svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ต่างฝ่ายต่างโบ้ยโยนเผือกร้อนปัญหาภูทับเบิก

06 ตุลาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียลมีเดียถึงเรื่องการก่อสร้างรีสอร์ทที่ภูทับเบิก ทำให้ธรรมชาติต้องถูกทำลาย ทีมข่าวเนชั่นติดต่อสัมภาษณ์ คุณนิภารัตน์ ประพฤติ ผอ.ศูนย์พัฒนาชาวเขา จ.เพชรบูรณ์ เพื่อสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นมาอย่างไร

คุณนิภารัตน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2509 ได้มีมติของทางคณะรัฐมนตรีให้กันพื้นที่บริเวณภูทับเบิกออกจาก 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก, เพชรบูรณ์ และ เลย แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีขนาด 107,500 ไร่ โดยมีนโยบายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขา และเรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า "นิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาในจังหวัดเพชรบูรณ์" 
"นิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาในจังหวัดเพชรบูรณ์" เป็นพื้นที่ที่ไม่มีกฏหมายบังคับใช้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็น ป่า มีความสูงชัน เป็นภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อน บางพื้นที่เป็นแม่น้ำ ลำธาร และด้วยความหลากหลายของชนเผ่า ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวมีการสู้รบระหว่างผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล จึงไม่สามารถตราพระราชกฤษฎีกาให้เป็นนิคมสร้างตนเองได้
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2509 ทางศูนย์พัฒนาชาวเขาได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 ได้เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เริ่มมีการก่อสร้างรีสอร์ทเกิดขึ้น โดยแรกเริ่มมีเพียงเอกชน 1 ราย และชาวเขาอีก 2 ราย 
ต่อมาในปีพ.ศ. 2553 ทางศูนย์พัฒนาชาวเขาได้ยื่นหนังสือแจ้งเตือนให้เจ้าของรีสอร์ททำการรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง แต่ทั้ง 3 รายก็ไม่ได้ปฎิบัติตามแต่อย่างใด เป็นเหตุทางศูนย์พัฒนาชาวเขาต้องแจ้งความดำเนินคดีกับทั้ง 3 รายในปีต่อมา ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจในการกระทำของทางศูนย์พัฒนาชาวเขาที่แจ้งจับพวกเขา เหมือนแม่แจ้งจับลูก ซึ่งชาวเขาทุกคนมีบัตรประชาชนถูกต้องตามกฏหมายแล้ว จึงมีสิทธิความเป็นพลเมืองไทยทุกประการ

ต่างฝ่ายต่างโบ้ยโยนเผือกร้อนปัญหาภูทับเบิก

ทั้งนี้ ที่ดินนิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาในจังหวัดเพชรบูรณ์ไม่ได้เป็นอุทยาน หรือป่าสงวน และถูกกันให้แยกออกมาเพื่อตั้งให้เป็นพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขา โดยบางพื้นที่ชาวบ้านบางคนก็อยู่กันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ไม่สามารถออกเป็นเอกสารสิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่ได้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถอ้างสิทธิว่าเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณที่ตนอยู่ได้ เมื่อไม่มีเอกสารสิทธิเวลามีนายทุนเข้ามาตกลงขอเช่าที่ดิน จึงจะกลายเป็นการทำธุรกิจในลักษณะการทำสัญญาเช่า หรือเป็นหุ้นส่วนกัน
ผอ.ศูนย์พัฒนาชาวเขา จ.เพชรบูรณ์ กล่าวต่อว่า ชาวบ้านหลายรายอ้างว่า การทำรีสอร์ทเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวิถีการเปลี่ยนไปของการเป็นแหล่งท่องเที่ยว จากก่อนเคยทำเกษตรกรรมก็เปลี่ยนมาทำรีสอร์ทกันมากขึ้น แต่ทางศูนย์พัฒนาชาวเขาไม่ได้เห็นด้วยแต่แรก เพราะสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ จึงได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้อบรมให้ชาวบ้านเข้าร่วม เพื่อปลูกจิตสำนึกอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าไหร่นัก
โดยหลังจากที่โลกโซเชียลได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องการทำรีสอร์ทแล้วทำลายธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเลิกไปที่ภูทับเบิก อาจก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ ทางศูนย์พัฒนาชาวเขาจึงจำเป็นต้องแจ้งความดำเนินคดีแต่ก็ไม่ได้ทำให้เหล่านายทุนและเจ้าของรีสอร์ทเลิกทำการก่อสร้างลง 
ก่อนหน้านี้เคยมีการดำเนินคดีกับเจ้าของรีสอร์ทรายหนึ่งที่สร้างในพื้นที่นิคมสร้างตนเองเพื่อสงเคราะห์ชาวเขาในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยศาลลงโทษปรับเงินจำนวน 2,500 บาท แล้วปล่อยผ่านไป ทำให้เจ้าของรีสอร์ทมีความคิดว่า "แค่ค่าเช่า 1 คืนก็ได้ 3,500 บาท โดนปรับแค่ครั้งละ 2,500 บาท ยังไงก็กำไรอยู่แล้ว" ทำให้ปัจจุบัน ยังคงมีการก่อสร้างเพิ่มเติมรีสอร์ทขึ้นอยู่ทุกวัน และมากขึ้นเรื่อยๆ

ติดตามรายการชุมชนคนชอบช่วยได้ทุกวัน จันทร์-ศุกร์ เวลา 15.00 น. - 16.00 น. ทางช่องเนชั่นทีวี 22 และ 32

logoline