svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เผยหอวัฒนธรรม"อุตรดิตถ์"อายุกว่า 100 ปี "ถูกทิ้งร้าง"

08 ตุลาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หดหู่ใจ! หอวัฒนธรรมอายุกว่า 100 ปี แหล่งเก็บ-เรียนรู้โบราณวัตถุ วิถีชีวิต ตั้งกลางเมืองติดจวนผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ ถูกทิ้งร้าง ผุพัง แหล่งเสื่อมโทรมกลางเมือง

วันที่ 8 ตุลาคม  58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ นักศึกษา และนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจศึกษาวัฒนธรรม โบราณวัตถุสำคัญ ที่ถูกเผยแพร่ตามสื่อสิ่งพิมพ์ -อินเทอร์เน็ต ต่างผิดหวังและเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาบูรณะซ่อมแซม หอวัฒนธรรมจังหวัดอุดรดิตถ์อายุกว่า 100 ปี ที่สภาพปัจจุบันตรงกันข้ามกับภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปโดยสิ้นเชิง ลักษณะคล้ายถูกปล่อยทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน จนเสื่อมโทรม ผุพัง จนไม่มีใครกล้าเข้าไปเที่ยวชม ทั้งๆที่ตั้งอยู่กลางใจเมืองอุตรดิตถ์ ติดจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงประสาน นายประพัฒน์ กุสุมานนท์ ข้าราชการบำนาญ อดีตประธานสภาวัฒนธรมจังหวัดอุตรดิตถ์ อายุ 80 ปี พาเข้าชมอาคารหอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์หลังดังกล่าว ตั้งอยู่ถนนแปดวา ต.ท่าอิฐ อ.เมือง ถึงกับตะลึงและตกใจกับสภาพที่พบเห็น

เผยหอวัฒนธรรม"อุตรดิตถ์"อายุกว่า 100 ปี "ถูกทิ้งร้าง"

เผยหอวัฒนธรรม"อุตรดิตถ์"อายุกว่า 100 ปี "ถูกทิ้งร้าง"


เนื่องจากลานหน้าอาคารและโดยรอบ จากที่อดีตเคยเป็น ลานวัฒนธรรม สถานที่จัดกิจการ งานสำคัญ ปัจจุบันกลายเป็น คิวจอดรถสองแถว ตัวอาคารเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ยกพื้นสูงประมาณ 1 ศอก ฝาไม้ตีซ้อน หน้าต่างเป็นบานเกล็ดกระทุ้งอยู่ในบานหน้าต่างใหญ่ สามารถเปิดได้ทั้งบาน ด้านหน้ามียื่นมุขหักมุมรูปหกเหลี่ยม ด้านล่างของมุมปล่อยโล่ง มีการตกแต่งบัวหัวเสาประกอบกับการใช้ไม้โค้ง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลักษณะสถาปัตยกรรมของโรมัน แต่มีการฉลุลวดลายไม้เพิ่มเติม

เผยหอวัฒนธรรม"อุตรดิตถ์"อายุกว่า 100 ปี "ถูกทิ้งร้าง"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าอาคารกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่เต็มที บันไดทางขึ้นแตกหัก การย่างก้าวเข้าไปด้านในอาคารต้องเบาๆ เนื่องจากพื้นเริ่มพุ ปลวกกัดกิน ข้าวของด้านในกระจัดกระจาย สกปรกเต็มไปด้วยฝุ่น ฝ้าเพดานพุพังจนเห็นคานไม้ชั้นในบางจุดถึงกับต้องใช้ไม้ไผ่ค้ำยันคานไม้เอาไว้เพื่อไม่ให้ถล่มหรือทรุดตัวลงมา บ่งบอกถึงความไม่ปลอดภัยของอาคารแห่งนี้

เผยหอวัฒนธรรม"อุตรดิตถ์"อายุกว่า 100 ปี "ถูกทิ้งร้าง"


นายประพัฒน์ กล่าวว่า หอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ มีอายุกว่า 100 ปี สร้างขึ้นขุนพิเนตรจีนภักดิ์ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เป็นนายภาษีอากรเมืองอุตรดิตถ์ ได้แนวคิดหรือลอกเลียนรูปแบบบางส่วนมาจากพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งเป็นอาคารไม้สักทองที่สวยงามมากในพระราชวังดุสิต ต่อมา ใช้เป็นเรือนรับรองข้าราชการผู้ใหญ่ จัดตั้งเป็นหอวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยได้รับรางวัลดีเด่นอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยประจำปี พ.ศ.2537 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมถ์ เป็นศูนย์รวมโบราณวัตถุที่สำคัญของชาวอุตรดิตถ์เหมาะแก่การศึกษาค้นคว้าและเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์อยู่หลายชิ้นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่มีที่ใดเหมือน

