svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ราชบุรี - ภัยแล้งกระทบสัตว์ป่าของกลางในสถานีเพาะเลี้ยง กว่า 2,000 ตัว

26 กุมภาพันธ์ 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 นายวินันท์ วิระนะ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า ที่สถานีเพาะเลี้ยงฯ แห่งนี้ได้รับเลี้ยงสัตว์ป่าของกลางจากทั่วประเทศมาดูแล

นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ป่าที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ที่เพาะได้ และจะต้องเตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และสัตว์ป่าที่เพาะพันธุ์ในเชิงพาณิชย์ รวม 94 ชนิด จำนวน 2,291 ตัว กำลังจะขาดน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำในสระเก็บกักน้ำเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษของสถานีเพาะเลี้ยงฯนั้นเริ่มแห้ง เพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัด และพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง อาจจะส่งผลให้สัตว์เกิดอาการเครียด เนื่องจากสัตว์หลายชนิดต้องใช้น้ำทั้งอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะเสือโคร่ง หมี ที่ชอบเล่นน้ำ เพื่อลดอาการตึงเครียดคลายความร้อน จึงต้องมีการเปิดน้ำใส่ถังให้สัตว์ในสถานีเพาะเลี้ยงฯลงไปนอนแช่ทั้งวัน ซึ่งในแต่ละวันจะใช้ในปริมาณวันละไม่ต่ำกว่า 20,000 ลิตร

ราชบุรี - ภัยแล้งกระทบสัตว์ป่าของกลางในสถานีเพาะเลี้ยง กว่า 2,000 ตัว


หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน กล่าวอีกว่า เราจะต้องทำการเปลี่ยนน้ำและล้างในถังของกรงสัตว์แต่ชนิดทุกวันพุธ เพื่อป้องกันเชื้อโรคด้วย ซึ่งถ้าอากาศร้อนจัดเสือก็จะอาการเครียด มีอาการหายใจหอบลึก ยิ่งช่วงหน้าแล้งซึ่งมีอากาศร้อนจัดจะต้องฉีดน้ำให้อยู่ตลอด โดยสัตว์ทุกชนิดส่วนใหญ่อากาศร้อนจำเป็นจะต้องให้น้ำมากแทบทุกชนิดโดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่กับน้ำ เช่น ตัวเหี้ย จะต้องมีน้ำให้แช่ตลอด ถ้าเกิดไม่มีน้ำมันจะเกิดอาการเครียดวิ่งพล่านอยู่ในกรง ยังไม่รู้ว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะมีฝนตกลงมาหรือไม่ แต่ถ้ายังไม่มีฝนตกก็ต้องไปขอน้ำจากสำนักงานประปาส่วนภูมิภาคที่อำเภอสวนผึ้ง โดยนำรถไปบรรทุกน้ำมาเอง ซึ่งจะต้องหางบประมาณค่าน้ำมันในการไปบรรทุกน้ำอีก
สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ทำหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 กรมทรัพยากรน้ำขอสนับสนุนงบประมาณขุดสระน้ำภายในสถานีฯ เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้กับสัตว์เป็นปัญหาเร่งด่วน จึงได้อนุมัติงบประมาณมาจำนวน 25 ล้านบาท
เพื่อขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแล้วประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ มีการบริหารจัดการทำระบบกระจายน้ำ หอส่งน้ำจ่ายน้ำไปยังพื้นที่เลี้ยงสัตว์อย่างทั่วถึง ยังเหลือระบบกระจายน้ำ ฝังท่อ แท๊งก์น้ำยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าเมื่อแล้วเสร็จก็จะทำการปลูกต้นไม้ ปลูกพืชอาหารเลี้ยงสัตว์ได้อย่างสมบูรณ์ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องรอแหล่งน้ำธรรมชาติให้ฝนตกลงมาเพื่อกักเก็บได้เพียงพอ คาดว่าปีหน้าปัญหาต่างๆก็คงหมดไป

ราชบุรี - ภัยแล้งกระทบสัตว์ป่าของกลางในสถานีเพาะเลี้ยง กว่า 2,000 ตัว

logoline