svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

2 ปี 6 เดือน วิบากกรรม ‘ยิ่งลักษณ์ ’ คดีจำนำข้าว

21 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันที่ 25 ส.ค. นี้ จะเป็นวันชี้ชะตา ' ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' อดีตนายกฯ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว แล้ว.. ภาพรวมคดี 2 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นอย่างไร?

          เริ่มนับเวลาถอยหลังแล้ว กับการรอฟังผลคำพิพากษาคดีโครงการจำนำข้าวในวันศุกร์ที่ 25 ส.ค.นี้ ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยคนแรกวัย 50 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1- 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าวที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหายนับแสนล้าน

           ลำดับเวลาคดี

           สำหรับคดีที่ “อดีตนายกฯหญิงคนแรก” ถูกฟ้องเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว รวมเวลาเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งสิ้น 2 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่

           -19 ก.พ.58 อัยการสูงสุด มอบให้คณะทำงานอัยการยื่นฟ้อง “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพร้อมเอกสารหลักฐาน 20 ลังใหญ่โดยยังไม่ได้นำตัวจำเลยไปส่งต่อศาล

           -24 ก.พ.58 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 146 คน ลงมติเลือกผู้พิพากษา 9 คนเป็นองค์คณะพิจารณาคดี ที่มีนายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 เป็นเจ้าของสำนวน

          -19 มี.ค.58 องค์คณะฯ มีคำสั่งให้ประทับรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.22/2558

          -24 มี.ค.58  นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษขณะนั้น นำเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการสูงสุด และเจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 38/9 ซ.นวมินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม.บ้านพักของ “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” เพื่อปิดหมายศาลฎีกาฯ ที่จะแจ้งวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกซึ่งเป็นการนัดสอบคำให้การจำเลย พร้อมปิดสำเนาคำฟ้องที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ไว้ให้จำเลยรับทราบและเดินทางไปศาลฎีกาฯตามขั้นตอนของระเบียบศาล ที่เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลปิดหมาย ตามที่อยู่ของจำเลยแล้วหากไม่มีผู้รับหมาย เมื่อเวลาผ่านไป 15 วันให้ถือว่าจำเลยรับทราบหมายโดยชอบแล้ว

           -19 พ.ค.58 ศาลออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก   เวลา 09.30 น.“อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” จึงได้ปรากฏตัวต่อหน้าบัลลังก์ศาลทั้ง 9 คนเป็นครั้งแรกนับแต่ถูกฟ้องในฐานะจำเลย และขอให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมตั้ง“ ทนายความ” ถึง 5 คน เพื่อรับมือแก้ต่างคดีที่เอกสารหลักฐานมีมากกว่า 60,000 แผ่น ก่อนที่จะยื่นประกันตัวไประหว่างพิจารณาด้วยหลักทรัพย์ที่ศาลตีราคาประกันสูงสุดถึง 30 ล้านบาท (มากที่สุดในคดีที่มีการฟ้องคดีนักการเมือง)โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และแม้ว่า “อดีตนายกฯ” จะยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลย แต่ศาลเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลตามนัดทุกนัด หากไม่สามารถมาศาลในนัดใดให้จำเลยยื่นคำร้องแสดงเหตุจำเป็นต่อศาลพิจารณาเป็นครั้งคราวไป

          -3 ก.ค.58 “อดีตนายกฯ” ได้ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล หลังจากให้การปฏิเสธด้วยวาจาไปแล้ว

         -31 ส.ค.58 ศาลจึงเริ่มกระบวนการตรวจหลักฐานและพยานบุคคล พยานเอกสารของโจทก์-จำเลย ซึ่งฝ่ายจำเลย พยายามคัดค้านพยานบุคคล 23 ปากและพยานเอกสารหลายหมื่นแผ่นของอัยการว่าเพิ่มเติมไม่สุจริตมุ่งเอาเปรียบจำเลยไม่เป็นธรรมเพราะเป็นพยานหลักฐานที่ไม่เคยปรากฏในสำนวน ป.ป.ช.มาก่อน และโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจที่จะพิจารณาคดีว่าเป็นศาลปกครอง แต่องค์คณะฯ ชี้ขาดชัดเจนว่าคดีนี้ขอให้ลงโทษอาญาซึ่งไม่ใช่อำนาจของศาลปกครอง และพยานหลักฐานนั้น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 5 ก็ให้ศาลยึดรายงาน ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาคดีแต่ก็ให้อำนาจศาลไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคล หรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ และจำเลยก็มีสิทธินำพยานเข้าไต่สวนเพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้อยู่แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะไม่รับบัญชีพยานของโจทก์ตามที่จำเลยคัดค้าน

