svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

รหัสลับเดินรถ"ขสมก."เจอชื่อสาย G39E ก็งงแล้ว  !?

09 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันที่ 7 สิงหาคม 2560 ถือเป็นวันแรกที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดให้ผู้สนใจยื่นความประสงค์ขอเดินรถตามแผนปฏิรูปเส้นทางฯ จำนวน 2 เส้นทางใหม่จาก 10 เส้นทางนำร่อง พร้อมทดลองเดินรถใหม่ใน 8 เส้นทางเป็นระยะเวลา 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม ถึง 8 กันยายน 2560 เพื่อสำรวจผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้นทั้งจากประชาชนผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบการก่อน ตามบัญชาของ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม หากได้รับการตอบรับที่ดีกระทรวงจะเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 ยกเลิกสัญญารถร่วม 111 สัญญา เพื่อเปิดประมูลใหม่ทั้งหมด จัดระบบการแข่งขันการให้บริการที่เป็นธรรม รวมทั้งให้อำนาจการกำกับดูแลรถโดยสารทั้งหมดถ่ายโอนไปอยู่ที่ ขบ.ด้วย จากเดิมขึ้นอยู่กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จากนั้นจึงจะประกาศเปิดให้บริการวิ่งรถในเส้นทางใหม่ทั้งหมด โดยแต่ละเส้นทางจะมีการปรับเส้นทางให้สั้นลง แล้วยังมีการเปลี่ยนหมายเลขรถจากเดิมที่ใช้ตัวเลขอย่างเดียวมาใช้เป็นภาษาอังกฤษนำหน้าและตามหลังด้วยตัวเลขแทน

              ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ใหม่ 269 เส้นทางที่ต้องการปฏิรูประบบขนส่งมวลชนให้สอดรับกับรถไฟฟ้าที่จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า และเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนกว่า 1.5 ล้านคนต่อวัน ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นจากเดิม 20% ระยะทางเพิ่มขึ้นจาก 6,437 กิโลเมตร เป็น 7,833 กิโลเมตร โดยยึดหลักระยะทางสั้นลง เฉลี่ยประมาณ 3 กิโลเมตรต่อสาย เข้าถึงแหล่งชุมชนมากขึ้น ลดการทับซ้อนเส้นทาง อาทิ รถเมล์ที่มีเส้นทางทับกับรถไฟฟ้าเกิน 5 สถานีจะต้องปรับเส้นทางใหม่ เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนสูงสุด

             สำหรับ 2 เส้นทางนำร่องที่เปิดให้ผู้สนใจยื่นความประสงค์ขอเดินรถตามแผนปฏิรูปเส้นทางฯ ได้แก่ สาย R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) และ สาย Y70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน)  โดยสายที่ R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) กำหนดให้ใช้รถจำนวน 12-16 คัน เดินรถขั้นต่ำวันละ 48 เที่ยว (ไป 24 เที่ยว กลับ 24 เที่ยว) แบ่งเป็น รถมาตรฐาน 2 (รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2) อัตราค่าโดยสารตลอดสาย 13-25 บาท และ/หรือรถมาตรฐาน 2 (ค) (รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 ตั้งแต่ 21-30 ที่นั่ง) และหรือรถมาตรฐาน 2 (จ) (รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 ไม่เกิน 20 ที่นั่ง ซึ่งไม่ใช่รถตู้โดยสารปรับอากาศ) ไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน อัตราค่าโดยสารตลอดสาย 55 บาท

              ส่วนสายที่ Y70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) กำหนดให้ใช้รถจำนวน 12-18 คัน เดินรถขั้นต่ำวันละ 48 เที่ยว (ไป 24 เที่ยว กลับ 24 เที่ยว) ใช้รถมาตรฐาน 2 (ค) (รถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 ตั้งแต่ 21-30 ที่นั่ง) และ/หรือรถมาตรฐาน 2 (จ) ไม่กำหนดที่สำหรับผู้โดยสารยืน อัตราค่าโดยสารตลอดสาย 40 บาท

              ก่อนหน้านี้ สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ออกมายอมรับว่าการเปลี่ยนสายรถเมล์เป็นหมายเลขใหม่นั้น เพื่อให้สอดรับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่นรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เป็นต้น ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า และที่สำคัญ จะต้องรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย นับจากวันนี้เป็นต้นไป ประชาชนจะมีโอกาสเห็นสายรถเมล์ที่มีทั้งตัวเลข(เดิม) และตัวอักษรภาษาอังกฤษวิ่งในถนนมากยิ่งขึ้น ซึ่งระยะแรกอาจมีปัญหา เกิดความสับสนของประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ในระยะยาวไม่น่าจะเป็นปัญหา

