svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วิจัยชูเครื่อง "ออนโคเทอร์เมีย" รักษามะเร็งเต้านม

10 ตุลาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

10 ตุลาคม 2557- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชูเครื่อง "ออนโคเทอร์เมีย" ใช้รักษามะเร็ง หลังได้รับเป็นที่แรกในไทย-อาเซียน เผยผลศึกษามีศักยภาพใช้รักษามะเร็งเต้านมร่วมกับยาเคมีบำบัด พบ 22 %ของผู้ป่วยระยะที่ 3 ที่ใช้เครื่องตอบสนองการรักษาจนก้อนมะเร็งยุบหายหมด ไม่มีผลแทรกซ้อน

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวน 12.7 ล้านราย สำหรับประเทศไทย พบว่าเพศชายป่วยเป็นโรคมะเร็งตับมากที่สุดและในเพศหญิงพบโรคมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับแรก
โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ ที่สำคัญคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และพยาธิใบไม้ในตับ จากสถิติพบว่าผู้ป่วยมะเร็งตับที่สามารถผ่าตัดได้ มีเพียงร้อยละ 10 - 15 ที่เหลือ จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถมีชีวิตได้ประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น ส่วนมะเร็งเต้านม แม้ว่าการรักษาพยาบาลด้านโรคมะเร็งในระยะต้นจะได้ผลดี โดยอัตราการมีชีวิตรอดที่ 5 ปี ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สูงเกือบ ร้อยละ 100 แต่อัตราการรอดชีวิตจะลดลงเหลือเพียง ร้อยละ 30-50 เมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะที่ 3 และ 4
"สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้มีเครื่องออนโคเทอร์เมียใช้เป็นที่แรกในไทยและอาเซียน และได้มีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพการใช้งาน เบื้องต้นได้ผลดี ถ้ามีการศึกษามากขึ้นแล้วพบว่าดี จะเสนอเป็นเชิงนโยบายในการใช้เป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โดยจะเริ่มที่ศูนย์มะเร็งของกรมการแทย์ในแต่ละภูมิภาคก่อน" นพ.สุพรรณ กล่าว
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีใช้ความร้อนเพื่อเป็นการรักษาทางเลือก หรือร่วมรักษาในโรคมะเร็ง ปัจจุบันมี 3 รูปแบบ คือ 1. การใช้ความร้อนระดับต่ำ 2.การใช้ความร้อนระดับปานกลาง 3.การใช้ความร้อนระดับสูง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้นำการใช้ความร้อนระดับปานกลาง หรือ ออนโคเทอร์เมีย (Oncothermia ) มาใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หลักการทำงาน คือ การใช้ความร้อนระดับปานกลาง อุณหภูมิประมาณ 42-43 องศาเซลเซียส เฉพาะที่กับตัวมะเร็ง เพื่อให้เกิดกระบวนการตายของเซลล์มะเร็งแบบไม่เกิดการอักเสบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าสามารถเป็นทางเลือกหรือร่วมรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ผลดี และเตรียมขยายผลการศึกษาในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาในผู้ป่วยรายบุคคล รวมถึงเพิ่มอัตราการอยู่รอดในระยะยาวของผู้ป่วย การลดโอกาสเกิดโรคซ้ำ
นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ทีมวิจัยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2555 โดยออกแบบงานวิจัยเป็น 2 โครงการย่อยเพื่อเปรียบเทียบผลการใช้ออนโคเทอร์เมีย คือ 1.ศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบอัตราการยุบของก้อนมะเร็งเต้านม ในผู้ป่วยระยะที่ 3 ที่ใช้ Oncothermia ร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด จำนวน 30 ราย 2. ศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบเวลาการมีชีวิตรอดของผู้ป่วยมะเร็งตับระยะท้าย ที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องนี้เทียบกับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ให้การรักษาแบบประคับประคอง จำนวน 22 ราย ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า อายุเฉลี่ย ชนิดของมะเร็ง ขนาดก้อนมะเร็งก่อนการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ร้อยละ 22 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 ในกลุ่มทดลองที่ใช้เครื่องนี้ร่วมรักษากับเคมีบำบัดมีการตอบสนองจนก้อนมะเร็งยุบหายหมด
ในขณะที่ไม่มีผู้ป่วยรายใดในกลุ่มการรักษา แบบปกติ ที่มะเร็งยุบหมด ส่วนมะเร็งตับระยะสุดท้าย พบว่าร้อยละ 25 ของผู้ป่วยในกลุ่มทดลองมีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยเครื่องนี้ และระยะเวลาเฉลี่ยของการมีชีวิตรอดของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษา 15.3 เดือน ส่วนระยะเวลาการอยู่รอดของผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอยู่ที่ 2.7 เดือน เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ใช้เครื่องจะอยู่ที่ 2.2 เดือน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม การทดลองไม่พบผู้ป่วยรายใดมีผลแทรกซ้อนจากการรักษาเพิ่มเติม

วิจัยชูเครื่อง \"ออนโคเทอร์เมีย\" รักษามะเร็งเต้านม


"การศึกษาในครั้งนี้ พบว่าการใช้เครื่อง ออนโคเทอร์เมีย รักษามะเร็งด้วยความร้อน มีศักยภาพที่จะใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมร่วมกับยาเคมีบำบัด และอาจใช้เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดให้บริการทั่วไป เพราะเป็นโครงการศึกษา เว้นแต่ผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาที่สถาบันฯแล้วแพทย์แนะนำให้เข้ามารับคำปรึกษาเพื่อเข้าร่วมโครงการเท่านั้นแต่ในอนาคตหากมีการศึกษามากขึ้น อาจเปิดให้บริการทั่วไป" นพ.สมชายกล่าว
นพ.สมชาย กล่าวอีกว่า ที่เลือกศึกษามะเร็งตับและมะเร็งเต้านมก่อน เพราะเป็นมะเร็งที่มีการป่วยมากเป็นอันดับหนึ่งของคนไทย โดยหลักการทำงานของเครื่องนี้ จะปรับเปลี่ยนความร้อนบริเวณก้อนมะเร็ง โดยเครื่องจะสามารถเลือกจุดเฉพาะที่เป็นก้อนมะเร็งได้เอง ทำให้ความร้อนเกิดขึ้นเฉพาะจุดบริเวณก้อนมะเร็งและใกล้เคียง จะไม่เกิดกับเซลล์ปกติ ซึ่งความร้อนที่เพิ่มขึ้นที่ก้อนมะเร็งทำให้ผิวมะเร็งรั่วมากขึ้น ส่งผลให้ยาเคมีบำบัดสามารถเข้าไปทำลายก้อนมะเร็งได้มากขึ้น ก้อนมะเร็งก็จะตายได้ง่ายขึ้นกว่าการให้เพียงเคมีบำบัดอย่างเดียว
ทั้งนี้ ไม่มีข้อจำกัดของผู้ป่วยในการใช้วิธีการรักษานี้ แต่เนื่องจากผู้ป่ยระยะเริ่มตเนมีการรักษามาตรฐาน เช่น การผ่าตัด การฉายแสง การให้เคมีบำบัดให้ผลดีอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยระยะที่ 3 เป็นต้นไปจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง จึงนำการรักษานี้มาใช้เป็นทางเลือกช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยรายใดใช้ประโยชน์จากการักษาวิธีนี้แล้วได้ผลก่อนนำมาใช้เป็นแนวทางการรักษาในวงกว้าง

logoline