         -29 ต.ค.58 องค์คณะมีคำสั่งชัดเจน กำหนดให้อัยการนำพยานโจทก์ไต่สวน 15 ปาก ฝ่าย “อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์” ให้ไต่สวนพยานจำเลยสู้คดี 30 ปาก

         -ธ.ค.58 องค์คณะสั่งยกคำร้อง“อดีตนายกฯ” ที่ขอเดินทางไปต่างประเทศถึง 2 ครั้ง อ้างเหตุแรกมีหนังสือเชิญให้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หรือเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส และขอเดินทางประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 15-25 ธ.ค.เพื่อจะพาบุตรชายไปทัศนศึกษาช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งองค์คณะเห็นว่าทั้ง 2 กรณียังไม่มีเหตุอันควร

         - 15 ม.ค.58 ศาลเริ่มไต่สวนพยานอัยการครั้งแรก , 17 ก.พ.59 ไต่สวนพยานนัดที่สอง , 26 ก.พ.59 ไต่สวนพยานนัดที่สาม , 4 มี.ค.59 ไต่สวนพยานนัดที่สี่ , 23 มี.ค.59 ไต่สวนพยานนัดที่ห้า , 1 เม.ย.59 ไต่สวนพยานนัดที่หก , 22 เม.ย.59 ไต่สวนพยานนัดที่เจ็ด , 13 พ.ค.59 ไต่สวนพยานนัดที่แปด , 18 พ.ค.59 ไต่สวนพยานนัดที่เก้า , 24 มิ.ย.59 จบไต่สวนพยานโจทก์ รวมใช้เวลา 10 นัด กับพยานทั้งหมด 15 ปาก

         - 5 ส.ค.59 ไต่สวนพยานจำเลยนัดแรก “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” ยืนแถลงด้วยวาจาเพื่อเปิดคดีในส่วนของจำเลย โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมงกับการแถลงเปิดคดีตามเอกสารเพาเวอร์พ้อยท์ที่เตรียมไว้ ยืนยันปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตามฟ้องโจทก์และสำนวนของ ป.ป.ช.ใน 6 ประเด็น ,19 ส.ค.59 ไต่สวนพยานนัดที่สอง , 9 ก.ย.59 ไต่สวนพยานนัดที่สาม , 7 ต.ค.59 ไต่สวนพยานนัดที่สี่ , 21 ต.ค.59 ไต่สวนพยานนัดที่ห้า , 18 พ.ย.59 ไต่สวนพยานนัดที่หก , 9 ธ.ค.59 ไต่สวนพยานนัดที่เจ็ด , 15 ธ.ค.59 ไต่สวนพยานนัดที่แปด , 20 ม.ค.60 ไต่สวนพยานนัดที่เก้า , 3 ก.พ.60 ไต่สวนพยานนัดที่สิบ , 17 มี.ค.60 ไต่สวนพยานนัดที่สิบเอ็ด , 16 มิ.ย.60 ไต่สวนพยานนัดที่สิบสอง , 29 มิ.ย.60 ไต่สวนพยานนัดที่สิบสาม , 7 ก.ค.60 ไต่สวนพยานนัดที่สิบสี่ , 21 ก.ค.60 จบการไต่สวนพยานจำเลยชุดสุดท้าย รวมใช้เวลา 15 นัด พยาน 30 ปาก

