svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ป.ป.ท.สอบโกงสร้างสนามฟุตซอล 30 โรงเรียน 6 อำเภอในโคราช

01 ตุลาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นครราชสีมา - 1 ต.ค. 2557 - ป.ป.ท.สอบโกงสร้างสนามฟุตซอล 30 โรงเรียน 6 อำเภอ ในโคราช พบพิรุธส่อทุจริต ราคาแพงกว่าท้องตลาด 5 เท่า ต่ำมาตรฐานใช้งานไม่ถึง 2 ปีสนามพัง จ่อขยายผลฮั้วประมูล


นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ( ป.ป.ท.) พ.อ.สมหมาย. บุษบา. ที่ปรึกษากฎหมายกองทัพภาคที่ 2 สนธิกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในโรงเรียนหันห้วยทรายพิทยาคม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ภายหลังได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบการทุจริตก่อสร้าง อีกทั้งสนามฟุตซอลในโรงเรียนหลายแห่งมีสภาพชำรุดเสียหายจนใช้งานไม่ได้ทั้งที่การก่อสร้างเพิ่งแล้วเสร็จไม่นาน
นายประยงค์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวมีการร้องเรียนไปยังกองทัพภาค2ให้เข้าตรวจสอบสนามฟุตซอลหลายแห่งซึ่งมีประเด็นต้องสงัยว่าก่อสร้างแพงเกินจริงและใช้วัสดุอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน ป.ป.ท.จึงกระจายกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบในโรงเรียน 30 แห่งใน 6 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย  อ.ชุมพวง  อ.พิมาย อ.ประทาย อ.โนนสูง อ.โนนแดง และ อ.ลำทะเมนชัยพบว่าทุกแห่งก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานสภาพสนามชำรุดทุรดโทรมจนใช้งานไม่ได้บางแห่งก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์และไม่เป็นไปตามสเปกที่ต้องโครงหลังคาทำให้พื้นสนามที่เป็นยางสังเคราะห์EVAชำรุด. นอกจากนี้ยังพบพิรุธที่ต้องขยายผลกรณีที่พบว่าบริษัทที่ชนะการประกวดราคาก่อสร้างเป็นผูประกอบกิจการ2รายที่มีบริษัทเดียวกัน  
เลขาธิการป.ป.ท. กล่าวต่อว่า เมื่อตรวจการใช้งบประมาณก่อสร้างพบว่ามีการแยกเป็นหลายส่วนอาทิค่าก่อสร้างพื้นคอนกรีต. งานปูพื้นยางสังเคราะห์ที่มีราคาสูงถึงตารางเมตรละ2,600บาท สูงกว่าราคาในท้องตลาดที่ระบุราคาพื้นยางที่ดีที่สุดจะมีราคาเพียง1,500-1,600 บาท  นอกจากนี้ยังพบมีการจัดซื้อหนังสือคัมภีร์กีฬาเล่มละ1,200บาทหนังสือต่อสู้โรคชุดละ2,000บาท ไม่นับรวมอุปกรณ์กีฬาที่มีราคาแพงผิดปกติเช่นตะกร้อลูกละ220บาท ฟุตบอลลูกละ940บาท อย่างไรก็ตามงบประมาณที่ใช้ส่วนใหญ่หมดไปกับค่าปูพื้นยางสังเคราะห์ประมาณ80% 
"จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามี17จังหวัด รวม101โรงเรียนที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างสนามฟุตซอล วงเงิน 2,500,000บาท สำหรับสร้างสนามเนื้อที่ 726 ตารางเมตร และวงเงิน5ล้านบาท สำหรับสร้างเนื้อที่1,512 ตารางเมตร. ปรากฎว่าจังหวัดที่มีการนำงบประมาณไปก่อสร้างสนามฟุตซอลจริง ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ มุกดาหาร สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีษะเกษ ขอนแก่น เชียงราย พะเยา รวมเป็นเงินจำนวน 335 ล้านบาทส่วนอีก 6จังหวัด จำนวน257โรงเรียน ประกอบด้วย จ.สุรินทร์ อุดรธานี อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สระบุรี ชลบุรี  เปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น สร้างห้องน้ำโรงเรียน" นายประยงค์ กล่าว
แหล่งข่าวจากชุดสืบสวนป.ป.ท.ระบุว่าชุดสืบสวนตั้งข้อสังเกตเพื่อขยายผลการตรวจสอบ 5 ประเด็นดังนี้ 
1.กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแม้ใช้ระบบอีอ๊อคชั่น(E-Auction)มีลักษณะที่แต่ละโรงเรียนต่างดำเนินการแยกจากกันแต่มีบริษัทเดียวที่ได้เข้าทำสัญญากับทุกโรงเรียน ซึ่งอาจเข้าข่ายฮั้วประมูล 
2.ราคากลางและคุณลักษณะเฉพาะทีโออาร์(TOR)ของทุกโรงเรียนมีการกำหนดจำนวนเงินและลักษณะคล้ายกัน
3.การก่อสร้างชั้นพื้นฐานสนามคอนกรีตไม่เป็นไปตามรูปแบบ พื้นคอนกรีตเอียง ไม่ได้ระดับ ผิวคอนกรีตหลุดร่อน สภาพปัจจุบันมีการรื้อพื้นยางเก็บ เนื่องจากปูแล้วไม่สามารถทำการใช้สนามฟุตซอลได้ตามปกติเพราะมีการงอตัวของพื้นยาง
4.ข้อเท็จจริงที่ได้ตรวจสอบข้อมูลเรื่องราคากับบริษัทที่ทำการขายพื้นยางสังเคราะห์(EVA)ปรากฏว่ามีราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ310,000บาท แต่โรงเรียนจัดซื้อในราคา 1.9 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ5 เท่าของเงินที่ทางราชการต้องเสียงบประมาณในการจัดซื้อ
5.เจ้าของบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสร้างสนามฟุตซอลกับทุกโรงเรียน (บ.วายอีอีจำกัด) มีภูมิลำเนาเดียวกันกับที่ตั้งของบริษัทฯผู้ผลิตยางEVA และบริษัทที่ผลิตหนังสือ
ทางด้านพ.อ.สมหมาย กล่าวว่า งบประมาณ 2.5 ล้านบาท และ5 ล้านบาทสำหรับก่อสร้างสนามฟุตซอลต้องมีโครงสร้างหลังคาคลุมสนาม แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบไม่พบการก่อสร้างโครงหลังคาจึงทำให้สนามฟุตซอลในโรงเรียนเกือบทุกแห่งพังเสียหายจนใช้งานไม่ได้ ทั้งที่ใช้งานไม่ถึง 2 ปี
ด้านนายวีระพงษ์ จันทนุกูล ผอ.โรงเรียนบ้านหันห้วยทราย กล่าวว่า โรงเรียนเป็นผู้เสนอของบประมาณสร้างสนามฟุตซอลแต่ไม่เคยได้รับอนุมัติโครงการจนกระทั่งส.ส.นำไปแปรญัตติและจัดสรรงบประมาณมาให้โรงเรียน หลังการก่อสร้างโรงเรียนได้ใช้งานสนามฟุตซอลอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์
สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นงบประมาณของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555จากงบแปรญัตติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยรายการค่าก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่นที่ชำรุดทรุดโทรม และที่ประสบอุบัติภัย วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,947,278,000บาท โดยงบประมาณดังกล่าวได้มีการจัดสรรให้กับโรงเรียนใน 17จังหวัด รวม358โรงเรียน เพื่อใช้ก่อสร้างสนามฟุตซอลเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 689,530,800 บาท

logoline