svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กรณีศึกษา"เงินบริจาควัด"ขาดระบบตรวจสอบ-กฏหมายควบคุม

26 กุมภาพันธ์ 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากปมปัญหาเรื่อง "พระธัมมชโย" เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ทั้งเรื่องปาราชิกหรือไม่ ไปจนถึงข้อเคลือบแคลงเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดที่มีมูลค่ามหาศาล ตลอดจนข่าวที่ปรากฏตามสื่อที่มีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถึงปมความไม่โปร่งใสของการบริหารทรัพย์สินของวัดที่มาจากจิตศรัทธาของผู้บริจาค
จนทำให้สังคมเกิดคำถามว่า เงินบริจาคในแต่ละปีที่วัดจำนวนมากได้รับนั้น มีจำนวนขนาดไหนและบริหารจัดการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคหรือเปล่า และมีการตรวจสอบการใช้จ่ายว่าปลอดจากการทุจริตเอาผลประโยชน์เข้าตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน
ขนาดที่ว่า บรรดาพุทธศาสนิกชนกำลังสั่นคลอนจิตศรัทธาต่อ "วงการสงฆ์" ...จนต้องหาทางแก้ไขหรือปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่มีเสียงเรียกร้องหรือไม่ ?
ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ข้อมูลถึงเรื่องการบริหารการเงินของวัดในประเทศไทยว่า พวกเราในฐานะนักวิชาการก็สนใจศึกษาเรื่องการบริหารการเงินภายในวัด เนื่องจากเราตั้งข้อสังเกตวัดถือเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร อีกทั้งเป็นองค์กรนิติบุคคล ที่มีกระแสเงินไหลเข้า-ออกวัด โดยรายได้ของวัดมาจากการบริจาค จึงมีคำถามว่า การบริหารด้านการเงินภายในวัดทำกันอย่างไร
ดังนั้นเราตั้งคำถามในการวิจัยว่า โครงสร้างบริหารการเงินมีการกำหนดไว้เป็นระบบหรือไม่ คือมีคนรับผิดชอบเรื่องบริหารการเงินอย่างชัดเจน หรือมีโครงสร้างการบริหารที่มีรูปแบบหรือไม่ เรื่องการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัดเป็นอย่างไร ตลอดจนการลงทุนในทรัพย์สินของวัดเป็นไปในลักษณะใดบ้างและมีการตัดสินใจในการลงทุนอย่างไรบ้าง ถือเป็นกรอบกว้างๆ ในการศึกษาของเรา
ผศ.ดร.ณดา ระบุถึงการศึกษาเริ่มแรกว่า ได้ไปดูตัวบทกฎหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อาทิ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และฉบับแก้ไข พ.ศ.2535 กฎกระทรวงของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับวัดไว้ กฎของมหาเถรสมาคม เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าอาวาส ในการบริหารจัดการภายในวัด หรือไวยาวัจกร อย่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ระบุว่า วัดมีผู้มีอำนาจที่สุด คือ เจ้าอาวาส ซึ่งสามารถแต่งตั้งไวยาวัจกรตามกฎมหาเถรสมาคม อีกทั้งในกฎกระทรวง ระบุว่า เจ้าอาวาสจะต้องมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบหรือไวยาวัจกรคนใดคนหนึ่งในการที่จะทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และเจ้าอาวาสตรวจตราให้เรียบร้อย
จากการที่ไปสำรวจข้อมูลทางการเงินของวัดที่มีอยู่นั้น ถูกส่งไปที่ไหนบ้าง พบว่าหน่วยงานพระพุทธศาสนา หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ไม่มีข้อมูลที่เป็นภาพรวมของวัดทั้งหมดในระบบ ซึ่งวัดทั้งหมดในระบบมีอยู่ 37,000 แห่ง ในจำนวนนี้ก็ไม่ได้มีทุกวัดที่ส่งข้อมูลให้ พศ.ด้วย
