svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"เป๊ปซี่" พอใจ หลังสู้ 10 ปี ศาลฎีกาพิพากษาชนะ คดีฟ้อง บางกอกโพสต์ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

29 มิถุนายน 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เป๊ปซี่" อดีต หน.ข่าวมั่นคง บางกอกโพสต์ พอใจ หลังสู้ 10 ปี ศาลฎีกา พิพากษาให้ชนะ คดีฟ้องบริษัทเลิกจ้างปี 48 ไม่เป็นธรรม หลังลงข่าวรันเวย์สุวรรณภูมิร้าว ศาลสั่งให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหาย โดยศาลแรงงานกลาง กำหนดวันนัดพร้อมคุยคำนวณค่าเสียหาย บ่ายโมง 17 ก.ค.นี้ เจ้าตัวขอบคุณศาล ระบุดีใจคดีสร้างบรรทัดฐาน ยังเชื่อการเมืองแทรกทำให้ต้องออก

ที่ห้องพิจารณา 5 ศาลแรงงานกลาง ถ.พระราม 4 วันที่ 29 มิ.ย.58 เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ 9289/2548 ที่นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ อดีตหัวหน้าข่าวฝ่ายทหารและความมั่นคง หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ , นายเดวิด จอห์น อาร์มสตรอง รักษาการบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (ตำแหน่งขณะฟ้องปี 2548) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง เป็นจำเลยที่ 1-3 กรณีสืบเนื่องจาก บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างนายเสริมสุข โจทก์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ส.ค.48 โดยไม่เป็นธรรม ซึ่งอ้างถึงเหตุที่โจทก์ นำเสนอข่าวรันเวย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เกิดรอยร้าว เมื่อระหว่างวันที่ 6 9 ส.ค.48 โดยจำเลยได้กล่าวหาว่าโจทก์กระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้บริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายจึงแจ้งเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งโจทก์ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราเดิมก่อนถูกเลิกจ้าง และให้จำเลยร่วมกันชำระค่าเสียจากการที่โจทก์ขาดรายได้ 8 ล้านบาทและค่าเสียหายต่อเกียรติยศ 5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 13 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีด้วย รวมทั้งให้ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 1 กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 3 จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบบริษัทจำเลยที่เป็นนายจ้าง ให้แก่โจทก์ด้วยอีก 623,700.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยด้วย
โดยศาลแรงงานกลาง ดำเนินกระบวนการสืบพยานทั้งสองฝ่ายจนเสร็จสิ้น และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.ค.50 ว่า การที่ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์นั้น เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลจึงให้ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 1 รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าที่โจทก์เคยได้รับในขณะเลิกจ้าง และให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 3 จ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนเงินสมทบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย ส่วนคำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้อง นายเดวิด จอห์น อาร์มสตรอง รักษาการบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.บางกอกโพสต์ (ตำแหน่งขณะฟ้องปี 48) จำเลยที่ 2 ด้วย
ต่อมา นายเสริมสุข โจทก์ , บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 1 และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 3 ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ประเด็นที่ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 1 และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 3 ได้ยื่นอุทธรณ์ว่า การเลิกจ้างนายเสริมสุข โจทก์ เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ที่เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ดังนั้นศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้
ส่วนที่นายเสริมสุข โจทก์ อุทธรณ์ในประเด็นที่ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 1 นายจ้าง รับโจทก์ ที่เป็นลูกจ้าง กลับเข้าทำงานโดยไม่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ด้วยนั้น ศาลฎีกา เห็นว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่เมื่อเป็นกรณีที่ลูกจ้างและนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ จึงให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์แทนการรับเข้าทำงาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 โดยศาลฎีกา มีคำสั่งให้ส่งสำนวนกลับให้ศาลแรงงานกลาง เป็นผู้กำหนดค่าเสียหายให้
