svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

“ม.44”ไม่แก้ หวั่นจะสร้างปัญหา แนะปฏิรูปอุดมฯทั้งระบบ

09 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ม.44”ไม่แก้ หวั่นจะสร้างปัญหา แนะปฏิรูปอุดมฯทั้งระบบ ..โดย 0 ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ 0ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.)

          กรณี ที่พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ออก"คำสั่งคสช.ที่ 37/2560" เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา โดยอ้างเหตุผลเพื่อ"แก้ไขความล่าช้า" และ"ความต่อเนื่องในการบริหารงานสถาบันอุดมศึกษา" อันเนื่องมาจากปัญหาการได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร

          คำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ “ให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการและเป็นนิติบุคคล สามารถแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้นั้น

         และยังมิให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ "ระยะเวลา" ในการ"รักษาราชการแทน" ผู้ดำรง "ตำแหน่งอธิการบดี"ที่บัญญัติอยู่ในกฎหมายจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษามาบังคับใช้กับการรักษาราชการแทนในระหว่างการดำเนินการสรรหาหรือดำเนินการเพื่อแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วย

           ย่อมแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมา "การแต่งตั้งอธิการบดี" และ ผู้บริหารจากคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ของมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่เป็น"ส่วนราชการ" และเป็น"นิติบุคคล" นั้นขัดต่อกฎหมาย จึงต้องใช้ม.44 มาแก้ไข

          เหตุผลในการออกคำสั่งฉบับนี้ผมเห็นว่า ในความเป็นจริง "ความล่าช้า" และ"ความต่อเนื่อง"ของการได้มาของตำแหน่งผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้เกิดขึ้น จากสาเหตุปัญหาทางกฏหมาย เพราะสถาบันอุดมศึกษาของรัฐมี 2 ประเภท คือ

         1. สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการจำเป็นต้องบริหารงานโดยใช้พระราชบัญญัติสามฉบับ คือ พระราชบัญญัติจัดตั้ง(เช่น ราชภัฏ ราชมงคล นเรศวร รามคำแหง สุโทัยธรรมาธิราช สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เป็นต้น) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา(การบริหารงานบุคคล) และพระราชบัญญัตืระเบียบบริหารกระทรวงศึกษาธิการ(การบังคับบัญชา)

        2. สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ(นอกระบบ) พระราชบัญญัติกำหนดให้สถาบันมีอิสระในการบริหารงบประมาณ บุคคล โดยสามารถออกข้อบังคับในการบริหารงานทั้งสองเรื่องได้เอง(นั่นคือสามารถกำหนดคุณสมบัติ และอายุผู้บริหารได้เอง)

         แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐหลายแห่งก็มีปัญหา ความล่าช้า ความต่อเนื่องในการบริหารงานเช่นกัน ดังกรณีของมหาวิทยาลัยวัยลักษณ์ หรือมหาวิทยาลัยบูรพาที่ต้องใช้ม.44 เข้าไปจัดการ ดังนั้นความต่อเนื่อง ความล่าช้าในการแต่งตั้งผู้บริหาร ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมายเป็นหลัก แต่สาเหตุเกิดจากการไร้ธรรมาภิบาลของผู้ปฏิบัติมากกว่า

          นอกจากนี้ การที่คำคำสั่งคสช.ฉบับนี้ระบุเพียงให้แต่งตั้งบุคคลที่ "มิได้เป็นข้าราชการ" หรือ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" โดยไม่ระบุเงื่อนไขอื่นไว้ ยังจะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การไม่กำหนดอายุไว้ ทั้งที่ส่วนราชการอื่นหรือแม้แต่องค์กรอิสระล้วนกำหนดอายุของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารไว้ทั้งสิ้น

         ซึ่ง"หลายสถาบัน"อาจใช้ช่องทางนี้ตั้งคนอายุ 80-90 ปีมาเป็นผู้บริหาร ซึ่งเคยมีมาแล้ว และคำสั่งนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 มาตรา 19 ที่ให้สถาบันอุดมศึกษา"สามารถต่ออายุราชการ" ของบุคคลที่มี "วุฒิปริญญาเอก" และดำรงตำแหน่งตั้งแต่ "รองศาสตราจารย์"ขึ้นไป ซึ่งมีอายุครบ 60 ปี ให้ต่ออายุราชการได้ถึง 65 ปี แต่ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร และพระราช

          บัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. 2543 มาตรา 19 ระบุ “ให้ตำแหน่งรองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี ต้องเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบัน”

         ในส่วนที่จะกระทบกับโครงสร้างอัตรากำลังของสถาบันนั้น หากมีการแต่งตั้งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการที่เป็นคนนอกเข้ามาเป็นจำนวนมาก ย่อมกระทบกับโครงสร้างอัตรากำลังของสถาบันนั้นๆ แน่นอน โดยเฉพาะปัญหาสำคัญ คือเรื่อง "เงินเดือน" และ"ค่าตอบแทน"ต่างๆ ที่ระเบียบราชการให้เบิกจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินได้เฉพาะคนที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเท่านั้น การแต่งตั้งคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาทำให้สถาบันต้องนำเงินรายได้(ค่าเทอมนักศึกษา) มาจ่ายให้บุคคลเหล่านี้

          ที่สำคัญที่ผ่านมา มีการตั้งเงินเดือนในอัตราที่สูงแบบไม่มีขีดจำกัด ส่งผลกระทบกับงบประมาณของสถาบันในสถานการณ์ที่นักศึกษามีจำนวนลดลง และยังเป็นการเบียดบังงบประมาณที่ควรนำไปพัฒนานักศึกษาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อพัฒนาคุณภาพบัณฑิตอีกด้วย

          ใน"ด้านการบริหารงาน" นั้น ยังจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ทั้งเรื่องวการบังคับบัญชาและวินัย เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ "ไม่ใช่ข้าราชการ "หรือ "พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา" จึงไม่อยู่ภายใต้การบังคับตามกฎหมายว่าด้วยวินัยข้าราชการ และไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องสายการบังคับบัญชา ว่าใครเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจเลื่อนเงินเดือน ดำเนินการทางวินัยกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

          ซึ่งกรณีนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้เคยมีหนังสือตอบกลับไปยังสถาบันอุดมศึกษาหลายครั้ง ว่าไม่สามารถบังคับบัญชา ดำเนินการทางวินัย ไม่สามารถอนุญาตให้ลาไปต่างประเทศกับอธิการบดีที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาได้

        ดังนั้นผมขอเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้ใช้โอกาสนี้แก้ไขทบทวน โดย"ปฏิรูปอุดมศึกษาทั้งระบบ" โดยนำเอาปัญหาทั้งหมดมาแก้ไขทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง หรือพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญระบบบริหารงานบุคคล ที่เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลถึงคุณภาพอุดมศึกษาโดยตรง

          ทั้งกรณีของข้าราชการที่มี"ความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือน"ที่น้อยกว่า " ข้าราชการครูอยู่ 8% " และพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นบุคลากรกลุ่มใหญ่ของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นส่วนราชการและสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องสถานะ ที่ไม่ใช่ทั้งข้าราชการหรือลูกจ้าง เพราะต้องอยู่ภายใต้ประกันสังคม แต่กลับไม่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ไม่สามารถรับค่าชดเชยใดๆ เมื่อถูกกลั่นแกล้ง ไม่ต่อสัญญาหรือให้ออกจากงานอย่างไม่เป็นธรรม

         รวมทั้งเมื่อมี "ข้อพิพาท" เกี่ยวกับ "การจ้าง"ก็ไม่สามารถนำไป "ฟ้องศาลแรงงาน" ได้ นี่คือประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ควรทำเพื่อการปฏิรูปที่จะส่งผลถึงคุณภาพอุดมศึกษาโดยตรงมากกว่าการแก้ปัญหาการแต่งตั้งผู้บริหารที่เพียงเพื่อต้องการสืบทอดอำนาจแบบไม่มีวันจบสิ้น !! 

logoline