"ระดับจังหวัดก็มีสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ระดับจังหวัด ก็ขอให้ส่งข้อมูลรายรับ-รายจ่ายมา แต่ก็ไม่ได้ส่งมาทุกวัด ซึ่งตัวเลขจำนวนวัดที่ส่งข้อมูลมาก็มีเพียงหลักพันเท่านั้น จาก 37,000 แห่ง แสดงว่ามีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ส่งข้อมูลให้ พศ. ทำให้ประชาชนที่อยากรู้ข้อมูลทางการเงินของวัดเข้าถึงข้อมูลได้ยาก ฉะนั้นในสิ่งที่เราคาดหวังอยากจะเห็นข้อมูลภาพรวมหรืออยากจะเห็นข้อมูลทางการเงินวัดใดวัดหนึ่งที่เราน่าจะเข้าถึงได้ก็ไม่มีข้อมูลที่อยู่ในระบบ" คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ กล่าว
ส่วนเรื่องการบริหารการเงินภายในวัด ผศ.ดร.ณดา ระบุว่า โครงสร้างการบริหารการเงินก็มีความหลากหลายมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของวัดและ ผู้ที่รับผิดชอบภายในวัด ไม่ได้เป็นรูปแบบเฉพาะ บางวัดก็อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นไวยาวัจกรตามที่มีกฎหมายรองรับไว้ ถ้าหากเป็นวัดขนาดใหญ่ก็ให้คณะกรรมการดูแลและตัดสินใจเรื่องต่างๆ แต่ก็มีวัดอีกจำนวนมากที่ไม่ได้บริหารจัดการภายในกรอบรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งมีเพียงเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลแทนทั้งหมด
ทั้งนี้ จากการสำรวจการบริหารจัดการทางการเงินภายในวัดทั้งหมด 490 แห่ง พบว่ามีวัดอยู่เกือบครึ่งในการบริหารจัดการด้านการเงินมีเจ้าอาวาสดูแล ไม่ใช่เป็นรูปแบบคณะกรรมการ แต่ก็มีบ้างในรูปแบบของคณะกรรมการ หรือก็มีบ้างที่เจ้าอาวาสแต่งตั้งมอบหมายไวยาวัจกร หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เพราะฉะนั้นโครงสร้างก็อยู่กับเจ้าอาวาสที่จะจัดการอย่างไร ส่วนอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาสก็จะดูแลความเรียบร้อยภายในวัดทั้งหมด แล้วแต่ว่าจะมอบหมายใครให้ดูแลในเรื่องอะไร จะเห็นว่าโครงสร้างที่เป็นระบบนั้น ไม่มี เพราะทุกอย่างก็จะขึ้นอยู่กับเจ้าอาวาสเพียงผู้เดียว
ขณะที่เรื่องการทำรายงานทางการเงิน ก็มีรายงานทางการเงินรูปแบบรายงานที่คุ้นเคยเท่านั้น หรือเป็นรายงานทางการเงินแบบง่ายๆ เช่น บัญชีรายรับ-รายจ่าย ซึ่งวัดก็จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่เป็นรูปแบบที่ใช้กันเองภายในวัด ไม่ได้ใช้เป็นรูปแบบที่จะสามารถเผยแพร่ได้ทั่วไป ที่มีบัญชีรายรับ-รายจ่าย รวมถึงงบกำไรขาดทุน
"หมายความว่า ถ้าหากประชาชนจะดูบัญชีการเงินของวัด ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หรืออาจจะดูได้ แต่ไม่สามารถเข้าใจได้ง่าย เพราะเป็นเรื่องที่จัดการเองภายในวัด"
เช่นเดียวกับการตรวจสอบบัญชี ก็ไม่มีกฎหมายระบุชัดเจนว่าจะต้องมีการตรวจสอบในลักษณะใด อย่างที่เขียนในกฎกระทรวง ระบุเพียงว่า ให้เจ้าอาวาสตรวจสอบบัญชีให้เรียบร้อย ซึ่งไม่ได้ระบุว่าจะให้ผู้ใดมาตรวจสอบเป็นประจำและสม่ำเสมอ จึงเป็นประเด็นตรงนี้ว่า การตรวจสอบก็ยังไม่ชัดเจนว่ากลไกในการตรวจสอบเป็นอย่างไร
"จะเป็นการตรวจสอบผู้มีอำนาจเหนือกว่า หรือจะเป็นการตรวจสอบผู้หนึ่งผู้ใด ที่มาจากหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ที่ควรจะระบุไว้"
สำหรับเรื่องการเปิดเผยรายงานหรือข้อมูลทางการเงิน โดยวัดส่วนมากจะเปิดเผยโดยการปิดประกาศในที่สาธารณะหรือภายในวัด หรือประกาศตามเสียงตามสาย ไม่ได้เผยแพร่กันในวงกว้าง เช่น การประกาศในงานทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ก็ประกาศให้รู้ข้อมูลแค่ตรงนั้น แต่สิ่งที่เราคาดหวังน่าจะเห็นรายงานทางการเงินของวัดที่มีการเผยแพร่เป็นการทั่วไป และจากการสำรวจ มีวัดน้อยมากที่จะมีการเผยแพร่ข้อมูลทางการเงินของวัดบนเว็บไซต์ แต่เป็นการเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะกว้างๆ มีรายได้ต่อปีเท่าไหร่ รายจ่ายต่อปีเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เป็นรายงานทางการเงินในลักษณะที่เป็นสากล
