svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ปธ.ศาลฎีกา"เข้มสางคดีศาลสูงเสร็จใน 1 ปี

20 ตุลาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ปธ.ศาลฎีกา"กำชับตั้งเป้าลดคดีค้างศาลฎีกา-ศาลชั้นต้นชื่นชมมาตรฐานศาลอุทธรณ์คดีเสร็จเร็ว 6 เดือน ย้ำศาลสูงเสร็จใน 1 ปี่

20 ต.ค.60 นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ได้มอบนโยบายการบริหารงานศาลยุติธรรมของประธานศาลฎีกา ในการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารศาลยุติธรรม ซึ่งมีผู้บริหารศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม 150 คนร่วมรับมอบนโยบาย

โดยนายชีพ กล่าวว่า "ในการบริหารงานศาลยุติธรรม ขอให้ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน เนื่องจากตนเพียงคนเดียวไม่สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้" ซึ่งได้มอบนโยบายไปแล้ว 4 ประการ คือ 1.ดำเนินการให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง

2.พัฒนาศักยภาพข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม โดยส่งเสริมให้มีการศึกษาการฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศและให้ยึดมั่นประมวลจริยธรรมในการดำรงตน เนื่องจากตนเห็นว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญจึงควรสนับสนุนให้บุคลาการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

3.เพิ่มการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี และเพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมรวดเร็วยิ่งขึ้น ง่ายขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งปัจจุบันเห็นได้ว่ามีเทคโนโลยี และนวัฒกรรมสมัยใหม่มากมาย จึงขอให้คนรุ่นใหม่เช่นเลขานุการของศาลต่าง ๆ นำเสนอเทคโนโลยี และนวัฒกรรมใหม่ๆ มาเสนอต่อผู้บังคับบัญชา

4.ดำเนินการส่งเสริมเพื่อให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงตนตามสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นปัจจุบัน โดยได้เตรียมความพร้อมเพื่อเสนอฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม

"ผู้พิพากษาเป็นอาชีพเดียวที่มีความชัดเจนในอำนาจหน้าที่เพราะมีการระบุไว้ในกฎหมาย ผู้พิพากษาทุกคนจึงทราบอยู่แล้วว่าตนเองมีหน้าที่อย่างไร ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมประสบกับปัญหาคดีค้างนานเช่นเดียวกับศาลอื่นๆทั่วโลก แต่จะนำมาเป็นข้ออ้างในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้" นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา กล่าวและว่า ปัญหาที่หนักที่สุดคือคดีค้างพิจารณา แม้ว่าอดีตประธานศาลฎีกาทุกท่านได้พยายามแก้ไข ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม จึงได้ตั้งเป้าหมายว่าสำหรับศาลฎีกา คดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และให้นำเอาคดีเก่าที่ค้างพิจารณามาดำเนินการก่อนไม่ว่าคดีจะยากหรือเป็นคดีซับซ้อนก็ตาม และจะต้องตรวจสอบข้อมูลว่าระยะเวลาการพิจารณาสำนวนของผู้พิพากษา ใช้เวลามากน้อยเพียงใดภายหลังจากได้รับการจ่ายสำนวนไปแล้ว เนื่องจากศาลฎีกาต้องทำงานเป็นตัวอย่างแก่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นต่อไป

นายชีพ กล่าวอีกว่า สำหรับศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่ได้รับความพึงพอใจจากผู้มาผู้ติดต่อราชการศาลไม่ว่าเป็นทนายความหรือประชาชนต่างให้การชื่นชมว่าการพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วไม่มีคดีค้างพิจารณาจึงขอให้รักษามาตรฐานดังกล่าวไว้ คือคดีที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนโดยจะต้องมีความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสำนวนคดีควบคู่ไปกับความรวดเร็วในการอำนวยความยุติธรรมด้วย

"จะต้องมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเพราะขณะนี้หลายคดีถึงที่สุดแค่ศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงควรเป็นแบบอย่างเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกา และขอให้ช่วยกันคิดว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ถึงที่สุด จะเผยแพร่ในลักษณะของคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างไร"

ส่วนศาลชั้นต้นบางศาลคดีค้างนานเกิน 5 ปีจึงขอให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค ไปติดตามเร่งรัดและขอให้ตั้งเป้าหมายหรืออาจมอบหมายให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาคช่วยติดตามเร่งรัดเพื่อช่วยกันลดคดีค้างนาน ขณะที่ตนก็จะให้ฝ่ายเลขาธิการประธานศาลฎีกา ติดตามและรายงานผลทุก 3 เดือนหากศาลใดปริมาณคดีไม่ลดลงก็จะเดินทางไปช่วยแก้ไขซึ่งไม่ขอระบุกำหนดเวลาการพิจารณาว่า เมื่อคดีเข้าสู่ศาลแล้วควรพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด เนื่องจากอาจมีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้
โดย"นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา"ได้กล่าวย้ำช่วงท้ายของการประชุมด้วยว่า ตนจะประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารศาลและสำนักงานศาลยุติธรรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง

logoline