svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปิดฉากเรือนจำหลักสี่

29 กรกฎาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ หรือคุกโรงเรียนพลตำรวจบางเขน สถานที่คุมขังนักโทษคดีการเมือง เป็นประเด็นฮ็อทภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลที่มี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลชุดนี้ประกาศนโยบายชัดเจนในการคืนความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขังในคดีเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับการชุมนุมเผาเมือง ปี 53

การจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ มี "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหอก โดยเริ่มต้นประชุมขอใช้สถานที่ภายในโรงเรียนพลตำรวจบางเขนเดิม จากพล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์  ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนนำไปสู่โครงการปรับปรุงอาคารสถานที่ภายในคุกหลักสี่ในช่วงเดือนธันวาคม 2554  
โดยในช่วงแรกเริ่มคุกแห่งนี้ถูกจับตาว่าอาจไม่ได้ใช้เป็นเรือนจำเพื่อคุมขังนักโทษเสื้อแดงเท่านั้น เพราะด้วยตารางอาณาเขตที่ตั้งอยู่ภายในสโมสรตำรวจ วิภาวดี มีกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดอยู่ฝั่งตรงข้าม ดังนั้นคุกวีไอพีแห่งนี้ถูกจัดเตรียมเพื่อรองรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องโทษจำคุกในคดีที่ดินรัชดาฯด้วยหรือไม่
 จากนั้นเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 55 พล.ต.อ.ประชาจึงลงนามใน คำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 663/2554 เรื่อง กำหนดอาณาเขตเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ เพื่อเป็นการอนุวัตรตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้จัดหาสถานที่ในการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอันมีมูลเหตุจูงใจเพื่อบรรลุเป้าหมายในทางการเมือง ด้วยเหตุนี้เอง
จึงน่าจะเรียกว่าได้คุกหลักสี่แห่งนี้เปิดฉากขึ้นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพื่อเยียวยาคนเสื้อแดง แต่จำกัดวงเฉพาะผู้ต้องขังคดีอาญาที่ไม่ถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112  ต่อมาในวันที่ 16 ม.ค. 55 กรมราชทัณฑ์เริ่มย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำต่างๆ รวม 47 ราย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังในคดีวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัด ยิงเฮลิคอปเตอร์ทหาร และวางเพลิงเผาสถานที่ต่างๆ เข้ามาควบคุมภายในคุกหลักสี่ โดยในวันแรก "ธิดา ถาวรเศรษฐ์" ประธาน นปช. ในขณะนั้น พร้อมกับคนเสื้อแดงมาคอยให้การต้อนรับผู้ต้องขังเสื้อแดงอย่างล้นหลาม   ในส่วนของคุกหลักสี่ถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นคุกวีไอพี เนื่องจากตัวเรือนจำเป็นอาคารสูง 4 ชั้น สภาพห้องขังโปร่งโล่ง อากาศถ่ายเทดี  เรือนนอนกว้างขวาง มีห้องอาบน้ำและห้องสุขาเป็นสัดส่วน พร้อมลานออกกำลังกายบนดาดฟ้า ระบบรักษาความปลอดภัยจัดอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม สัดส่วนระหว่างผู้คุมกับผู้ต้องขังอยู่ที่ 1:1  แตกต่างจากเรือนจำอื่นๆ ซึ่งสภาพค่อนข้างแออัดแน่นขนัดไปด้วยผู้ต้องขังคดีอาญา โดยมีสัดส่วนผู้คุมกับนักโทษอยู่ที่ 1:100 ถึง 1:200  ภายในคุกหลักสี่ผู้ต้องขังเสื้อแดงจะไม่ถูกขังปะปนกับนักโทษคดีอื่นๆ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีเหตุวิวาทบาดหมางกับเพื่อนนักโทษที่มีทัศนคติทางการเมืองแตกต่างไปจากแนวคิดของคนเสื้อแดง นอกจากนี้เรือนจำยังจัดกิจกรรมเอ็นเตอร์เทนสารพัดรูปแบบเพื่อคลายเครียด ทั้งการเล่นกีฬา ดนตรีบำบัด ฝึกอาชีพ ตบท้ายด้วยการเปิดโถงกลางให้นักโทษได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองผ่านฟรีทีวีช่องต่างๆ ในส่วนอาหารการกิน นักโทษก็ไม่ต้องลงแรงหุงข้าวปรุงอาหารกันเอง เนื่องจากนักโทษมีจำนวนน้อยมาก จึงไม่มีแดนสูทกรรม อาหารทั้ง 3 มือ จึงจัดส่งมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่วายเกิดปัญหานักโทษหัวใจวายหลังออกกำลังกายจนเกินกำลัง รวมถึงข้อร้องเรียนที่ว่ามีการเล่นดนตรีครึกครื้นเกินเลยสภาพเรือนจำ จนเรือนจำต้องเร่งแก้ปรับภาพลักษณ์

