svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักเรียนบัวใหญ่ ทำเครื่องแยกเหรียญ ชนะเลิศโครงงานวิทยาศาสตร์อีสาน

22 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ขอนแก่น - นักเรียนโรงเรียนบัวใหญ่คว้ารางวัลชนะเลิศ ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายภาคอีสาน หลังทำเครื่องแยกเหรียญและอุปกรณ์การนับเหรียญพลังงานสะอาด โดยจุดเด่นคือการลดใช้พลังงานและอุปกรณ์สามารถหาได้จากท้องถิ่น แถมยังใช้ได้จริงในโรงเรียนอีกด้วย

เมื่อวันที่ 18-20 สิงหาคมที่ผ่านมาได้มีการจัดการประกวดโครงงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 2557ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีโครงงานส่งเข้าร่วมประกวดกว่า 100 โครงงาน และโครงงานที่ได้รับความสนใจพร้อมการการันตีความยอดเยี่ยมด้วยรางวัลชนะอันดับที่ 1 คือ เครื่องแยกเหรียญและอุปกรณ์นับเหรียญพลังงานสะอาดจัดทำโดยนักเรียนจากโรงเรียนบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา
น.ส.วรรณนิสา จงคอยกลาง พร้อมด้วย น.ส.รัชนิกร ทองพรม และน.ส.พลอยมณี จำปาศักดิ์ พร้อมผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของน้องกลุ่มนี้คือ นายมงคล เปลี่ยนเอก อาจารย์ที่ปรึกษา และน.ส. พรทิพย์ วงษ์จันลาที่ปรึกษาพิเศษ ซึ่งโครงงานนี้ถือว่าเป็นนวัตกรรมแปลกใหม่ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างสัมฤทธิ์ผล
น.ส.วรรณนิสา หนึ่งในนักเรียนที่ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ดังกล่าวนี้เพราะว่า ที่โรงเรียนมีร้านค้าสหกรณ์ ซึ่งจะขายสินค้าให้กับเด็กนักเรียนในช่วงกลางวัน และ พอตอนบ่ายทุกคนก็จะเร่งไปเรียน คุณครูก็จะเร่งไปสอน ทำให้ไม่มีเวลานับเงินกัน ทำให้พวกตนคิดว่าจะทำอย่างไรจะทำให้นับเงินได้ง่ายขึ้น จึงได้จัดทำโครงงานนี้ขึ้นมา
โดยตั้งสมมติฐานไว้ว่า เครื่องแยกเหรียญและอุปกรณ์นับเหรียญพลังงานสะอาด สามารถแยกเหรียญ และนับเหรียญที่เร็วกว่าคนแยกและคนนับโดยนำประสบการณ์ชีวิตที่เคยพบเห็น อย่างโรงสีข้าวในขั้นตอนของการแยกวัตถุอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่าเมล็ดข้าวออกจากเมล็ดข้าว ก่อนจะสีข้าว และได้เห็นเครื่องปั่นด้ายสมัยโบราณในชุมชนจึงมีแนวคิดนำหลักการของเครื่องสีข้าว และเครื่องปั่นด้ายมาประยุกต์เข้าด้วยกัน
โดยนำวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เครื่องแยกเหรียญและอุปกรณ์นับเหรียญพลังงานสะอาดเพื่อช่วยในการคัดแยกเหรียญ และนับเหรียญ อีกทั้งยังเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ในชีวิตประจำวันและสามารถประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นใช้ได้เองอย่างมีประสิทธิภาพช่วยประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการแยกเหรียญ และนับเหรียญ
โดยหลักการในการทำโครงงานนี้ น.ส.วรรณนิสา บอกว่า เมื่อก่อนที่เราไปแข่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะเป็นมอเตอร์ คือการใช้ไฟฟ้าแต่ไม่ได้รางวัลเป็นเพราะเป็นการไม่ประหยัดพลังงาน จึงเข้าร่วมการแข่งขันธรรมดา แต่ตัวนี้เราประยุกต์จากใช้ไฟฟ้ามาเป็นใช้พลังงานของคนแทน จึงทำให้เราชนะการแข่งขันในวันนี้
