svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"บรรจง"หนุนรัฐใช้กม.เข้ม เสนอยกเลิก"อวนลาก-อวนรุน"

01 กรกฎาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"บรรจง นะแส" นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย หนุนรัฐใช้กม.เข้ม เสนอยกเลิก"อวนลาก-อวนรุน" เพื่อปกป้องประมงชายฝั่ง



จากกรณีเรือประมง  22 จังหวัด ประท้วงหยุดเดินเรือ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการจับกุมเรือที่ใช้เครื่องมือผิดประเภท ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ก.ค. 2558 นั้น  นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้สัมภาษณ์เนชั่นทีวี ว่า  ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า เรือประมงประท้วงแล้วจะขาดอาหารทะเล ซึ่งเราควรทำความเข้าใจกันใหม่ในเรื่องนี้ หากสังเกตุดูจากสถานการณ์ก่อนหน้านี้ อาหารทะเลเคยราคาถูกลงที่ไหน หากย้อนไปตั้งแต่ปี 2523 มีการทำการประมงเกินขนาด (over fishing) ซึ่งเคยมีข้อเสนอก่อนหน้านี้ให้ลดอวนลากลงทะเล เพราะมีงานทางวิชาการของกรมประมงที่ชัดเจนว่า เป็นการทำลายล้างพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน คือลากมาได้ 100 กก. สามารถนำมาขายในตลาดได้จริงเพียง 30 กก. โดยประมาณ อีก 70 กก. เป็นปลาเล็กปลาน้อยก็เข้าโรงงานปลาป่นไป จากภาวะตรงนี้ที่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ เพราะมีฝ่ายการเมืองแทรกแทรงข้าราชการที่ทำงานด้านวิชาการทางประมง 
นายบรรจง กล่าวต่อว่า   ปี 2547 กรมประมงก็ยื่นข้อเสนอว่าไม่ไหวแล้ว เพราะปี 2523 มีเรืออวนลากประมาณ 3,000 ลำ เทียบกับ ปี 2547 ที่มีเรือเพิ่มขึ้นเป็น 4,700 ลำ ทำให้มีข้อเสนอให้ลดเรืออวนลากลง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะเกรงว่าน้ำทะเลจะรับไม่ไหว  โดยส่วนตัวตนเองที่ทำงานกับกรมประมงชายฝั่ง ได้เห็นวิกฤตินี้ตามชุมชนประมงชายฝั่งซึ่งมีอยู่ไม่น้อยตามชายฝั่งทะเลทั้ง 22 จังหวัด ทำให้ชาวประมงชายฝั่งค่อยๆล่มสลายลง ถึงกระทั่งประชาชนต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นแทน แต่สุดท้ายก็ไม่พอกินจนต้องกลับมาทำประมงอีก เริ่มสู้กับเรืออวนลากอวนรุน จนเริ่มอยู่ได้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทั่วประเทศ
 "ภาวะการทำประมงเกินขนาดนั้นมีมาแสนนาน ได้ทำร้ายอาชีพชาวประมงส่วนใหญ่ เพราะ 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวประมงพื้นบ้าน ส่วนที่จอดเรือประท้วงเป็นเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลใช้กฏหมายมาเป็นตัวตั้ง ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาการต่อเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน ก็ใช้วิธีกดดันให้รัฐบาลทำนิรโทษกรรม เปลี่ยนจากเรื่องผิดเป็นเรื่องถูก อย่างน้อย 3 ครั้งแล้ว ซึ่งครั้งนี้น่าจะใช้ไม้เดิม แต่ชาวประมงควรจะมองเรื่องประโยชน์ที่คนกินปลาจะได้รับจะดีกว่า หรือ แหล่งอาหารทางธรรมชาติที่ค่อนข้างดี เราควรจะมองตรงนี้เพราะตอนนี้มันวิกฤติหนักจริงๆ" นายบรรจง กล่าว  

"บรรจง"หนุนรัฐใช้กม.เข้ม  เสนอยกเลิก"อวนลาก-อวนรุน"