ศาลฎีกา จึงพิพากษาแก้เป็นว่า บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับนายเสริมสุข โจทก์ กลับเข้าทำงาน แต่ให้ บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกับโจทก์แทน โดยให้ศาลแรงงานกลาง พิจารณากำหนดจำนวนค่าเสียหายตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
ภายหลังฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ศาลแรงงานกลาง ได้กำหนดวันนัดพร้อม คู่ความทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 17 ก.ค.นี้ เวลา 13.00 น. เพื่อพิจารณากำหนสดจำนวนค่าเสียหายที่ต้องชดใช้กันโดยให้พิจารณาถึงอายุของโจทก์ที่ถูกเลิกจ้างขณะนั้นคือ 50 ปี และอายุการทำงาน 22 ปี รวมทั้งเหตุความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
ขณะที่นายเสริมสุข บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล นิวทีวี อดีตหัวหน้าข่าวฝ่ายทหาร กล่าวว่า สิ่งที่ศาลพิพากษาออกมา ยืนยันว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าเสียหาย 10 ปีที่ผ่านมาก็คงต้องมานัดคุยกันอีกครั้งที่ศาลแรงงานกลาง ในวันที่ 17 ก.ค.นี้ สำหรับตนรู้สึกพอใจมากกับคำพิพากษา เนื่องจากศาลได้ชี้ว่า บริษัทได้เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้สังคมได้เห็นว่าเราถูกกระทำ
ขอขอบคุณกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง 10 ปีที่แล้วผมตัดสินใจสู้คดี ขณะที่บางกอกโพสต์เสนอเงิน 3 ล้านบาทให้ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและจะต้องต่อสู้ วันนี้จึงรู้สึกดีใจมากที่การต่อสู้ได้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์ไทยว่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น จะต้องไม่เกิดขึ้นกับน้องๆ หลานๆ ที่ทำงานตรงนี้ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมาก เพราะต่อไปกรณีที่นายทุนจะถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง เพื่อให้คนทำงานหนังสือพิมพ์ต้องออกนั้นต้องไม่เกิดขึ้น นายเสริมสุข กล่าวและว่า โดยขณะที่ตนทำงานอยู่ที่บริษัทตลอด 22 ปี ไม่เคยถูกตำหนิแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นจึงรู้สึกช็อคกับเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในวันนั้น
เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คิดว่าที่ผ่านมามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ นายเสริมสุข กล่าวว่า ส่วนตัวตนพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ ปี 2548 แล้ว ซึ่งขณะนั้นมีนักข่าวยุคสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยบอกว่า มีการไม่พอใจกับสิ่งที่เรารายงาน จึงเป็นสิ่งที่เรารับรู้มาตลอด และเมื่อเกิดเป็นคดีในระหว่างการพิจารณานักข่าวคนนั้น ก็ได้มาเป็นพยานยืนยันให้ในสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นถ้าถามตนวันนี้ตนก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะหลังจากที่ตนออกจากงานปี 2548 ก็มีการถอนฟ้องคดีระหว่างบริษัท กับการท่าอากาศยาน ฯ (ทอท.) กันในปี 2551 เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขณะที่บริษัทก็ยังไม่พิจารณารับตนกลับเข้าทำงาน จึงเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น
ด้านนายนคร ชมพูชาติ ทนายความของนายเสริมสุข โจทก์ กล่าวว่า นอกจากค่าเสียหายที่ต้องมาพูดคุยกันในวันที่ 17 ก.ค.นี้แล้ว ส่วนที่จำเลยต้องปฏิบัติอีกประการหนึ่ง คือ การจ่ายเงินในส่วนของกองทุนสำร้องเลี้ยงชีพที่เป็นเงินสมทบในส่วนของนายจ้างให้กับโจทก์ด้วยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการฟังคำพิพากษาศาลฎีกาวันนี้ นายเสริมสุข โจทย์ เดินทางมาด้วยชุดสูทสีสดใส พร้อมภรรยา บุตรชาย และทนายความ โดยมีพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ซึ่งเป็นพยานที่เคยเบิกความในคดีนี้ และกลุ่มเพื่อนผู้สื่อข่าว กับผู้สื่อข่าวรุ่นน้องจำนวนหนึ่ง มาให้กำลังใจพร้อมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีด้วย ขณะที่ฝ่าย บมจ.โพสต์ พับลิชชิง จำเลย ผู้บริหารไม่เดินทางมา คงมีเพียงผู้รับมอบอำนาจและทนายความ มาฟังคำพิพากษาแทนเท่านั้น

"เป๊ปซี่" พอใจ หลังสู้ 10 ปี ศาลฎีกาพิพากษาชนะ คดีฟ้อง บางกอกโพสต์ เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

logoline