svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แพร่ - นำทีมนักวีชาการ ล่าพิสูจน์ แมงมุมพิษสีน้ำตาล

24 กรกฎาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แพร่ - จัดทีมนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญสำรวจสายพันธ์แมงมุมในพื้นที่เพื่อหาสปีชี่ที่แน่นอน ก่อนระบุว่าเป็นสายพันธ์ไหน หลังจากที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจนต้องตัดขาทิ้ง โดยอ้างว่าถูกแมงมุมกัด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24  ก.ค. 2557 นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่, น.พ.ธงชัย  มีลือการ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพร่, นายเฉลิมวุฒิ รักขติวงศ์ นายอำเภอเด่นชัย , สาธารณสุขอำเภอเด่นชัย เจ้าหน้าที่ อสม.  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ได้ให้การต้อนรับและประชุมร่วมกับนักวิชาการ ณ สถานีอนามัยบ้านน้ำแรม ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ จากกรณี นายอุทัย เวียงคำ ชาวบ้านหมู่ 5 ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ป่วยถูกแมงมุมกัด และเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแพร่ และแพทย์ต้องตัดขาขวาไปเมื่อวันที่ 22 กค.57
โดยทางโรงพยาบาลแพร่ได้รับตัวอย่างแมงมุมในพื้นที่เกิดเหตุ และส่งตัวอย่างแมงมุมในพื้นที่ไปยังศูนย์พิษวิทยา  โรงพยาบาลศิริราช  ซึ่งครั้งแรก เป็นซากแมงมุมจำนวน 5 ตัว  ปรากฏว่าผลจากการตรวจพิสูจน์ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามี  "แมงมุมพิษสีน้ำตาล" และจากอาการของนายอุทัย เวียงคำ พบว่า น่าจะถูกแมงมุมชนิดนี้กัด แต่ยังไม่ปรากฏว่าได้มีการพบว่ามี "แมงมุมพิษสีน้ำตาล" นี้ ในประเทศไทย และในทวีปเอเชียก็ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่ามีการพบ "แมงมุมพิษสีน้ำตาล" ในประเทศไหน ส่วนการตรวจพิสูจน์ครั้งที่สอง พบว่าแมงมุมที่โรงพยาบาลแพร่ ส่งตรวจพิสูจน์ยืนยันว่า เป็นแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาล ซึ่งถือเป็นแมงมุมที่มีพิษ แต่สามารถพบทั่วไปได้ อาทิใน สวนจตุจักร เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เกิดมีประเด็นสงสัยของนักวิชาการว่า นายอุทัย เวียงคำ ถูก "แมงมุมพิษสีน้ำตาล" กัดจริงหรือไม่  จึงได้เดินทางลงพื้นที่พิสูจน์การมีอยู่ของ "แมงมุมพิษสีน้ำตาล" ในพื้นที่ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่  ซึ่งหากพบก็จะถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนักวิชาการที่เดินทาง มาพิสูจน์ ประกอบด้วย ดร.พัชนี  วิชิตพันธ์  จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  พ.ญ.ธัญจิรา จิรนันทกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม โรงพยาบาลศิริราช  ผศ.น.พ.สุชัย สุเทพารักษ์ จาก สภากาชาดไทย นายชวลิต  ส่งแสงโชติ  นักสะสมและศึกษาแมงมุม  อาจารย์วรัตน์  ศิวายพราหมณ์  และ อาจารย์ นรินทร์  ชมพูพวง  จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ อรทัย  คำสร้อย  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อาจารย์ วงค์พันธ์ พรหมวงศ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.เดชา  ทาปัญญา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Dr.Emma M Shaw, Prem Tinsulanonda International School