ต่อกรณีที่ผู้สื่อข่าวถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลจะไม่ขยายเวลาให้กับเรือประมงบางลำที่ผิดกฏหมาย แต่ว่าบังคับใช้อย่างเข้มข้นนั้น   นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย  ให้ความเห็นว่า ถ้าอยากให้เด็ดขาดก็ควรเอาแบบอินโดนีเซีย ตอนนี้เราโดนใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อ 22 เม.ย. 58 ขณะที่อินโดฯโดนตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 58  ทำให้อินโดฯออกประกาศยกเลิกการทำประมงด้วยเครื่องมือหัวลากทุกชนิด วันนี้ กุ้งหอยปูปลาเริ่มเยอะ เขาถึงเริ่มส่งออกได้ในไม่กี่เดือนได้ จึงอยากเสนอให้เราเอาแบบอินโดฯไปเลย  พวกเครื่องมืออวนรุน อวนลาก เรือปั่นไฟ 3 ชนิดนี้เป็นตัวที่งานวิชาการชี้ชัดว่า เป็นเครื่องมือทำลายล้างพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ทำลายอาชีพพี่น้องประมงชายฝั่ง เราควรเสนอยกเลิกให้หมดเลย ส่วนมาตรการชดเชยก็ค่อยไปลงในรายละเอียด ซึ่งนี่คือทางรอด หากเรามองแต่ว่าจะจับเฉพาะพวกที่ผิดกฎหมาย แต่พวกถูกกฎหมายถ้าเราไปดูในข้อมูล วันนึงจับพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นพันตัน เรือปั่นไฟ เอาลูกปลาทูตัวเล็กมาต้มตากขายตามชายหาด ซึ่งสังคมไทยกินมาปลาทูมากี่ร้อยปี แล้วมาใช้เครื่องมือแบบนี้ สัตว์น้ำจะไปอยู่รอดได้อย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า มีผู้ประกอบการเรือประมงหลายคนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลขยายเวลาออกไปอีกเพราะอะไร  นายบรรจงมองว่า หลายคนไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะเอาจริงกับเรื่องนี้ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลยอมมาแล้วถึง 3 ครั้ง ตามข้อมูล เพียงแต่ครั้งนี้รัฐบาลโดนแบนจากอียู ซึ่งอาจส่งผลต่อรายได้การส่งออกนอกประเทศ ซึ่งนำรายได้เข้าประเทศได้หลายหมื่นล้านต่อปี ตรงนี้น่าจะเป็นปัจจัยหลักและแรงกดดันที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการ
ต่อข้อถามว่า  มาตรการ 1 ก.ค. ไม่น่าจะกระทบต่อปริมาณอาหารทะเลในประเทศ  นายบรรจง กล่าวว่า "ผมมองตรงกันข้ามเลย อย่างที่ผมไปตระเวนตามตลาดสงขลา ปัตตานี หรือในนครฯ ยังคงเป็นตลาดในพื้นที่ หลังจากเรือพวกนี้จอด จะมีที่ว่างให้อวนปู อวนล้อมปลา ซึ่งประมงชายฝั่งนำมาออกใว้ บางคนได้ปลาที่สดมากๆ เพียงแต่ปลาพวกนี้ไม่ได้ถูกเข้าสู่ระบบรวมศูนย์ใบแพปลาใหญ่ๆ เหมือนที่มีการบอยคอร์ตในตอนนี้ มันยังอยู่ในตลาดจังหวัด ถ้าต่อไปเราใช้ตลาดใหญ่ขึ้น แพปลาเข้ามาสู่แพปลาเล็กขึ้น ผมคิดว่าเราจะมีปลาจะถูกลงด้วยซ้ำ เราหยุดเครื่องมือทำลายล้างเสีย พันธุ์สัตว์น้ำจะโตขึ้น มีหลากหลายขึ้น ชาวประมงชายฝั่งก็จะกลับมาจับปลามากขึ้น สังคมไทยก็จะได้มีอาหารทะเลกินเหมือนในอดีต ผมเชื่ออย่างนั้น"

logoline