svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ถอดบทเรียน "กาชาดขาดเลือด" เข็มแรกสำคัญ!

27 กุมภาพันธ์ 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กาชาด เลือดช็อต หมดสต็อก วิกฤติขาดแคลนทั่วประเทศ ... ภาพและถ้อยคำรณรงค์ให้คนไทยช่วยกันรีบไปบริจาคเลือดถูกเผยแพร่ส่งต่ออย่างรวดเร็ว...

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก จึงเกิดคำถามว่าทำไมประเทศไทยขาดเลือดบ่อยจัง ?เมื่อ 26 ก.พ.2558 เวบไซด์สภาการชาดไทยโพสต์ข้อความว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ประสบปัญหาการจัดหาโลหิตไม่ได้ตามเป้าหมาย คือ วันละ 1,600 - 2,000 ยูนิต เกิดการขาดแคลนสะสมต่อเนื่อง สาเหตุเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มักบริจาคในช่วงที่มีกิจกรรม และเทศกาลวันสำคัญต่างๆ ทำให้เกิดการบริจาคโลหิตไม่สม่ำเสมอ จนกระทั่งเกิดภาวะวิกฤตในขณะนี้ และส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่เบิกโลหิตนำไปรักษาผู้ป่วย มากถึง 8,000 ยูนิต แต่จ่ายโลหิตได้เพียง 2,000 ยูนิต หรือ 25 % เท่านั้นจากที่เคยจ่ายได้มากกว่า 80 % และไม่มีโลหิตสำรองในคลังเลือด
พญ.อุบลวรรณ จรูญเรืองฤทธิ์ รองผอ. ศูนย์บริการโลหิตฯ ให้ข้อมูลว่า การขาดแคลนเลือดครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อปลายปี 2556 สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ทำให้หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบจากประชาชนไม่สะดวกในการเดินทางมาบริจาคเลือด ช่วงนั้นได้แค่วันละ 1,000 ยูนิตเท่านั้น และขาดแคลนสะสมตั้งแต่พฤษจิกายน ขณะที่ความต้องการเลือดของโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ สูงถึง 3,000 ยูนิต/วัน
ภาวะเลือดขาดแคลนจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว เพราะเม็ดเลือดแดงเก็บได้ไม่เกิน 30 - 40 วันเท่านั้น สำหรับปีนี้เลือดขาดแคลน อาจเป็นช่วงจังหวะประชาชนไม่มาบริจาคพร้อม ๆ กัน เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ขาดแคลนมากขนาดที่โรงพยาบาลบางแห่งต้องเลื่อนคนไข้ผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วนออกไปก่อน
พญ.อุบลวรรณ อธิบายต่อว่า การขาดแคลนเลือดสำรองนั้น ไม่ได้เเกิดขึ้นที่ประเทศไทยอย่างเดียว ที่ต่างประเทศก็มีปัญหานี้ด้วย เช่น ประเทศญี่ปุ่น หากเกิดภาวะเลือดสำรองน้อยลงมาก ๆ เจ้าหน้าที่ต้องไปยกป้ายตามสถานีรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไปช่วยกันบริจาคเลือด สำหรับประเทศไทยนั้นมีผู้มาบริจาคเลือดเป็นประจำประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่บริจาคเลือดได้
คงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนไทยมีจิตสำนึกในเรื่องบริจาคเลือดมากกว่านี้ เพราะเราคงไม่สามารถไปบังคับกันได้ ต้องถนอมน้ำใจกัน ในแต่ละวันมีผู้บริจาคเลือดประมาณ 1,800 คน เป็นรายใหม่ประมาณ 900 คน สำหรับต่างจังหวัดค่อนข้างน้อยกว่ามาก เพราะเดินทางลำบาก แต่ถ้าใครต้องการบริจาคสามารถสอบถามที่เบอร์โทรศัพท์ 02-256-4300 จะมีรถเคลื่อนที่สภากาชาดไทยไปจุดต่างๆ ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2558 สภากาชาดมีปัญหากรุ๊ปเลือดพิเศษ อาร์เอชเนกาทีฟ (Rh-) ขาดแคลนเช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยโคม่าต้องนอนรอเลือดรวมถึงเลื่อนการรักษาออกไป เช่น ผ่าตัดหัวใจ เนื้องอกในสมอง ฯลฯ ผู้ป่วย 1 คนต้องการเลือดในการผ่าตัดประมาณครั้งละ 3 - 5 ยูนิต ในแต่ละวันต้องการประมาณอย่างต่ำ 10 ยูนิต แต่ได้รับบริจาคเพียงวันละ 3 - 5 ยูนิตเท่านั้น จนเกิดการขาดแคลนสะสม มีโรงพยาบาลทั่วประเทศขอเบิกเลือดกลุ่มนี้มากถึง 177 ยูนิต สภากาชาดฯพยายามขอให้ผู้มีหมู่เลือดพิเศษอาร์เอชเนกาทีฟมาช่วยกันบริจาค เพื่อช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ดร.สิทธิพงศ์ วัฒนานนท์สกุล นักวิชาการด้านจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผู้ทำวิจัยหัวข้อ พฤติกรรมการบริจาคโลหิตของผู้ที่มาบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการขาดแคลนเลือดสำรองว่า จากการศึกษาพบคนไทยมาบริจาคเลือดน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เนื่องจากมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์กว่า ๆ ขณะประเทศพัฒนาแล้วทั่วไปจะมีประมาณ 5 - 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่บริจาคเลือดได้
"จากการสัมภาษณ์ทำให้รู้ว่า เพราะคนไทยกลัวเข็มและไม่ประทับใจการบริจาคครั้งแรก ปกติแล้วคนบริจาคเลือดครั้งแรก ถ้าประทับใจตจะมาเป็นครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 และมาเป็นประจำทุกปี แต่ถ้ามาครั้งแรกแล้วไม่ชอบ ก็ไม่มาอีกเลย ถ้าเป็นไปได้ อยากให้หน่วยรับบริจาคเลือด เน้นจุดบริการและดูแลเป็นพิเศษสำหรับผู้มาบริจาคเลือดครั้งแรก เข็มแรกเป็นเข็มสำคัญที่สุด ต้องสร้างความประทับใจและความรู้สึกดี ๆ นอกจากนี้สำหรับผู้บริจาคเป็นประจำ สภากาชาดบางประเทศจะมี คูปองส่วนลด แต้มสะสม หรือสิ่งของเป็นสินน้ำใจให้ด้วยทุกครั้ง"
ดร.สิทธิพงศ์ แนะนำทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิดกลยุทธ์รณรงค์ให้วัยรุ่นอายุ 18 - 25 ปีมาช่วยกันบริจาคมาก ๆ เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เม็ดเลือดที่รับบริจาคของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จึงมีคุณภาพสูงไปด้วย
เด็กไทยมีจิตอาสาอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้คิดไปถึงเรื่องบริจาคโลหิต คงต้องรออัศวินม้าขาวช่วยสภากาชาดฯ คิดแคมเปญรณรงค์ให้โดนใจวัยรุ่นมากกว่านี้ ...

logoline