svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คณะกรรมการสถานศึกษาระนอง ค้านแนวคิดลดเวลาเรียน

01 กันยายน 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ระนอง-คณะกรรมการสถานศึกษาออกโรงคัดค้านแนวคิดการปรับลดเวลาเรียน ชี้จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี หวั่นนักเรียนหนีไปมั่วสุม รวมตัวทำสิ่งที่ไม่ดี แนะผู้เกี่ยวข้องควรมีการพูดคุยกับคณะกรรมการสถานศึกษาทั่วประเทศ หวังหาข้อสรุป ยันต้องเปิดรับฟังเสียงเด็กและเยาวชนก่อนดำเนินการ


นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านบางกลาง อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา กล่าวไม่เห็นด้วยกับ แนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้มีการลดเวลาชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลง แล้วหันมาเสริมวิชาท้องถิ่นหรือปราชญ์ชาวบ้านเข้าไปให้ความรู้กับนักเรียนว่า ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคิดนั้นทางโรงเรียนได้มีการดำเนินการมานานแล้ว และปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไปบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน หรือจัดกิจกรรมเสริมเป็นจำนวนมากจนหลายครั้งมากเกินไป จนกระทบเวลาเรียนของการเรียนหลัก ซึ่งปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนหลักนั้น มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร อาทิ หลักสูตรห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นห้องเรียนพิเศษที่มีการเพิ่มวิชาเรียนเข้ามาอีกหลายวิชา หากมีการลดชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลงจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ตนเองและผู้ปกครอง รวมทั้งนักเรียนต่างไม่เข้าใจว่าแนวคิดดังกล่าวเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร ทุกวันนี้ นักเรียนทุกคนเรียนหนักมาก เพราะระบบการสอบแข่งขันบังคับ หากลดเวลาเรียนลงแน่นอนว่า นักเรียนก็จะต้องออกไปหาความรู้กับโรงเรียนกวดวิชาหรือติวเตอร์ การสอนเสริม เพราะรัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาทั้งระบบ เพียงแค่ต้องการให้นักเรียนผ่อนคลายมีประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ระบบการศึกษาไทยปัจจุบัน ถูกยึดโยงด้วยระบบการสอบแข่งขัน แม้กระทั่งเมื่อจบการศึกษาจะเข้าทำงานก็ต้องสอบแข่งขัน ดังนั้น รัฐมนตรีที่เป็นนายร้อยสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยมาก่อนจะทราบดีว่า การศึกษาในห้องเรียนนั้นปัจจุบันไม่เพียงพอต้องไปเรียนนอกห้อง จึงจะประสบความสำเร็จได้ หากจะทำให้แนวคิดดังกล่าวสำเร็จต้องแก้ไขโครงสร้างทั้งระบบจึงจะทำได้ ซึ่งต้องใช้เวลา
ด้านนายสุชีพ พัฒน์ทอง ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนละอุ่นวิทยาคาร อ.ละอุ่น จ.ระนอง ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษากล่าวว่า ตนก็ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว หากลดเวลาเรียนลงในระดับมัธยมศึกษาปัญหาคือการมั่วสุมของนักเรียนที่จะตามมา ครูไม่สามารถดูแลได้ทันหรือทั่วถึง เมื่อไม่มีชัวโมงเรียนช่วงบ่าย นักเรียนส่วนหนึ่งก็จะหนีออกจากโรงเรียนไปมั่วสุม ไปรวมตัวกันทำสิ่งที่ไม่ดีนี่คือปัญหาที่เกิดในชนบท การจัดการเรียนแบบผสมผสานเช่นที่ผ่านมาก็ดีอยู่แล้ว เรียนในห้องเรียนบ้าง สลับกับบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆเข้าไปให้ความรู้ ซึ่งแต่ละโรงเรียนต่างดำเนินการอยู่แล้ว เวลาเรียนเลิกเรียนในเวลา 15.30 น.ก็เป็นความเหมาะสม จึงไม่เข้าใจแนวคิดของคนคิดว่าต้องการอะไร
นายสุชีพ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนักเรียนเรียนไม่ทันต้องออกไปเรียนพิเศษกว่า 50% ซึ่งสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของการจัดการเรียนในห้องเรียน หากนำปัญหาดังกล่าวมาวิเคราะห์และแก้ไขให้ดีขึ้นน่าจะดีกว่าแต่การแก้ด้วยการลด ชม.เรียนนั้นไม่ใช่คำตอบแน่นอน ปัจจุบันนี้นักเรียนห้องเรียนวิทยาศาสตร์ และห้องเรียนภาษาอังกฤษต้องเรียนมากกว่านักเรียนปกติ 1-2 ชม.เพราะมีวิชาเรียนเพิ่มขึ้น อาทิ ห้องเรียนปกติเรียนวันละ 8 ชม.เลิกเรียนเวลาปกติ 15.30น. นักเรียนห้องพิเศษดังกล่าว ต้องเรียนเพิ่มอีก 1-2 ชม.ในแต่ละวัน เลิกเรียน 16.00-16.30น. จึงจะสามารถจัดการเรียนได้ ดังนั้น คนที่คิดควรจะเข้าใจถึงปัญหาด้วยว่าเป็นอย่างไร และแนวคิดดังกล่าวถือว่า เป็นเผด็จการไม่ใช่แนวคิดแบบการปฏิรูป

logoline