svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จี้หน่วยงานรัฐคุมเข้ม"นักบิดบิ๊กไบค์"

24 มกราคม 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากกรณีเกิดอุบัติเหตุรถบิ๊กไบค์ ชนรถจักรยานยนต์ บริเวณถนนเทพประสิทธิ์ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี   เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย และเสียชีวิต 1 ราย เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 58   โดยผู้เสียชีวิตคือสาวประเภทสองนักแสดงคาบาเร่ต์ดังเมืองพัทยา  ซึ่งกลายเป็นข่าวที่ได้รับความจากประชาชนเป็นจำนวนมากนั้น   ล่าสุด ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี ได้สัมภาษณ์นายสมชาติ พูนรักษ์ ซึ่งขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่เรียกว่า บิ๊กไบค์มานานกว่า 6 ปี โดยเขากล่าวถึงอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นกับการขับขี่รถประเภทนี้บ่อยครั้งขึ้นว่า เป็นเพราะในวันนี้ การเข้าถึงรถบิ๊กไบค์นั้นง่ายมาก เพราะผู้ประกอบการอุสาหกรรมรถมอร์เตอร์ไซค์เริ่มเข้ามาจับตลาดนี้โดยตรง ซึ่งก่อนหน้านี้ใครจะซื้อรถบิ๊กไบค์ต้องใช้เงินสด เพราะไม่มีบริษัทมาจัดไฟแนนซ์ให้ แต่เมื่อผู้ผลิตรถมอร์เตอร์ไซค์หันมาจับตลาดนี้ ก็พามาครบวงจร จนทำให้คนที่มีเงินเดือนแค่ไม่กี่หมื่น ก็ดาวน์รถมาขี่ได้ 
ปัญหาก็คือ การขาดทักษะการขับขี่ แม้ว่าผู้ผลิตรถจะจัดอบรมการขับขี่ให้ แต่เบื้องต้นของผู้ที่ต้องการขี่บิ๊กไบค์ไม่ได้มาจากความชอบจริงๆ แต่ต้องการขี่เอาเท่ห์ หรืออยากขี่รถเร็ว บางครั้งการอบรมก็กลายเป็นดาบสองคม เพราะทำให้รู้สึกว่า อบรมมาแล้ว เก่งแล้ว ถ้าลองไปดูตามเว็บบอร์ด ก็จะเห็นคำถามที่สะท้อนอะไรได้หลายๆ อย่าง เช่นถามว่า เคยขี่ฟีโน่ จะขี่บิ๊กไบค์ได้ไหม อะไรประมาณนี้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จึงเกิดจากการขับขี่ด้วยความเร็วสูง จนคำนวณความเร็วว่า จากจุดที่ขี่อยู่กับเบื้องหน้านั้นจะไปถึงเมื่อไหร่ จะสังเกตได้ว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากรถตัดหน้า หรือเกิดจากชนท้ายรถที่กำลังจะกลับรถ
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา นอกจากการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในการขับขี่แล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวยข้องควรจะตระหนักในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของใบอนุญาตในการขับขี่เป็นการเฉพาะ เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น ที่ใครจะขี่บิ๊กไบค์ ต้องไปสอบต่างหาก เพราะขนาดของเครื่องยนต์ที่มีตั้งแต่ 250 ซีซี ขึ้นไปนั้น ความเร็วจะมากกว่ามอร์เตอร์ไซค์ทั่วไป การขับขี่ในที่ต่างๆ จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ความเร็วที่เพิ่มขึ้นคือโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นด้วยเช่นกัน
              ด้านดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก นักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องอุบัติภัยทางถนน กล่าวว่า ข้อเสนอในการป้องกันอุบัติภัยทางถนนที่อยากผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ คือการตั้งศูนย์บริการข้อมูลด้านอุบัติภัยบนถนน ที่เป็นศูนย์กลางมีฐานข้อมูลสำหรับตรวจสอบผู้กระทำความผิดซ้ำซาก เพื่อเพิ่มบทลงโทษ ทั้งยังเสนอให้มีการแยกใบอนุญาตขับจักรยานยนต์ระหว่างรถขนาดเล็กกับรถแบบบิ๊กไบค์ เหมือนในต่างประเทศ เนื่องจากระยะหลังบิ๊คไบค์เกิดอุบัติเหตุที่มีความสูญเสียรุนแรงจำนวนมากขึ้น
นพ.พลกฤษณ์ จันทรโสภาคย์ กล่าวว่า ขี่บิ๊กไบค์มากว่า 10 ปี แล้ว หลังจากบี่ได้ 2-3 ปีก็ไปอบรมการขับขี่ที่ถูกต้อง ถึงได้รู้ว่า มีหลายอย่างที่แม้จะขี่มอเตอร์ไซค์เป็น แต่ก็ไม่ถูกต้องและเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอุบัติเหตุอยู่บ้าง แต่หลังจากผ่านการอบรม และขี่ตามที่ได้เรียนรู้มาก็ทำให้ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ยังไม่เคยเกิดอะบัติเหตุเลย
ส่วนกรณีบิ๊กไบค์ในปัจจุบันที่มักเกิดอุบัติเหตุนั้น ก็เพราะผู้ขับขี่คึกคะนอง เพราะรถเครื่องใหญ่ก็เลยคิดว่าจะไปเร็วๆ อีกอย่างก็คือวัยรุ่นก็เข้าถึงง่าย เพราะค่ายรถญี่ปุ่นมาผลิตในบ้านเราก็มี ราคาก็เลยถูก แถมภาษีก็ลดลงอีก จากบางคันที่เคยราคา 6-7 แสนบาท ก็เหลือแค่ 2-3 แสนบาท แถมยังผ่อนได้อีก วัยรุ่ยสมัยนี้ก็เลยเข้าถึงง่าย เด็กเรียนมหาวิทยาลัยบางคนก็มีขี่แล้ว ซึ่งตรงนี้มันเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ
นพ.พลกฤษณ์ กล่าวด้วยว่า น่าจะถึงเวลาที่หน่วยงานรัฐควรเข้ามาดูแลในเรื่องการออกใบอนุญาตขับขี่กันได้แล้ว สำหรับผู้ที่ต้องการขี่รถมอเตอร์ไซค์เครื่องใหญ่ๆ จะต้องสอบใบขับขี่อีกประเภทหนึ่ง จะต้องมีการอบรมที่เข้มงวด แล้วต้องจำกัดความเร็วในที่ชุมชน ไม่ใช่ใครมีเงินอยากซื้อมาขี่ก็ได้เลย

logoline