svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ก.ศึกษา แจงข้อสอบโอเน็ตไม่ผิด

10 กุมภาพันธ์ 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงศึกษาธิการ แจงข้อสอบโอเน็ตไม่ผิดพลาด ยันว่อนโลกโชเชียลมีเพียงข้อสอบปีนี้เพียงข้อเดียว ผุดไอเดีย นำตัวอย่างข้อสอบ เปิดเผยรายละเอียด สเปคของข้อสอบ ให้เด็กได้ทราบล่วงหน้า พร้อมมอบสกศ.ประเมินการทดสอบของ สทศ. พัฒนาการทดสอบต่างๆ ให้มีมาตรฐาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ พร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ( สทศ.) แถลงหลังพบการเผยแพร่ข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ทางโซเชียลมีเดีย โดย นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า ข้อสอบที่เผยแพร่และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นข้อสอบโอเน็ตที่ใช้สอบในปีการศึกษา 2558 นั้น จริงๆ แล้วมีเพียงข้อสอบวิชาสังคม ที่ถามเกี่ยวกับกฎหมายไทย ข้อเดียวเท่านั้นที่เป็นข้อสอบโอเน็ตของปีนี้ ส่วนข้อสอบที่เหลือที่เผยแพร่กันไม่ใช่ข้อสอบโอเน็ตปีนี้แต่เป็นปีอื่นๆ


แต่ทั้งนี้ ก็ยอมรับในภาพรวมว่าข้อสอบของสทศ.ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ที่เพิ่งประกาศผลสอบไป พบว่าแต่ละวิชาเด็กได้คะแนนต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 คะแนน มีเพียงวิชาภาษาไทยที่ได้คะแนนเกินครึ่งวิชาเดียว โดยได้คะแนนอยู่ที่ 56.65 คะแนน ซึ่งการออกมาชี้แจงครั้งนี้ไม่มาจะแก้ตัวอะไร แต่ออกมาบอกว่าจะมีการปรับปรุงทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำคือการกำหนดมาตรฐานหลักสูตร กลางน้ำ การจัดการเรียน การสอน และปลายน้ำคือการวัดประเมินผล

เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ แต่เกิดมานานและเป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งผลคะแนนเฉลี่ยของเด็กที่ออกมาไม่ต่างอะไรกับการเดา ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันวิเคราะห์ว่าเกิดความผิดพลาดจากจุดใด และจากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า ปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่การเขียนมาตรฐานหลักสูตรที่มีขอบเขตกว้างขวาง ไม่มีรายละเอียดชัดเจน ส่งผลต่อการออกข้อสอบที่บางครั้งคำถามไม่ชัดเจน


ซึ่งหลังจากนี้ผู้รับผิดชอบการเขียนหลักสูตรต้องไปปรับปรุง และการสอบทุกชนิดต้องมีการเปิดเผยรายละเอียด สเปคของข้อสอบ ว่าจะสอบเรื่องอะไรแบบไหนอย่างไร พร้อมนำตัวอย่างข้อสอบ ให้เด็กได้ทราบล่วงหน้า ไม่ใช่ให้ต้องมาเซอร์ไพรส์ในวันสอบ รวมทั้งสทศ.จะต้องประเมินความยาก ง่ายของข้อสอบก่อนสอบ ไม่ใช่ประเมินหลังสอบ" นพ.ธีระเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งมีหน้าที่ประเมินผลการศึกษาของประเทศ เชิญนักวิชาการ ตลอดจนสถาบันทดสอบที่ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ อาทิ สิงคโปร์ อังกฤษ มาประเมินการทดสอบของ สทศ. เพื่อพัฒนาการทดสอบต่างๆ ให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับต่อไป อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ตนหวังว่า เมื่อมีการปรับระบบการออกข้อสอบแล้ว เรื่องแบบนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หากเกิดขึ้นจะต้องมีคนรับผิดชอบ


ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบเบื้องต้นข้อสอบโอเน็ต จัดสอบ เมื่อวันที่ 6-7 ก.พ.2559 ที่ผ่านมา ยังไม่มีข้อไหนผิดพลาด ส่วนข้อสอบวิชาสังคม คำถามที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ก็ไม่ตรงกับคำถามจริงข้อสอบ โดยในโซเชียล ถามว่า ข้อใดไม่ใช่กฎหมายไทย ขณะที่คำถามจริงถามว่า ข้อใดต่อไปนี้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายไทย ส่วนคำตอบที่ถูกต้องมีเพียงข้อเดียวคือ ข้อ 5 ที่ตอบว่า


นายเดือนหมิ่นประมาทชาวไทยด้วยกันในขณะท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะถือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ต้องใช้กฎหมายในประเทศญี่ปุ่น ส่วนข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา เป็นข้อสอบที่ใช้ในการในการคัดเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย จึงต้องมีความยากกว่าข้อสอบโอเน็ต


ยอมรับว่า ข้อสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ปีนี้ ยากกว่าปกติ มีอัตราการจำแนกต่ำ ทำให้คะแนนออกมาต่ำ อย่างไรก็ตาม ต่อไป สทศ. จะต้องไปพัฒนาข้อสอบ ให้มีความยากที่เหมาะสม ไม่ยากหรือง่ายเกินไป สามารถคัดเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ตรงตามความต้องการและสามารถเรียนได้

logoline