่านทางเฟสบุ๊ค
โดยระบุว่า "เพราะทะเล คือหัวใจของภูเก็ต การสร้างรันเวย์ลงทะเลยาว 1 กิโลเมตรเปรียบเสมือนการตอกลิ่มลงกลางหัวใจ ผมมั่นใจว่าเรามีทางเลือก และการถมทะเลสร้างสนามบินไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย แต่เป็นทางที่ไม่ควรเป็นแม้แต่ทางเลือก จึงอยากขอให้คิดทบทวนใหม่ #เพราะมันเกินไปหากเราคิดฆ่าทะเล"

จี้ทบทวน! ขยายรันเวย์สนามบินภูเก็ตลงทะเล


ดร.ธรณ์ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการถมทะเลระยะทาง 1 กิโลเมตร เพราะจะเกิดผลกระทบที่รุนแรงโดยเฉพาะความยาว ที่ยื่นลงทะเลเป็นแนวตรงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการไหลของกระแสน้ำทะเลจนเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงเป็นวงกว้างมากกว่า 5-10 กิโลเมตรในจุดใกล้เคียง ขณะที่บริเวณหาดไม้ขาวและหาดในยาง เป็นจุดวางไข่ของเต่ามะเฟือง และแนวปะการังที่ จะได้รับผลกระทบจากตะกอนในระหว่างก่อสร้าง
ดังนั้น จึงคิดว่าไม่ควรต้องใช้งบ 10-20 ล้านบาทมาศึกษาเพราะโครงการนี้ไม่ควรเกิดขึ้น และไม่สามารถมีมาตรการลดผลกระทบใดๆ หากยังมีการผลักดันต่อ จะหารือกับนักวิชาการทางทะเลร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านในนามสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทยต่อไป
นอกจากนี้ ยังพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น นายศศิน เฉลิมลาภ ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ รวมทั้งในกลุ่มนักวิชาการด้านปะการังของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

จี้ทบทวน! ขยายรันเวย์สนามบินภูเก็ตลงทะเล


https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat
ล่าสุด ในวันนี้ ดร.ธรณ์ได้โพสต์ข้อมูลลงเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า มาดูแผนที่ให้ชัดว่าถ้าเราทำรันเวย์สนามบินภูเก็ตยื่นไปในทะเล 1 กิโลเมตร จะเกิดอะไร ? #ทะเลไม่ได้มีไว้ให้ถม และจากภาพดาวเทียมจะเห็นแนวปะการัง (เส้นประสีเหลือง) ของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ห่างไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร จะต้องโดนผลกระทบเต็มๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งระหว่างการก่อสร้าง (ตะกอน ฯลฯ) และเมื่อสร้างเสร็จ (กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ฯลฯ) ยังมีผลด้านอื่นๆ ทั้งกัดเซาะชายฝั่งที่วางไข่สัตว์สงวน (ขอหาดไม้ขาวให้เต่ามะเฟือง) และเต่าทะเลอื่น รวมถึงชายหาดที่เป็นธรรมชาติแห่งสุดท้ายของภูเก็ต (อุทยานสิรินาถ - หาดในยาง) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงรุนแรงและไร้ทางหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะศึกษา EIA ให้ดีปานใด เพราะสถานที่ตั้งไม่เหมาะสมตั้งแต่แรก
"ผมมั่นใจว่าเรามีทางเลือกดีกว่านี้ แม้อาจต้องลำบากนิดหรือไกลหน่อย แต่มันคุ้มค่าแน่นอนเมื่อเทียบกับการถมทะเล" นักวิชาการด้านทะเลรายนี้ กล่าว
ดร.ธรณ์ ยังบอกว่า นี่ไม่ใช่การคัดค้านความเจริญ แต่เป็นการสนับสนุนความเจริญที่มาพร้อมกับความ "มั่นคง" ด้านทรัพยากร ความ "มั่งคั่ง" ที่เกิดจากการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างรอบคอบ และความ "ยั่งยืน" ของการเก็บทะเลในอุทยานแห่งชาติให้เป็นสมบัติของลูกหลาน

logoline