svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศาลอาญาไม่รับฟ้องกลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องคสช.กบฏ

29 พฤษภาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลอาญายกฟ้องกลุ่มพลเมืองโต้กลับฟ้องพล.อ.ประยุทธ์หัวหน้า คณะ คสช. กบฏยึดอำนาจ ล้มล้างรธน. ชี้หลังยึดอำนาจ คสช. พ้นความรับผิด ตาม รธน.ชั่วคราวปี 57 มาตรา 48 ขณะที่ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ระบุ คำสั่งศาลบอกมีอำนาจพิจารณา จากเหตุเกิดขึ้นก่อนมี ประกาศ คสช. แม้ รธน.คุ้มครองแต่การยึดอำนาจไม่เป็น ปชต. เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อ

ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง คดีหมายเลขดำ อ.1805/2558 ที่นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และพวกซึ่งเป็นกลุ่มพลเมืองโต้กลับ รวม 15 คน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นคณะคสช. เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานเป็นกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรโดยใช้กำลังประทุษร้าย และกระทำการสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และ 114 ตามฟ้องโจทก์วันที่ 22 พ.ค.58 บรรยายพฤติการณ์ เมื่อระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.57 จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้ายและล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อันเป็นความผิดฐานกบฏ และพวกจำเลยยังได้ออกคำสั่งในนาม คสช.หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง 15 คนได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 83, 91, 113 และ 114
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การกระทำตามโจทก์ระบุในฟ้องว่าเหตุเริ่มเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พ.ค.57 ต่อเนื่องมานั้นก็แสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้ากับพวก เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในวันที่ 22 พ.ค.57 ที่ต่อมาในวันที่ 25 พ.ค.57 จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ให้คดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ดังนั้นก็ต้องถือว่าความผิดตามฟ้องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ หัวหน้า คสช. จะออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ให้มีผลบังคับใช้ที่จะทำให้คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร แต่ความผิดตามฟ้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลอาญาจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ได้
ส่วนคดีตามฟ้องนี้ มีมูลให้ศาลรับไว้พิจารณาหรือไม่ ศาลเห็นว่า แม้มีการเข้ายึดและการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของจำเลยทั้งห้ากับพวก ในนาม คสช. จะไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย แต่ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉบับชั่วคราว ) พ.ศ.2557 ลงวันที่ 22 ก.ค.57 โดยกฎหมายมีบทบัญญัติยกเว้นความผิดและความรับผิดไว้ใน มาตรา 48 ว่า บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำต่อเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ของหัวหน้าและคณะคสช. รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่อง กับการกระทำดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคสช.ที่ได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางด้านบริหาร หรือทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษ และการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันดังกล่าว หรือก่อนหรือหลังวันดังกล่าว หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง จึงพ้นจากความผิด และความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ม.48 แล้ว คดีของโจทก์ทั้งสิบห้าจึงไม่มีมูลที่ศาลจะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้อง
ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ กล่าวว่า จากที่ได้อ่านคำสั่งของศาลแล้ว เห็นว่าศาลยอมรับว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาล เท่ากับศาลยอมรับว่าพวกเราเป็นกลุ่มผู้เสียหาย ซึ่งต่างจากอดีตที่ศาลจะไม่ยอมรับคดีที่ฟ้องคณะรัฐประหาร ขณะที่คำสั่งยังระบุอีกว่า การกระทำของ คณะคสช.ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย แต่เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญพ.ศ.2557 ฉบับชั่วคราว ในม. 48 บัญญัติให้ละเว้นความผิดและความรับผิดคณะคสช.ไว้ ซึ่งเท่ากับว่า คณะคสช.ได้กระทำผิดจริง จึงถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ โดยเราจะใช้เป็นช่องทางยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อไป ซึ่งศาลจะมีดุลยพินิจอย่างไรก็ขึ้นอยู่ศาล

logoline