            "แรกๆ ประชาชนผู้ใช้บริการอาจจะต่อต้าน อาจสับสนเส้นทางบ้าง เพราะเป็นของใหม่ แต่เมื่อใช้บริการในระยะหนึ่งก็คงไม่มีปัญหา โดยเฉพาะคนที่เดินทางใช้บริการรถเมล์บ่อยๆ ต้องมองไปถึงอนาคตข้างหน้าอีก 5 ปี 10 ปี ในระยะแรกนี้ก็จะติดควบคู่กันไปทั้งป้ายเลขเดิมกับป้ายใหม่เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน" อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวย้ำ 

              สำหรับการจัดกลุ่มรถเมล์ใหม่นั้นจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามสีของเส้นทาง จากเดิมที่มี 8 กลุ่ม ซึ่งแบ่งตามเขตการเดินรถทั้ง 8 เขต ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกกับการบริหารจัดการ โดย 4 กลุ่มการเดินรถใหม่นั้นได้จัดแบ่งโดยใช้อักษรย่อตามสีในภาษาอังกฤษจำนวน 4 สี ดังนี้ 1.สายสีเขียว GREEN อักษรย่อ ตัว G เขตการเดินรถที่ 1 และ 2 เดิม 2.สายสีแดง RED อักษรย่อ R เขตการเดินรถที่ 3 และ 4 เดิม 3.สายสีเหลือง YELLOW อักษรย่อ Y เขตการเดินรถที่ 56 เดิม และ 4.สายสีน้ำเงิน BLUE อักษรย่อ B ครอบคลุมเขตการเดินรถ 7 และ 8 เดิม

            ส่วนสาเหตุที่กรมการขนส่งทางบกจัดกลุ่มรถเมล์ใหม่ให้เหลือเพียง 4 กลุ่ม เพราะต้องการจัดรถเมล์ให้เป็นไปตามโซนพื้นที่ที่ชัดเจนขึ้น โดยกำหนดให้รถวิ่งตามโซนใครโซนมันรถจะได้ไม่ติด ไม่ต้องวิ่งข้ามโซน จะเห็นว่าเส้นทางใหม่มีทั้งหมด 269 เส้นทางซึ่งมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมีการตัดเส้นทางให้สั้นลงจากเดิม ระยะทางเฉลี่ย 31 กม. เหลือเพียง 28 กม. เพื่อแก้ปัญหารถติดเพราะหากยิ่งวิ่งยาวรถก็จะยิ่งติด ใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดหมาย

              สมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านการขนส่ง ก็ได้ชี้แจงอีกครั้งว่าการเปิดให้บริการช่วงแรกผู้ใช้บริการอาจเกิดความสับสน แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการติดป้ายตัวเลขสายรถเมล์เดิมควบคู่ไปกับป้ายใหม่ที่ตัวรถทุกคันไปจนกว่าประชาชนจะคุ้นเคยและจดจำได้และยังคงใช้เส้นทางเดิมเพียงแต่ระยะทางจะสั้นลง ตามบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้สั่งการให้ ขสมก.ทดลองเดินรถ 8 เส้นทางใหม่ในเวลา 1 เดือนคือสิงหาคม-กันยายน เพื่อสำรวจผลดี และผลเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งจากประชาชนผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการก่อน หากได้รับการตอบรับที่ดีกระทรวงจะเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้มาตรา 44 ยกเลิกสัญญารถร่วม 111 สัญญา เพื่อมีการเปิดประมูลใหม่ทั้งหมด จัดระบบการแข่งขันการให้บริการที่เป็นธรรม รวมทั้งให้อำนาจการกำกับดูแลรถโดยสารทั้งหมดถ่ายโอนไปอยู่ที่กรมการส่งทางบกด้วย จากเดิมขึ้นอยู่กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) จากนั้นจึงจะประกาศเปิดให้บริการวิ่งรถในเส้นทางใหม่ทั้งหมด 