          - ต.ค.59 อัยการโจทก์ ยื่นคำร้องศาลตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล จากเหตุวันที่ 7 ต.ค.มีบุคคลชาย-หญิงที่เข้ามาร่วมฟังการพิจารณาคดี แสดงพฤติกรรมลักษณะข่มขู่โจทก์ด้วยการจ้องหน้าด้วยความเครียดแค้นจนทำให้เกิดความกดดัน กระทั่งมีการตรวจสอบภาพวงจรปิดพบบุคคลนั้นเป็น ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือเต่านา และนายธรรศ วันพฤหัส อดีตคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การศาสนา สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ศาลจึงออกหมายเรียกบุคคลเหล่านั้นมาไต่สวนในวันที่ 17 ม.ค.60 แล้ว ชี้ว่ามีความผิดไม่รักษาความสงบเรียบร้อยในศาล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 18 วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) และมาตรา 33 ก็ให้ปรับไปคนละ 500 บาท

           - 29 มิ.ย.60 เมื่อใกล้จบการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย “อดีตนายกฯ” ยื่นคำร้องขอให้องค์คณะออกไปเผชิญสืบโรงสีข้าวและคลังข้าวจังหวัดอ่างทอง 16 แห่งด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ก็ได้เข้าไปตรวจสอบแล้วแต่ไม่พบความเสียหายและการทุจริต จึงน่าจะเป็นหลักฐานใหม่ที่จะยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวของตนเองไม่ได้ทุจริตและเน่าเสียอย่างที่ถูกล่าวหา แต่ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่าข้าวเป็นธัญพืชชนิดหนึ่งที่เสื่อมได้ตามกาลเวลา ซึ่งขณะนี้ผ่านมาเป็นเวลา 2 ปีเศษแล้ว เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การเดินเผชิญสืบไม่จำเป็นแก่คดี จึงให้ยกคำขอของจำเลย

            - 7 ก.ค.60 ก่อนจะถึงนัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย “อดีตนายกฯ” ดิ้นสู้ยกข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้ง ขอให้เสนอประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า มาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ที่บัญญัติให้ยึดสำนวน ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา และศาลอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควรนั้นจะขัดหรือไม่กับมาตรา 235 รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 ที่ระบุตอนท้ายว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

           - 21 ก.ค.60 ศาลสั่งยกคำขอส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย ชี้ขาดว่า การพิจารณาคดีนี้ศาลให้โอกาส 2 ฝ่ายเต็มที่แล้วในการนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวน โดยโจทก์ยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก คำร้องจำเลยที่อ้าง จึงยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี.2560 มาตรา 212 ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

          - 26 ก.ค.60 ทนายจำเลย งัด ก.ม.สู้เฮือกสุดท้ายอีกครั้ง ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งและกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ กรณีไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 212 เพื่อวินิจฉัยประเด็น มาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ สุดท้ายองค์คณะฟันธงฉับ!! ว่า ก่อนที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยก่อนว่าเข้าข้อกำหนดในการส่งหรือไม่ ใช่ว่าต้องส่งทุกกรณีดังแนวคำพิพากษาศาลฎีกา 10660/2553

          - 1 ส.ค.60 “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์” ได้อ่านเอกสาร 19 หน้า แถลงปิดคดีด้วยวาจาสรุป 6 ประเด็นฟ้องโจทก์-สำนวน ป.ป.ช.มีพิรุธ แถมมีดราม่า สะอื้นไห้หน้าศาล 9 คน “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ทำคือ ใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดในต่างจังหวัดมีโอกาสได้รับรู้สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติและเรียกร้องให้คนไทยทุกคนเกื้อหนุนดูแล และดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าว แม้การผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวนาครั้งนี้จะทำให้ดิฉันต้องเจ็บปวดก็ตามในการต้องอดทนต่อสู้คดี” ก่อนที่จะส่งเอกสารคำแถลงปิดด้วยลายลักษณ์ตามมาอีก 160 หน้าที่ลงท้ายขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

         -15 ส.ค.60 อัยการ โจทก์ ยื่นเอกสารคำแถลงปิดคดี 211 หน้าส่งศาลนาทีสุดท้ายตามนัด จี้จุดพยานเสริมน้ำหนักให้ศาลรับฟังเพื่อพิพากษาลงโทษจำเลย

         และแล้ว “วันศุกร์ที่ 25 ส.ค.60 เวลา 09.00น.” เป็นนาทีสำคัญที่ “อดีตนายกฯหญิงคนแรก” ต้องลุ้นฟังคำพิพากษา พร้อมกับคนทั้งประเทศที่เฝ้าติดตามข่าว

logoline