svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สาธารณสุข...ชง 4 ข้อทักท้วงกฎหมายอุ้มบุญ

29 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงสาธารณสุขชง 4 ข้อทักท้วงกฎหมายอุ้มบุญต่อกฤษฎีกา กำหนดหญิงต้องเป็นญาติไว้ในกฎหมายหลัก พร้อมขอเพิ่มหลักเกณฑ์ยุติการตั้งครรภ์กรณีเด็กผิดปกติ ขณะที่แพทยสภาเห็นต่าง กฎหมายใหญ่ไม่ควรกำหนดบีบรัดเกิน

วิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมกับแพทยสภา จัดการประชุมเรื่องการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยมีแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์อย่างถูกต้องกับราชวิทยาลัยฯ และแพทยสภาที่ได้รับอนุญาตให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เข้าร่วมประมาณ 100 คน จากทั้งหมด 240 คนทั่วประเทศรองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ บอกว่า สบส.จะนำข้อทักท้วงของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ใน 4 ประเด็น คือ 1.ให้เพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการภาคสังคมมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนของแพทย์มากกว่าภาคสังคม2.ให้ปรับชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกองประกอบโรคศิลปะ ได้เปลี่ยนเป็นสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ โดยขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนชื่อในกฎหมายตามความเป็นจริง3.ขอให้นำประกาศของแพทยสภาที่ระบุว่าการอุ้มบุญต้องเป็นญาติเท่านั้น ให้เข้าไปบรรจุในร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย4.ขอให้เพิ่มโทษอาญาเข้าไปในร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเพิ่มกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการยุติการตั้งครรภ์กรณีการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แล้วเกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ไว้ในกฎหมายนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดจะนำเสนอข้อทักท้วงดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า การออกกฎหมายมาควบคุมการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอุ้มบุญนั้น ถือเป็นเรื่องดี แต่หากมีความเข้มงวดมากเกินไปเกรงว่าจะทำให้แพทย์ไม่กล้าให้บริการ และหวั่นวิตก และคนที่ต้องการทำอุ้มบุญที่ถูกกฎหมายก็จะไม่สามารถทำได้
ดังนั้น การออกกฎหมายควรออกในลักษณะกว้างๆ อย่างกรณีการกำหนดให้หญิงที่มารับอุ้มบุญหรือตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติเท่านั้นจริงๆ ไม่ควรกำหนดในกฎหมายใหญ่ เพราะความเป็นจริงคู่สมรสหลายคู่ไม่มีญาติหรือแม้แต่ลูกพี่ลูกน้องก็ไม่มี
ขณะที่พวกเขาต้องการมีลูก และไม่สามารถมีลูกได้ อาจเพราะมีปัญหามดลูก ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหา ดังนั้นควรเขียนในกฎหมายกว้างๆว่า การให้หญิงอุ้มบุญให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของแพทยสภา หรือกฏกระทรวง เพราะจะสามารถเขียนละเอียดและปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่า เนื่องจากหากออกเป็น พ.ร.บ.จะแก้ไขยาก
โดยปัจจุบันระเบียบแพทยสภาระบุให้อุ้มบุญเฉพาะเครือญาติ แต่หากมีความจำเป็นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทยสภา ขึ้นอยู่กับกรณีไป กฎหมายใหญ่ควรยึดตามข้อระเบียบแพทยสภา แต่ไม่ควรไปเขียนในกฎหมาย เนื่องจากในอนาคตสังคมเปลี่ยน อย่างอาจให้คู่รักเพศเดียวกัน
และผู้หญิงโสด สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยการมีลูกได้ ตัวระเบียบก็จะสามารถปรับแก้ได้ ไม่ใช่ไปปิดโอกาสในอนาคต เพราะจะขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้แพทยสภาจะนำเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกาควบคู่กับทาง สบส. เพื่อให้พิจารณาต่อไป
ส่วนการเอาผิดทางอาญากับแพทย์ได้ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า มี ในร่าง พ.ร.บ.จะสามารถเอาผิดได้ทั้งแพทย์และเอเจนซีและผู้ที่ร่วมในขบวนการ หากพบว่าเกี่ยวข้องกันจะมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี แต่จะไม่ไปเอาผิดกับพ่อและแม่ที่แท้จริงของเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ เพราะต้องเห็นแก่ประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ เท่ากับว่าหากมีพรบ.นี้เกิดขึ้นแพทย์จะมีความผิด 2 ทางคือ ความผิดทางอาญาและความผิดทางจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภาดด้วย

logoline