ส่วนวิธีการทำงานของเครื่องแยกเหรียญนี้ประดิษฐ์จากวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น โดยการนำเหรียญทั้งหมดมาใส่รวมกันในชั้นบนสุด แล้วการทำงานของเครื่องจะเป็นการหมุนของจานจักรยานทำให้ตัวเครื่องแยกเหรียญสั่นสะเทือน เหรียญกษาปณ์ก็จะหล่นลงในแต่ละชั้นตามขนาดของรูที่เจาะ
เมื่อจานจักรยานหมุนนานขึ้นก็ยิ่งทำให้ตัวเครื่องแยกเหรียญมีประสิทธิภาพในการแยกเหรียญมากขึ้นและเมื่อนำเวลามาเปรียบเทียบระหว่างเครื่องแยกกับคนแยก จากนั้นมีการจับเวลาของการทำงานของเครื่อง ในการทดสอบจะทำ 3 ครั้ง แล้วนำข้อมูลมาหาค่าเฉลี่ยจะเห็นได้ว่าเครื่องแยกใช้เวลาน้อยกว่าคนแยก ส่วนอุปกรณ์นับเหรียญ เมื่อนำเวลามาเปรียบเทียบระหว่างอุปกรณ์นับกับคนนับ สามารถแยกเหรียญ 1 บาท 2 บาท 5บาท และ 10 บาท ออกจากกันได้จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์นับใช้เวลาน้อยกว่าคนนับ
ด้านนายมงคลอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า เครื่องนับเหรียญเครื่องนี้มีประโยชน์จริง และตรงตามสมมติฐานเคยมีการใช้งานจริงมาแล้วที่สหกรณ์โรงเรียนบัวใหญ่ คือเมื่อก่อนเราใช้คนแยกหรือเรานับเหรียญ นับจำนวนเงิน จะใช้คนทำ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ตอนนี้เร็วกว่าประมาณเท่าตัว และเครื่องนี้ก็ทำจากวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้เช่น กล่องหรือแผ่นพลาสติก เพลาข้อเหวี่ยงเล็ก โซ่จักรยาน จานหน้าและจานหลังของจักรยาน ท่อพีวีซี
โดยวิธีการทำนั้น สามารถทำได้ดังนี้ เตรียมกล่องที่มีลิ้นชัก จำนวน 4 ชั้นแล้วนำชั้นของลิ้นชักมาวัดตามขนาดของเหรียญโดยเหรียญ 5 บาท วัดขนาดของรูที่จะเจาะในลิ้นชักที่ 4 ใช้เหรียญ 2 บาท วัดขนาดของรูที่จะเจาะในลิ้นชักที่3 ใช้เหรียญ 1 บาทวัดขนาดของรูที่จะเจาะในลิ้นชักที่ 2 จากนั้นนำลิ้นชักมาเจาะรูที่วัดได้ทั้ง 3 ชั้น และนำฝากล่องมาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพื่อให้สามารถใส่เหรียญในเครื่องแยกเหรียญได้
โดยวัดและตัดเหล็กทำเป็นฐานเพื่อเสริมความแข็งแรงและมั่นคง พร้อมกับตัดเหล็กและเชื่อมต่อเป็นฐานรองกล่องแยกเหรียญ แล้วนำฐานนั้นมาขันน็อตยึดติดกับฐานเหล็ก และ นำจานหน้าและหลังของจักรยานมาติดตั้งเข้ากับเพลา อีกทั้งประกอบโซ่เข้ากับจานหน้าและหลัง แล้วทดสอบการทำงาน อันดับต่อไปคือ ประดิษฐ์อุปกรณ์นับเหรียญกับท่อพีวีซี
โดยการเตรียมท่อพีวีซีที่มีขนาดรูเท่ากับเหรียญ1 บาท 2 บาท 5 บาท และ 10 บาท และนำเหรียญ 1 บาท 2 บาท 5 บาท และ 10 บาท มาใส่ลงในท่อพีวีซีตามขนาดที่เตรียมไว้ จากนั้นใส่เหรียญแต่ละชนิดลงในท่อให้ครบจำนวน 100 บาท วัดความสูงของเหรียญในแต่ละท่อแล้วตัด และตัดแผ่นพลาสติกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มาปิดรูอีกด้านหนึ่งของท่อพีวีซีไว้ ก็จะได้อุปกรณ์นับ เหรียญรุ่นประหยัดจากท่อพีวีซีที่สำคัญยังเป็นการพัฒนาความรู้และได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้วยแค่นี้ก็สำเร็จ

logoline