ผศ.ดร.ณดา กล่าวถึงทางแก้ไขเพื่ออุดช่องโหว่ว่า กฎหมายที่มีอยู่เพื่อรองรับกำกับดูแลในเรื่องการบริหารการเงินของวัดในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอต่อการธำรงไว้ซึ่งความโปร่งใส ตรวจสอบได้ หรือธรรมาภิบาลของการบริหารจัดการ ถ้าเรามองว่า วัดเป็นนิติบุคคล ก็ควรที่จะต้องยึดหลักบริหารจัดการกิจการที่ดี ดังนั้นกฎหมายที่เป็นอยู่ต้องรัดกุม กำหนดทิศทางให้ชัดว่า ให้มีการทำรายงานด้านการเงิน ทำเสร็จแล้วส่งให้ใคร ตรวจสอบอย่างไร เผยแพร่อย่างไร
กระนั้นก็ตาม ปริมาณวัดที่มีความหลากหลาย โดยมีขนาดที่แตกต่างกัน ศักยภาพในการบริหารก็ไม่เท่ากัน ถ้ากำหนดเงื่อนไขให้ทุกวัดทำเหมือนกันทั้งหมดอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ช่วยได้ คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน น่าจะเป็นประโยชน์กับวัดขนาดเล็ก โดยวัดอาจจะเรียกร้องให้ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หน่วยงานราชการ ภายในพื้นที่ ได้ส่งคนเข้าไปช่วยวางระบบหรือจัดการด้านการเงิน น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้มีการบริหารจัดการที่ดีได้
"การบริจาค อาจจะบริจาคเป็นเงิน สิ่งของ แม้กระทั่งแรงกายในการทำงานช่วยวัดก็ได้ ในอดีตพุทธศาสนิกชนอาจจะร่วมแรงร่วมใจเข้าไปช่วยงานภายในวัด แต่ยุคหลังๆ ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว คนนิยมบริจาคด้วยเงิน มีจิตศรัทธาวัดไหนก็บริจาควัดนั้น ความจริงแล้วถ้าเราจะบริจาค ควรเข้าใจในพื้นฐานของการบริจาคเสียก่อน อีกทั้งแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาไม่ถูกหยิบยกขึ้น จึงทำให้การบริจาคยุคหลังๆ เปลี่ยนไป"
คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า เห็นว่า ถ้าประชาชนเข้าใจถึงการบริจาคเงินแล้ว เงินบริจาคควรที่จะเข้าไปในวัด พอประชาชนไม่เข้าใจตรงนี้ เงินบริจาคส่วนใหญ่จึงเข้าไปที่พระสงฆ์ ซึ่งความจริงแล้วพระสงฆ์ไม่ควรที่จะสั่งสมเงินหรือปัจจัยที่เป็นเงินมากมาย แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยน ทำให้พระสงฆ์ต้องพกเงินบ้าง แต่ก็ควรมีลักษณะที่ชัดเจน เช่น วัดจะดูแลพระสงฆ์ที่จะเดินทาง แล้วต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างไร ใช้สอยในกรอบที่เพียงพอ เพื่อความชัดเจนในเรื่องเงินบริจาคให้วัดและพระสงฆ์ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงเรื่องเงินบริจาคที่ควรจะบริจาคอย่างไร ดังนั้นเป็นเรื่องที่ทางสงฆ์ต้องไปสร้างกลไกให้ชัดเจน โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ช่วยเป็นผู้ดำเนินในเรื่องนี้
โดยสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากกฎหมายหรือตัวบุคคล ส่วนมากเกิดที่ตัวบุคคล แต่ทั้งหมดนั้นก็เกิดจากกฎหมายที่ไม่รัดกุม แล้วตัวบุคคลก็อาจจะหาประโยชน์จากช่องตรงนี้ได้ ทำให้พอเกิดเหตุก็เข้าไปตรวจสอบ ซึ่งไม่ได้มีการตรวจสอบที่สม่ำเสมอ แม้จะเข้าใจว่า กำลังพลในการตรวจสอบอาจจะมีไม่พอ
แต่ถ้าอย่างน้อยที่สุดถ้ามีระบบที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยทำให้การทำงานภายในวัดมีประสิทธิภาพขึ้น อีกทั้งยังช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้การกระทำที่มิชอบเกิดขึ้นได้ !

logoline