                จากการสำรวจเสียงสะท้อนของประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์ของทีมข่าวเนชั่นทีวี ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่กรมการขนส่งทางบก เปลี่ยนหมายเลขรถเมล์และปรับเส้นทางรถเมล์ให้สั้นลงนั้น อาจจะให้การเดินทางลำบากขึ้น โดยเฉพาะต้องจำสายรถเมล์ใหม่ แถมยังต้องจำอักษรภาษาอังกฤษด้วยคงจะเป็นงานยากสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษ ที่ต้องมานั่งจำสายรถเมล์ใหม่หมด อย่างเช่นสาย 26 มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะเปลี่ยนเป็นสาย G40 ซึ่งหากขึ้นทางด่วนก็จะเปลี่ยนเป็น G39E ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ประชาชนที่มาใช้บริการ เกิดความสับสน แม้ว่าในช่วงเริ่มต้น จะมีการติดป้ายรถเมล์เก่าควบคู่กับรถเมล์สายเดิมก็ตาม เช่น เดิมสาย 501 ที่เปลี่ยนเป็นสาย G57 หมู่บ้านนักกีฬาแหลมทอง-ท่าช้าง โดยชื่อใหม่จะเปลี่ยนเป็น 501 (G57) เป็นต้น    

20 ปี ถึงจะเห็น "ปฏิรูปรถเมล์"

           เดินหน้า ปฏิรูปรถเมล์ไทย ยกเลิกมติครม. ขสมก เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตแต่เพียงผู้เดียว ปรับเส้นทางไม่ทับซ้อน คุณภาพ การบริการ ความปลอดภัยต้องดีขึ้นกว่าเดิม อะไรๆ ก็ต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ตั้งท่าจะเปลี่ยน จะเปลี่ยน... ก็ยังไม่เปลี่ยนสักที จนครั้งนี้เห็นว่ายกเครื่องใหม่แน่ๆ นั่นคือ "รถเมล์" ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งกำลังเดินหน้าปฏิรูปรถเมล์ใหม่ทั้งหมด

            อย่างที่ทราบกันดีว่า สภาวะการให้บริการรถเมล์ตลอดระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้บริการ โดยดูได้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็น สภาพรถเมล์ การให้บริการ ความปลอดภัย เรียกได้ว่าทั้งเชิงศักยภาพ คุณภาพ การบริการไม่มีดีตามที่ควรจะเป็น

             รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์ Smart Cities Research Center (SCRC) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายถึงการปฏิรูปรถเมล์ว่า จริงๆ การปรับปรุงหรือปฏิรูปรถเมล์นั้น ไม่ใช่เพิ่งมีการศึกษาวิจัย แต่มีมากนานกว่า 10 ปี และมีหลายหน่วยงานที่พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้ไม่เกิดขึ้น การปฏิรูปรถเมล์ในรัฐบาลชุดนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นอย่างแท้จริง

            "หลักการปฏิรูปรถเมล์" คือ การยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2526 ที่ให้ ขสมก.เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการรถเมล์กรุงเทพฯ และปริมณฑลแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ขสมก.มีข้อจำกัดเชิงศักยภาพ ทำให้ ขสมก.เปิดให้รถร่วมเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการในหลายเส้นทาง และเกิดปัญหาในการแข่งขันบนสายเส้นทางที่ทับซ้อนกัน เมื่อรถเมล์ ขสมก.และรถร่วมบริการขาดทุน ไม่สามารถให้บริการที่ดีได้อีกทั้งในแง่ของบทบาทการกำกับดูแล ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแล ขสมก.เป็นผู้ให้บริการและผู้กำกับดูแลร่วมด้วย ซึ่งการปฏิรูปรถเมล์ มีการกำหนดบทบาทชัดเจน ผู้ให้บริการและผู้กำกับดูแล และควรแยกออกจากกัน"

            รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า รถเมล์ไทยมีหลายเส้นทาง ซึ่งไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลและวางแผน ทำให้มีเส้นทางทับซ้อนมากกว่า 20 สาย ดังนั้น เส้นทางควรจะมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว เพื่อลดการทับซ้อนของเส้นทาง เปิดโอกาสให้สามารถบริหารการให้บริการในระดับคุณภาพที่สูงขึ้น กรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการ และ ขสมก.ถือว่าเป็นผู้ประกอบการหนึ่งราย แต่เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจจึงจะมีการประชุมตกลงในการจัดสรรเส้นทาง จัดทำตารางการเดินรถ ซึ่งขณะนี้มีเส้นทางทั้งหมด 269 เส้นทาง และกรมการขนส่งทางบกได้ทยอยจัดสรรให้ทางขสมก.และเปิดให้ภาคเอกชนยื่นขอให้บริการ ภายใต้การพิจารณาคัดเลือกจากความพร้อม คุณภาพการให้บริการ และข้อจำกัดต่างๆ ของแต่ละเส้นทาง

