svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แพทย์จุฬาชี้ ไม่พบเชื้ออีโบล่าใน "ค้างคาว-ลิง"

01 สิงหาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แพทย์จุฬาฯเผยผลตรวจเชื้ออีโบล่าในค้างคาว 699 ตัว และลิง 50 ตัวในไทยยังไม่พบเชื้อ พร้อมเตือนไม่ให้ประมาท โดยเฉพาะโรคที่มีอาการคล้ายคลึงอีโบล่า

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรคไวรัสอีโบล่า (Ebola) เป็นกรณีตัวอย่างของการแพร่โรคระบาดจากสัตว์สู่คน โดยมีการค้นพบในปี พ.ศ.2548 ว่าไวรัสอีโบล่ามีแหล่งเพาะเชื้ออยู่ในค้างคาวกินพืชในแอฟริกา ซึ่งพัฒนาการของโรคเกิดจากการจับค้างคาวมาบริโภค ทำให้เกิดการติดเชื้อ ทั้งในคนฆ่า ชำแหละ คนกิน จนนำไปสู่การติดต่อจากคนสู่คนในที่สุด
โดยพฤติกรรมการรุกล้ำจับสัตว์ป่ากิน ทำให้มีการแพร่โรคเข้าไปในแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียร่าลีโอน และที่สำคัญเป็นการแพร่ระบาดหนักอย่างไม่หยุดยั้ง ใน 3 ประเทศดังกล่าวตั้งแต่เดือน มิถุนายน จนถึงปัจจุบันจนไม่สามารถควบคุมได้ ข้อมูล ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วยจำนวน 1,093 ราย ยืนยันแล้ว 786 ราย เข้าข่าย 201 และสงสัย 106 ราย ขณะที่มีผู้ป่วยเสียชีวิต 660 ราย และที่ยืนยัน 442 ราย เข้าข่าย 174 ราย และสงสัย 44 ราย
นายแพทย์ ธีระวัฒน์ บอกถึงความเสี่ยงในภูมิภาคเอเชียและไทยว่า ยังไม่มีการติดต่อจากผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยง หรือมีการนำเข้าสัตว์ป่าจากประเทศที่ระบาด แต่ที่ต้องระวังคือ เชื้อไวรัสอีโบล่ามีการฝังตัวในภูมิภาคอยู่แล้ว เช่น มีการพบค้างคาวในบังคลาเทศมีการติดเชื้อไวรัสอีโบล่า โดยที่สายพันธุ์ค้างคาวไทยมีความใกล้เคียงกับบังคลาเทศ นอกจากนั้น ไวรัสอีโบล่า มีการข้ามสายพันธุ์โดยพบในประเทศฟิลิปปินส์ (พศ. 2532, 2539) พบเชื้อจากลิงข้ามมาสู่สุกร และสามารถติดมาถึงคนได้
ล่าสุดการเตรียมพร้อมของศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ทำการตรวจค้างคาวไทย 699 ตัว ในภูมิภาคต่างๆ ไม่พบการติดเชื้อไวรัสอีโบล่า และตรวจลิง 50 ตัว ไม่พบเชื้อ
ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการติดต่อขึ้นกับสถานะของผู้ป่วยและความใกล้ชิด กิจกรรมในการสัมผัส เช่น เลือด สิ่งคัดหลั่ง น้ำลาย เหงื่อ รวมทั้งอุจจาระ ปัสสาวะ หรือสัมผัสกับร่างผู้เสียชีวิต ทารกดูดนมมารดาที่ป่วยด้วยอีโบลา ทั้งนี้รวมถึงการสัมผัสเลือดสารคัดหลั่งจากสัตว์ ได้แก่ ค้างคาว ลิง วัว ความ หมู ด้วย
นายแพทย์ ธีระวัฒน์ ย้ำว่าประเทศไทย ต้องไม่ละเลยโรคประจำถิ่นที่มีอาการคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็น โรคฉี่หนู ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย เป็นต้น และโรคอุบัติใหม่ที่ไม่ประจำถิ่น ซึ่งระบาดในต่างประเทศ เช่น โรคเมอร์ส (MERS-CoV) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน คล้ายโรคซารส์

logoline