svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สธ.พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวน โรคอีโบลารายแรกในไทย

02 กันยายน 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สธ.พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีโบลารายแรก เป็นหญิง 24 ปี ชาวกินีมีไข้ มาไทยเมื่อ 20 ส.ค.57 รับตัวรักษาห้องแยกโรคในรพ.ประจำจังหวัด พร้อมเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดอีก 16 คน ส่งเชื้อตรวจกรมวิทย์-จุฬาฯ รู้ผลเย็น 2 ก.ย. 57

เมื่อวันที่ 2 กันยายน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวความก้าวหน้าระบบเฝ้าระวังอีโบลาว่า จากมารตรการเฝ้าระวังโรคอีโบลาของสธ.  ขณะนี้พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีโบลา 1 รายในประเทศไทยเป็นรายแรก โดยเป็นหญิงชาวกินี อายุ 24 ปี มีอการไข้ 38.8 องศาเซลเซียส เจ็บคอ มีน้ำมูก อาเจียน ได้รับตัวไว้รักษาในห้องแยกโรคปรับความดัน ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดแห่งหนึ่งตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 และให้การดูแลตามมาตรฐานสากลของการรักษาตามอาการเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อทั่วไป หญิงรายนี้เดินทางจากประเทศกินีมาถึงไทยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ผ่านด่านควบคุมโรคที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไม่มีอาการไข้  โดยมีอาการไข้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 และได้เดินทางไปพบแพทย์
            ขณะนี้อาการไข้ลดลง ตรวจวัดสัญญาณชีพและวัดไข้ทุก 4 ชั่วโมง  แพทย์ได้เจาะเลือดส่งตรวจหาเชื้ออีโบลาครั้งที่ 1 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คาดว่าจะทราบผลเบื้องต้นภายในวันที่ 2 กันยายน 2557 และจะวางแผนเจาะเลือดครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 กันยายน 2557เพื่อยืนยันผลซ้ำ และขอย้ำว่าผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายนี้ ยังไม่ได้เป็นผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาแต่อย่างใด แต่เมื่อมีอาการไข้และประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค สธ.จะต้องดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นนพ.ณรงค์กล่าว
           นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้มีการเฝ้าระวังผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้เข้าเกณฑ์รายนี้อีก 16 คน ทั้งคนไทยและต่างประเทศ โดยทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วกำลังเข้าไปสอบสวนโรค หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงจะรับตัวเข้ามาไว้ที่ห้องแยกโรคปรับความดันในโรงพยาบาล จนพ้นระยะฟักตัวของโรค 21 วันหรือจนกว่าผลทางห้องปฏิบัติการณ์จะยืนยันผล ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคนี้จะใส่ชุดกราวน์กันน้ำที่สามารถป้องกันโรคได้ในระดับสูง และเครื่องมือแพทย์ที่ใช้กับผู้ป่วย ได้ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างเคร่งครัด
                นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สำหรับอาการของผู้ที่จะเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีโบล่าจะแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1.ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค คือ ผู้ที่มีอาการไข้ เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค  2.ผู้ต้องสงสัย นอกจากจะมีอาการไข้ เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดแล้ว จะมีอาการชัดเจน เช่น เลือดออก 3. ผู้ที่น่าจะเป็นโรคอีโบลา ได้แก่ ผู้ที่มีลักษณะตามข้อ 1 ,2 และมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่แต่ยังไม่มีผลตรวจยืนยัน และ4. มีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการชัดเจน
           หญิงรายดังกล่าว ถือว่า เข้าข่ายกรณีแรก คือเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เพราะเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีไข้ โดยมีไข้จึงมาพบแพทย์ การสอบสวนประวัติจึงทราบว่าเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงถือว่าต้องเข้าข่ายสอบสวนเฝ้าระวังโรค ส่วนประวัติการสัมผัสของหญิงรายดังกล่าวในพื้นที่กินี ต้องรอให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว สัมภาษณ์ประวัติอย่างละเอียดอีกครั้ง ?ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เข้าข่ายสัมผัสกับหญิงรายดังกล่าว จะต้องแยกกลุ่มตามประวัติ?สัมผัสใกล้ชิด และไม่ใกล้ชิดนพ.โสภณกล่าว
              ต่อข้อถามการเจอผู้หญิงเข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายนี้หลังจากที่เข้ารักษาที่โรงพยาบาล ถือว่ามาตรการเฝ้าระวังหละหลวมหรือไม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  กรณีนี้ถือว่าสามารถพบเจอผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว การเฝ้าระวังมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในการเฝ้าระวังจะแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ที่ท่าอากาศยานหากพบว่ามีไข้จะนำตัวเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลทันที ถ้าไม่มีไข้จะมีการติดตาม สอบถามอาการทุกวันจนครบ 21 วัน 2.การเฝ้าระวังที่ชุมชน และ3.เฝ้าระวังที่โรงพยาบาล แต่ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคชาวกินีรายนี้ ไม่สามารสื่อสารภาษาอังกฤษได้  พูดได้เฉพาะภาษาฝรั่งเศส การสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์จึงเป็นไปได้ลำบาก จนเมื่อมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจึงได้มีการจัดหาล่ามภาษาฝรั่งเศสมาช่วยสื่อสาร
                 อนึ่ง องค์การอนามัยโลกหรือฮูก รายงานพบผู้ป่วยโรคอีโบลาทั่วโลกสะสม 3,069 ราย เสียชีวิต  1,552 ราย อัตราป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 51 %

logoline