svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ประวัติ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ)

16 พฤษภาคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาติภูมิ - หลวงพ่อคูณ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ที่บ้านไร่ หมู่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ

บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ

พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ)


นางคำมั่น วงษ์กาญจนรัตน์


นางทองหล่อ เพ็ญจันทร์


มารดาคือ นางทองขาว เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ กลางดึกของคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี 3 นางได้ฝันเห็นเทพองค์หนึ่ง มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้านของนางและกล่าวว่า เจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงาม ความดีมาตลอดหลายชาติ เราขออำนวยพรให้เจ้า และครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไป และเทพองค์นั้นยังได้มอบดวงแก้วใสสะอาดสุกว่างให้แก่นางด้วย ดวงมณีนี้ เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดีต่อไปภายหน้า จะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง


การศึกษา


บิดามารดาของหลวงพ่อคูณ ได้เสียชีวิตลงในขณะที่ลูกทั้ง 3 คน ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้องๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ 6-7 ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือ กับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม นอกจากนี้พระอาจารย์ทั้ง 3 ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิชา คาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย นับว่าหลวงพ่อคูณรู้วิชาไสยศาสตร์มาแต่เยาว์วัย


อุปสมบท


หลวงพ่อคูณอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ปีวอก หลวงพ่อคูณได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา หลวงพ่อแดง เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ อย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก


หลวงพ่อคูณ ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองรูปนี้ เป็นเพื่อนกันต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ


เวลาล่วงเลยนานพอสมควร กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า ลูกศิษย์ของตนมีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป แรกๆ หลวงพ่อคูณก็ธุดงค์ จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกออกไปไกลๆ กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศกัมพูชา มุ่งเข้าสู่ป่าลึก เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้น จากกิเลส ตัณหา และอุปทานทั้งปวง


สู่มาตุภูมิ


หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากประเทศกัมพูชาสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทาง พระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ. 2496 นอกจากการก่อสร้างอุโบสถแล้ว หลวงพ่อคูณยังสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย


บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์


หลวงพ่อคูณ ถือว่าเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือใช้ภาษาพูดสมัยโบราณ โดยมีคำว่ามึงและกูเป็นคำติดปาก และมักจะชอบนั่งยองๆ อีกทั้งยังเป็นพระนักเทศน์สอนประชาชนด้วยคำง่ายๆ แต่ได้เนื้อหาธรรมะอันลึกซึ้ง ด้วยจริยวัตรที่เรียบง่าย และเป็นกันเอง ท่านจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของลูกศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกันท่านยังเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่สร้างวัตถุมงคลมากมาย ซึ่งล้วนมีพุทธคุณด้านเมตตา มหานิยม และแคล้วคลาด จนวัตถุมลคลของท่านกลายเป็นที่นิยมของเซียนพระและนักสะสมทั่วประเทศ ด้วยความที่มีลูกศิษย์จำนวนมาก จึงมีผู้นำเงินมาบริจาคให้ท่านมากเช่นกัน ซึ่งเงินที่ท่านได้ก็จะนำไปสร้างสาธารณะประโยชน์มากมายทั่วทั้งจังหวัดนครราชสีมา อาทิ โรงพยาบาล,โรงเรียน,มหาวิทยาลัย,ถนน,และมอบทุนการศึกษาให้ลูกหลานชาวโคราชอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมอบเงินสร้าง วัด โรงเรียน และมหาวิทยาลัย หลายแห่ง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ หลวงพ่อคูณยังเคยได้ทูลเกล้าถวายแด่เงิน กว่า 100 ล้านบาท แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ตามพระราชอัธยาศัยอีกด้วย

สมณศักดิ์


12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระญาณวิทยาคมเถร


10 มิถุนายน พ.ศ. 2539 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชวิทยาคม อุดมกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี


12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพวิทยาคม อุดมธรรมสุนทร ปสาทกรวรกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ประวัติอาการอาพาธ


หลวงพ่อคูณ เริ่มมีอาการอาพาธตั้งแต่ปี 2543 ด้วยการโรคหัวใจ ซึ่งแพทย์ได้ผ่าตัดทำบายพาสหัวใจให้ท่าน จนอาการดีขึ้นตามลำดับ วันที่ 25 ตุลาคม 2547 อาพาธอีกครั้งด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ให้แพทย์ผ่าตัดสมองเพื่อเอาลิ่มเลือดออก จนอาการปลอดภัย วันที่ 26 เมษายน 2552 อาพาธด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้มีอาการซึมเศร้า และต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมาหลายวัน จนกระทั่งอาการดีขึ้นและสามารถกลับวัดบ้านไร่ได้ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 หลังจากนั้นสุขภาพร่างกายของท่านก็อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่อง วันที่ 4 พฤษภาคม 2554 ท่านก็มีอาการอาพาธด้วยวัณโรคปอด เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอีกกว่า 4 เดือน จนกระทั่งเมื่อวันที่4พฤษภาคม 2556 ท่านก็มีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการแทรกคือ หลอดลมอักเสบ รวมทั้งเกิดภาวะเสมหะลงคอ ทำให้ปอดเกิดการอักเสบติดเชื้อ คณะศิษย์ต้องนำตัวส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จนกระทั่งอาการท่านเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ก่อนที่คณะแพทย์จะได้นำตัวหลวงพ่อคูณ กลับวัดบ้านไร่ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 เพื่อพักรักษาตัวอยู่ภายในห้องกระจก ที่มีแพทย์และพยาบาลเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด โดยไม่อนุญาตให้ญาติโยมเข้าเยี่ยม เพื่อป้องกันการติดเชื่อ ซึ่งตลอดเวลาที่พักรักษาตัวก็มีอาการดีขึ้นตามลามดับ จนกระทั่งเมื่อเวลา 05.40 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ท่านมีอาการหัวใจหยุดเต้น แพทย์ต้องตำตัวส่งมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อีกครั้ง.

วันที่ 16 พ.ค.2558 โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ออกประกาศเรื่องอาการอาพาธของพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ฉบับที่ 4 ความว่า วันนี้คณะแพทย์ผู้ทำการรักษา รายงานว่า พระเทพวิทยาคมมีอาการโดยรวมทรุดลง ได้มรณภาพแล้วเมื่อเวลา 11.45 น.ที่ผ่านมา

logoline