เผยหอวัฒนธรรม"อุตรดิตถ์"อายุกว่า 100 ปี "ถูกทิ้งร้าง"


ชั้น 1 จัดแสดงวิถีชีวิต สิ่งของเครื่องใช้ และภาพรวมของคนไทยดั่งเดิม โดยมีฆ้องใจ แขวนอยู่ หากใครเข้าชมเกิดสงสัยสิ่งใด สามารถเขียนข้อความใส่ลงไป จะมีผู้รู้คอยให้คำตอบ ชั้นที่ 2 มีห้องก่อนประวัติศาสตร์ ที่จัดเก็บเครื่องปั้นดินเผา สมัยบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แสดงถึงที่มาของจังหวัดอุตรดิตถ์, ห้องจัดแสดงยุคเชื่อมระหว่างอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น ตู้เก็บคัมภีร์ลายรดน้ำ สมัยอยุธยาตอนกลาง เก็บคัมภีร์ยาและสมุนไพร รวมถึงบทสวดมนต์ บทสวดเจริญภาวนากรรม เป็นภาษาไทยใหญ่ไทยน้อย พระพุทธรูปไม้สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญอย่างยิ่ง

เผยหอวัฒนธรรม"อุตรดิตถ์"อายุกว่า 100 ปี "ถูกทิ้งร้าง"


โดยมีรูปหล่อเทวดากะไหล่ทอง เนื้อสัมฤทธิ์ ใช้สำหรับพิธีดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จหัวเมืองฝ่ายเหนือมาที่จังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ.2444 หรือ 114 ปีที่ผ่านมา โดยนำรูปหล่อเทวดากะไหล่ทองมาด้วย เพื่อให้ข้าราชบริพารดื่มพร้อมปฏิญาณตน โดยมีกริชหรือมีดสั้น ตราชื่อจังหวัดอุตรดิตถ์ และวางบนเมืองทั้งสองข้างของรูปเทวดาแต่ปัจจุบันหายไปแล้ว ปัจจุบันมีมีดเหล็กน้ำพี้มาวางแทน และยังมีเครื่องปั้นดินเผายุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีกจำนวนมาก และของเก่าแก่ที่หาดูยากในยุคปัจจุบันนี้

เผยหอวัฒนธรรม"อุตรดิตถ์"อายุกว่า 100 ปี "ถูกทิ้งร้าง"


เดิมที่สิ่งของวัตถุโบราณที่ตั้งโชว์ภายในหอวัฒนธรรมจะมีเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยถูกปล่อยร้าง เจ้าของที่นำมาบริจาค หรือมอบให้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ได้นำกลับไปเก็บรักษาดังเดิม เพราะความไม่ปลอดภัย ปัจจุบันคงเหลือชิ้นใหญ่ๆ ที่ถูกฝุ่นจับ ไม่สวยงาม ทั้งๆที่เป็นโบราณวัตถุทรงคุณค่าของจังหวัดอุตรดิตถ์และประวัติศาสตร์ไทย อาคารตั้งกล่าวตั้งอยู่กลางเมืองติดสถานศึกษา ที่สำคัญติดกับบ้านพักผู้ว่า.จ.อุตรดิตถ์และรองผู้ว่าฯจ.อุตรดิตถ์ แต่สภาพปัจจุบันทรุดโทรมเป็นอย่างยิ่ง แทบจะไม่หลงเหลือความสวยงามและความโดเด่นภายในตัวอาคารแห่งนี้ให้เห็นเลย ทั้งที่เป็นสมบัติอันยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของคนอุตรดิตถ์นายประพัฒน์ กล่าว

เผยหอวัฒนธรรม"อุตรดิตถ์"อายุกว่า 100 ปี "ถูกทิ้งร้าง"


นายประพัฒน์ กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบดูแลและพัฒนาหอวัฒนธรรม ซึ่งเป็นศูนย์รวมแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และแหล่งท่องเที่ยวไม่อยากเห็นอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมเพราะขาดการพัฒนา หากไม่มีหน่วยงานใดต้องการ อยากให้ส่งมอบเป็นสมบัติให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เพื่อทางสถาบันจะได้นำไปพัฒนาพร้อมให้นักศึกษาเข้าทำกิจกรรมภาควิชาเกี่ยวกับวัฒนธรรมโดยตรง ดีกว่าปล่อยทิ้งร้างไป

logoline