svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้"ธัมมชโย"ปาราชิกตามพระลิขิตสังฆราช

20 กรกฎาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน - 20 ก.ค. -- ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ธัมมชโยปาราชิกตามพระลิขิตพระสังฆราช จากการเบียดบังทรัพย์สินวัดธรรมกาย ยืดเยื้อเกือบ 7 ปีจึงยอมคืนทรัพย์ 959 ล้านบาท ชงหัวหน้าคสช.ตั้งกรรมการร่วมดำเนินการให้เป็นบรรทัดฐาน ส่วนอดีตอสส.-อดีตอธิบดีกรมการศาสนาส่อผิดอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยหลวงปู่พุทธะอิสระและนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด และอดีตอธิบดีกรมการศาสนาอีกรายหนึ่งว่าไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่มีพระราชวินิจฉัยกรณีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกพนักงานสอบสวนกองปราบปรามแจ้งข้อหาเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์แต่เบียดบังทรัพย์ไปเป็นของตนเองโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า พระลิขิตฉบับลงวันที่ 26 เม.ย. , 1 พ.ค. และ 10 พ.ค. 2542 ระบุว่า กรณีของพระธัมมชโยเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ยักยอกเอาทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดพระธรรมกายไปเป็นของตนเอง โดยนำเงินของวัดมาซื้อที่ดินหลายแปลง ต่อมาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องพระธัมมชโยเป็นจำเลยต่อศาล จึงถือว่าพระธัมมชโยย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร เปรียบเหมือนใบไม้เหี่ยวเหลืองหลุดจากขั้วแล้ว ไม่อาจเขียวสดต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้พระธัมมชโยย่อมต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระภิกษุตามพระลิขิต ทั้งนี้มหาเถรสมาคมมีหน้าที่สนองพระลิขิต แต่ปรากฎว่าในการประชุมครั้งที่ 16/2542 ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานตามพระลิขิตเพียงเรื่องเดียวคือติดตามรับมอบและคืนที่ดินอันเป็นของวัดพระธรรมกายเท่านั้น ส่วนประเด็นพระวินิจฉัยของพระสังฆราชว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ มิได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้"ธัมมชโย"ปาราชิกตามพระลิขิตสังฆราช


นายรักษเกชา กล่าวด้วยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงจะทำความเห็นเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาควาหมสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้ใช้มาตรา 44 เพื่อตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายศึกษาประเด็นทางพระวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติกรณีพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระวินิจฉัยของพระสังฆราชฯหรือไม่ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป โดยคณะกรรมการอาจเป็นพระเถรชั้นผู้ใหญ่ที่มหาเถรสมาคมคัดเลือกกันเอง 3 รูป ผู้แทนจากสำนักพุทธฯผู้แทนสำนักนายกฯ สภาปฏิรูป สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฯลฯ และเมื่อได้ผลสรุปอย่างไรขอให้นำข้อสรุปบรรจุเข้าวาระการประชุมมหาเถรฯเพื่อพิจารณาลงมติสถานภาพของพระธัมมชโยให้สาธารณชนรับทราบต่อไป
ส่วนกรณีนายพชร ซึ่งมีคำสั่งให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ถอนฟ้องพระธัมมชโยโดยอ้างบ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทั้งหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักร โดยเฉพาะในเหล่าพระภิกษุ สามเณรและประชาชน และไม่เกิดประโยชน์แก่สาธารณะนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหากเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของนายพชร นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์ อดีตอัยการสูงสุด คงไม่มีความเห็นให้สั่งฟ้องคดีมาตั้งแต่ต้น และมีการสืบพยานต่อเนื่องยาวนานเกือบ 7 ปี อีกทั้งในคดีนี้นายพชร ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมเป็นคณะทำงานพิจารณาสำรวจคดีของพระธัมมชโยและได้มีความเห็นให้สั่งฟ้องพระธัมมชโยเป็นจำเลย โดยเทียบเคียงกับคดีสันติอโศก

ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้"ธัมมชโย"ปาราชิกตามพระลิขิตสังฆราช


นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเคารพในหลักการที่อัยการต้องมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี แต่การสั่งคดีต้องเป็นไปโดยเที่ยงธรรมสุจริต ผู้ตรวจฯจึงทำความเห็นและข้อเสนอไปยังนายกฯและหัวหน้าคสช. ขอให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการมีความสั่งถอนฟ้องของนายพชรว่ามีความผิดตามมาตรา 147 หรือไม่ จากการถอนฟ้องคดีที่ไม่อาจยอมความกันได้หรือไม่ นอกจากนี้หลังมีคำสั่งถอนฟ้องสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ได้ส่งคำสั่งขอถอนฟ้องไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อกฎหมายว่ามีอำนาจถอนฟ้องคดีอาญาหรือไม่ เช่นเดียวกับอดีตอธิบดีกรมการศาสนา ซึ่งไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตของพระสังฆราชฯจึงขอให้หัวหน้าคสช.ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาความผิดทั้งทางวินัยและอาญาด้วย
การที่อดีตอัยการสูงสุดอ้างว่าพระธัมมชโยได้ยอมมอบทรัพย์สินเป็นที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000 บาท คืนให้กับวัดพระธรรมกายถือเป็นการตามพระลิขิตของพระสังฆราชฯโดยครบถ้วนทุกประการแล้วนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการกระทำของพระธัมมชโยครบองค์ประกอบความผิด ฐานเบียดบังทรัพย์ของวัดไปเป็นของตนเอง แม้ภายหลังพระธัมมชโยจะนำทรัพย์ที่ยักยอกไปมาคืนให้แก่วัด ก็ถือเป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด ไม่อาจทำให้การกระทำความผิดอาญาที่สำเร็จไปแล้วกลายเป็นไม่ผิดไปได้ อีกทั้งพระธัมมชโยใช้เวลานานเกือบ 7 ปี จึงยอมคืนทรัพย์สินโดยไม่ยอมคืนทรัพย์ตั้งแต่มีพระวินิจฉัยตักเตือนเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าว

logoline