             นอกจากนั้น จะมีการกำหนดเส้นทางจากพื้นที่หลักที่ให้บริการโดยแบ่งพื้นที่ในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑลออกเป็น 4 พื้นที่ใหญ่ ตามเขตการเดินรถเดิมของ ขสมก. และระบุสีเพื่อแสดงแทนแต่ละพื้นที่ เลขสายรถใหม่จะนำด้วยอักษรย่อของสีในพื้นที่หลัก นั่นคือ G สายสีเขียว, Y สายสีเหลือง, R สายสีแดง และ B สายสีน้ำเงิน ตามด้วยหมายเลขรถ การปรับปรุงระบบหมายเลขรถดังกล่าวยังมีเหตุผลเพื่อลดการซ้ำกันของเลขรถในช่วงการเปลี่ยนถ่ายเส้นทางจากระบบเก่าไประบบใหม่

             "หลังจากการปฏิรูปรถเมล์ ซึ่งมีการปรับโครงสร้างการดูแลทั้งหมด จะไม่มีรถร่วมบริการอยู่ภายใต้สัญญาของ ขสมก. การวิ่งรถบนหนึ่งเส้นทางหาก ขสมก. วิ่งบนเส้นนั้นจะไม่มีรถเอกชนวิ่ง และในทางกลับกันหากมีรถเอกชนวิ่งก็จะไม่มีรถ ขสมก. การปรับเปลี่ยนเส้นทางและสายรถโดยสาร การปรับการกำกับดูแลผู้ประกอบการในด้านคุณภาพ การให้ใบอนุญาตประกอบการเพื่อกำกับการแข่งขันในการประกอบการที่เหมาะสม การส่งผ่านข้อมูลในการกำกับดูแลและวางแผนอย่างต่อเนื่อง และการบูรณาการทางกายภาพของจุดรับส่งผู้โดยสารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน อำนวยความสะดวก และกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะ"

              การปรับเปลี่ยนเส้นทางบางส่วนให้สอดคล้องกับเส้นทางรถไฟฟ้า ลดระยะทางของสายทางที่ยาวเกินไปเพื่อเพิ่มความแน่นอนในการให้บริการ ปรับปรุงเส้นทางจากข้อมูลการเดินทางของประชาชน โดยการปรับเปลี่ยนเส้นทางอ้างอิงจากโครงสร้างเส้นทางเดิมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนในระยะแรก แต่เส้นทางสามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างรถไฟฟ้า และการปรับเปลี่ยนของเมือง 

             "ตอนนี้ผู้ใช้บริการรถเมล์ ประมาณ 1.7 ล้านเที่ยวต่อวัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ขึ้นไปถึง 2 ล้านกว่า แสดงให้เห็นว่ามีผู้ใช้บริการรถเมล์ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหันไปใช้การบริการรถไฟฟ้า หรือรถสาธารณะในรูปแบบอื่น และมองอีกมุมคุณภาพ การบริการรถเมล์ด้อยลง ดังนั้น ต้องปฏิรูปรถเมล์ เปิดโอกาสให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ เปิดโอกาสในการแข่งขันเพื่อการให้บริการประชาชนสูงขึ้น เส้นทางให้สอดคล้องกับมาตรการที่จะเป็นมิติแง่ประชาชนต้องได้บริการรถที่ดีขึ้น คุณภาพดีขึ้น ภายใต้การดูแลกำกับของกรมการขนส่งทางบกที่คอยตรวจสอบดูแลรถเมล์ทุกวัน เส้นทางที่ดูแล้วไม่มีคนใช้ หรือมีคนใช้แน่นไป รถเมล์ได้ให้บริการจริงหรือไม่ มีคุณภาพรถดี ปลอดภัย สะดวก ซึ่งหากมีคุณภาพเชื่อว่าวันหนึ่งผู้คนอาจหันมาใช้รถเมล์มากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล"

              รศ.ดร.เอกชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ฝากถึงผู้ใช้บริการว่าไม่ต้องกังวล การปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ คุณภาพต้องดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เอกชนมีโอกาสทางธุรกิจ คุณภาพผู้ประกอบการ และการสร้างโครงสร้างระบบที่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการ จะไม่มีใครมองว่ารถเมล์เป็นเพียงรถเมล์ เป็นการมองถึงการบริการที่ดีต่อประชาชน แต่จะให้ปรับเปลี่ยนแบบเปิดสวิตช์ชั่วข้ามคืนคงไม่ได้ เพราะใช้ยาแรงกับประเทศไทย เงื่อนไขในสัญญา โครงสร้างต่างๆ อาจไม่เหมาะสม ดังนั้น เมื่อปรับเปลี่ยนโครงข่ายนำไปสู่การปฏิบัติ จะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ 30% อีก 20% อาจมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย และอีก 50% ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน

logoline