นายอภิชาติ  โตดิลกเวชช์  ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่  กล่าวว่า   วันนี้จะมีการลงพื้นที่ ของ  นักวิชาการจาก  มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล จึงอยากได้ข้อสรุป  เนื่องจากชาวบ้านมีความวิตกในเรื่องนี้   นายอุทัย ถูกแมงมุมชนิดไหนกัดกันแน่  เป็นแมงมุมพิษสีน้ำตาล หรือไม่  และหากมีวงจรชีวิตจะเป็นอย่างไร   และชาวบ้านจะต้องปฎิบัติตัวอย่างไร  แต่ในส่วนของทางจังหวัดแพร่ จะมีกำหนดการให้มีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ในตำบลห้วยไร่ นอกจากนั้นยังได้รับรายงานว่า มีการพบแมงมุมในลักษณะเดียวกับ "แมงมุมพิษสีน้ำตาล" ในพื้นที่ตำบลใกล้เคียงอีก  ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ
ร.ศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญจาก สภากาชาดไทย กล่าวว่า ทางการแพทย์รู้มานานว่าแมงมุมแม่ม่ายสีน้ำตาลมีพิษ ในประเทศไทยเมื่อปี คศ.1980 มีผู้ป่วยจากการถูกกัดแล้วหายได้เอง พิษของแมลงมุมมีพิษต่อระบบประสาท เมื่อถูกกัดจะปวด เมื่อทางยาแก้ปวดจะหายไปได้เอง แต่บางครั้งพิษอาจจะมาก จนมีผลต่อระบบประสาท ขนลุกบริเวณรอบๆ แผลที่ถูกกัด เหงื่อออก และถ้ารุนแรง จะทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงและมีผลต่อหัวใจ รายงานการเสียชีวิตทั้งในและต่างประเทศหาได้ยากมาก และผู้ป่วยบางราย เป็นแผลทำให้มี ปัญหาตามมาคือการติดเชื้อ
    พ.ญ.ธัญจิรา จิรนันทกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า  ทราบว่า นายอุทัย  เวียงคำ ผู้ป่วยเป็นผลมาจากการติดเชื้อ พิษแมงมุมไม่ได้ทำให้อาการหนักถึงขนาดนี้ ผลการตรวจเลือดมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ไตทำงานผิดปกติ ซากแมงมุมที่ส่งให้  ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลศิริราช ยืนยันว่า เป็นแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล ส่วนส่งตรวจพิสูจน์ ครั้งแรกถือว่าซากแมงมุมยังไม่ชัดเจน และยังยืนยันไม่ได้ ว่าเป็น "แมงมุมพิษสีน้ำตาล" หรือไม่ แต่ทราบว่า นายอุทัย  ผู้ป่วย ได้ทุบแมงมุมตัวที่กัดแล้วเอาไปทิ้ง และบอกว่าตอนที่ใช้มือทุบเห็นแมงมุมตัวที่กัดมีสีน้ำตาลเท่านั้น
ส่วน ดร.พัชนี วิชิตพันธ์ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร. เปิดเผยว่า ได้แบ่งทีมสำรวจพิสูจน์ แมงมุมมาแยกสายพันธ์  จำนวน 4 กลุ่ม ประกอบด้วยนักวิชาการและ อสม.ในพื้นที่ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จงแพร่ กลุ่มที่หนึ่ง นำโดย ดร.เดชา  ทาปัญญา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Dr.Emma M Shaw, Prem Tinsulanonda International School  กลุ่มที่สองนำโดย อาจารย อรทัย  คำสร้อย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กลุ่มที่สาม นำโดยอาจารย์วรัตน์ ศิวายพราหมณ์  และ อาจารย์ นรินทร์  ชมพูพวง จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กลุ่มที่สี่นำโดย อาจารย์ วงค์พันธ์ พรหมวงศ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นายชวลิต  ส่งแสงโชติ  นักสะสมและศึกษาแมงมุม แล้วเอามาส่องกล้องแยกสปีชี่ โดยแต่ละกลุ่มจะออกจับแมงมุมสองช่วงคือ ในช่วงบ่าย และช่วงกลางคืน  และจะรายงานผลการตรวจพิสูจน์ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ทราบว่ามีแมงมุมชนิดไหนบ้างอยู่ในพื้นที่ 

logoline