สำหรับแกนนำนปช. คงมีเพียง "ก่อแก้ว พิกุลทอง" เท่านั้นที่ถูกส่งตัวเข้าควบคุมในคุกหลักสี่ ในช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยถูกจำคุกช่วงสั้นๆ เป็นเวลา 30 วัน เนื่องจากผิดเงื่อนไขประกันตัว
หลังการเปิดใช้เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์อนุมัติเงินกองทุนยุติธรรมให้นำมาเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องขังเสื้อแดง ทำให้จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำแห่งนี้ทยอยได้รับการประกันตัวในชั้นศาล ส่งผลให้จำนวนผู้ต้องขังลดน้อยลงเรื่อยๆ จนเหลืออยู่เพียงนักโทษที่มีคำตัดสินเด็ดขาดแล้ว 22 คน  ทำให้เรือนจำนี้เป็นเรือนจำแห่งเดียวในประเทที่มีผู้คุมมากกว่านักโทษ จนกรมราชทัณฑ์เริ่มมองความคุ้มค่าของระบบงบประมาณปีละกว่าล้านบาท  บวกกับอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ผู้คุมและตำรวจที่ต้องเกลี่ยมาใช้กับคุกแห่งนี้ แต่คงทำได้แต่คิดเงียบๆ
กระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์พังพาบลงด้วยผลพวงของการลากถูกให้ผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจปกครอง จึงถึงเวลาเหมาะสมที่คนราชทัณฑ์จะชงเรื่องให้ คสช.ปิดคุกหลักสี่ พร้อมทำแผนทยอยย้ายผู้ต้องขังกลับไปคุมขังในเรือนจำตามภูมิลำเนา โดยเริ่มย้ายนักโทษ 6 คนแรก ไปเรือนจำจังหวัดมหาสารคามและเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี ไปเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะย้ายให้แล้วเสร็จทั้ง 22 คนภายในสัปดาห์นี้  เกี่ยวกับประเด็นนี้  วิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกมาอธิบายย้ำชัดๆว่า กระบวนการยุติธรรมได้พิสูจน์แล้วว่า นักโทษกลุ่มนี้ไม่ใช่นักโทษการเมืองแต่เป็นนักโทษคดีอาญาทั่วไป อีกทั้งเป็นนักโทษที่ศาลตัดสินโทษจำคุก มีกำหนดเวลาในการจองจำชัดเจนแล้ว จึงไม่ใช่ผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งกฎหมายยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์
ส่วนคุกหลักสี่ ซึ่งตั้งอยู่ในกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา จะคงสภาพเป็นเรือนจำชั่วคราวต่อไปเพื่อรองรับอนาคต หรือจะปิดใช้งานคืนสถานที่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำไปใช้เป็นสถานที่ควบคุมนักโทษชาวต่างประเทศระหว่างรอการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศต้นทาง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนต่อไป นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.  หนึ่งในผู้ที่เคยถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราว ระบุว่าไม่เห็นด้วยที่มีการปิดเรือนจำหลักสี่และย้ายนักโทษการเมืองไปตามเรือนจำจังหวัดต่างๆ ให้รวมกับนักโทษคดีปกติ   เพราะเป็นนักโทษการเมือง แม้จะเป็นคดีอาญา แต่ก็ไม่ได้เป็นอาชญากร การกระทำผิดต่างๆ เกิดจากอุดมณ์การทางเมือง  และเมื่อให้ย้ายไปรวมกับนักโทษคดีปกติ อาจจะมีปัญหาตามมาหลายเรื่อง เพราะนักโทษในเรือนจำต่างๆรวมกันอยู่ทุกประเภท และมีหลายสี ทำให้อาจเกิดการทะเลาะวิวาทได้   
นักโทษคดีการเมืองการกระทำผิดต่างๆจากอุดมการณ์  หากไม่ได้ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง ก็อาจจะไม่ได้ทำให้เกิดการกระทำความผิด เช่น การยึดอาวุธทหาร มีโทษ 10 ปี ถือว่าสูงไป  เพียงเพื่อป้องกันไม่ให้นำอาวุธ มาทำร้ายประชาชน ไม่ได้ตั้งใจจะทำผิดกฎหมาย หากย้ายไปอยู่รวมกับนักโทษคดีอาชญากรรมอื่นๆ อาจจะทำให้เกิดการเรียนรู้จนกลายเป็นอาชญากรจริงๆได้          ทั้งนี้หากแยกกันอย่างชัดเจนมีคุกการเมือง ก็จะง่ายต่อการดูแลเรื่องต่างๆ ง่ายต่อการเยี่ยม  ทุกอย่างลงตัวอยู่แล้วเข้าที่อยู่แล้ว หากย้ายไปหรือปิดตัวลง ทุกอย่างก็ต้องเริ่มใหม่หมด ทำให้เกิดความทุลักทุเลได้  ตนเคยอยู่มาก่อนทราบว่าอยู่ในเรือนจำมีความรู้สึกอย่างไร จึงอยากให้มีเรือนจำการเมืองต่อไป ไม่ได้ว่าจะเป็นสีอะไร

logoline