svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แบงก์ชาติ ห่วงส่งออก อิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ หลัง ศก.โลกชะลอตัว

20 ตุลาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นห่วงการส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ แนะปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ รับส่งออกไตรมาส 4 ยังไม่ดีขึ้น เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จี้รัฐเร่งเจรจาเปิดเอฟทีเอไทย-อียู พาณิชย์เปิดตัวเลขเป้าหมาย ส่งออกปีหน้าวันนี้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมต.พาณิชย์ จะประกาศยุทธศาสตร์และเป้าหมายการส่งออกปี 2558 วันนี้ (20ต.ค.) หลังจากได้ระดมความคิดเห็นและประเมินสถานการณ์การส่งออก จากผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก หรือทูตพาณิชย์ 66 แห่ง จาก 43 ประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศมีปัญหา ดังนั้นการผลักดันการส่งออกของไทย จะเน้นไปที่การขยายตลาดใหม่ พร้อมรักษาตลาดเก่าพร้อมตั้งความหวังไว้ว่าจะเร่งผลักดันการส่งออกปี 2558 ให้โตกว่าจีดีพี

หลายสำนักคาดการณ์การส่งออกของไทยจะขยายตัว ไม่ต่ำกว่า 5% เมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าคาดการณ์ ก็ได้ปรับลดตัวเลขการส่งออกลง นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่าปัญหาส่งออกที่ชะลอตัวช่วงที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้น จากนี้ไปเชื่อว่าการฟื้นตัวคงเป็นไปตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดย ธปท. ประเมินการเติบโตส่งออกไทยปีหน้าไว้ที่ 4%
ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เพื่อการส่งออก ระยะหลังประเทศเพื่อนบ้านที่เคยนำเข้าสินค้าไทย หันมาผลิตและยังผลิตเพื่อส่งออกแข่งกับไทยนั้น นายเมธี ระบุเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม แต่ยังไม่ถึงกับน่ากังวล เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเข้มแข็ง ตลาดยังเติบโตได้ประเด็นที่ ธปท. เป็นห่วง คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสิ่งทอ แม้บางส่วนเริ่มปรับตัวบ้างแล้ว แต่ระยะยาวผู้ประกอบการไทย ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะปรับตัวเพื่อรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไร

การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาตรการภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ นายเมธี กล่าวว่า สนับสนุนได้เพียงชั่วคราว ประเด็นหลักอยู่ที่ว่า ผู้ประกอบการต่างชาติจะเลือกใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตหรือไม่ ตรงนี้จะดูเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ศักยภาพแรงงาน ต้นทุนของแรงงาน พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องต้องวางแผนระยะยาว ดังนั้นปัญหาการส่งออกของไทยในระยะสั้น อาจยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับปัญหาในระยะยาว

นายถาวร กนกวลีวงศ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยส่งออกโค้งสุดท้ายไตรมาส 4 ปีนี้ ยังไม่ดีเท่าที่คาดไว้ จากปกติเป็นไตรมาสที่มียอดส่งออกดีที่สุด คาดว่าขยายตัว 2% ทำให้ภาพรวมทั้งปียอดส่งออกโต 3-4% มีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าเป้าที่ว่าจะเติบโต 5% โดยตลาดส่งออกหลักคืออียู แต่ยอดขายลดลง เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งปัญหาในประเทศช่วงต้นปี ทำให้การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่มพลาดเป้า

ส่วนปี 2558 มองว่า ยอดส่งออกน่าจะดีขึ้น คาดขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% เพราะการเมืองในประเทศสงบ ส่วนตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีนี้ ขณะที่ผลกระทบจากการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีอากรของอียู ส่งผลไม่มากในปีหน้า แต่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในปีต่อๆ ไป เพราะประเทศคู่แข่งเร่งเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอียูเร็วกว่าไทย ปีหน้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มแฟชั่นขยายตัวดี เพราะการค้าชายแดนที่รัฐบาลสนับสนุน และการเข้าสู่เออีซี จะทำให้กำแพงการค้าต่างๆ ลดลง จึงขอให้รัฐบาลเร่งเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีไทย- อียู โดยเร็ว เพื่อลดความเสียเปรียบกับประเทศคู่แข่ง และเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการขยายกำลังการผลิตได้ นายถาวร กล่าว

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เผยยอดส่งออกรถยนต์ไตรมาส 4จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5%เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 เพราะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อปี57 และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 58 และงานมหกรรมยานยนต์ช่วงท้ายปี จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในเพิ่มขึ้น

ปีนี้ยอดขายภายในลดลงมาก และสินค้าการเกษตรหลายชนิดราคาตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อลดลงมาก เช่นเดียวกับการตลาดส่งออกของไทย ถือว่าไม่ค่อยดี เพราะตลาดหลักทั้งญี่ปุ่นและจีน ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ส่วนรถยนต์ที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นรถกระบะ 57% รองลงมาเป็นรถยนต์นั่ง 21% รถยนต์อีโคคาร์ 14% และรถพีพีวี 8%

ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ปี 58 ตลาดส่งออกขยายตัวสูงกว่าปีนี้ ส่วนตลาดในประเทศ คาดมียอดขายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน หรือเติบโต 10% เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐของรัฐบาล

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า การส่งออกไทยในระยะสั้นคงต้องเหนื่อยมาก โดยเฉพาะปีนี้ภาคการส่งออกอาจหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนปีหน้าคาดทำได้ 3-5% เพราะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดีนักทำให้การคาดหวังส่งออกไทยจะกลับมาเติบโต 10-15% อย่างอดีตเป็นไปได้น้อย
ปัญหาที่ทำให้ภาคส่งออกไทยชะลอตัวลงค่อนข้างมาก นอกจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความต้องการสินค้าในตลาดโลกน้อยลงแล้ว ที่ผ่านมาไทยยังเผชิญกับปัญหาค่าแรงที่สูง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกลดน้อยลงตามไปด้วย

แนวทางการแก้ปัญหา นอกจากผู้ประกอบการไทยแล้ว ต้องขึ้นกับผู้ลงทุนต่างประเทศว่า ยังเลือกไทยในการลงทุนหรือไม่เพราะค่าแรงของไทยสูงขึ้น ผู้ลงทุนบางรายต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยไปลงทุนสร้างฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม

สิ่งที่อยากชี้ให้เห็น คือ ศักยภาพส่งออกของไทยระยะยาว ถ้ายังไม่พัฒนาศักยภาพและกระบวนการผลิต อาจทำให้ส่งออกระยะต่อไปมีปัญหาสิ่งที่ต้องทำ คือ ยกระดับตัวเองขึ้นไปแข่งขันในสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงขึ้น

logoline